Q: ดูละคร "แรงเงา" แล้วรู้สึกสะท้อนใจอย่างบอกไม่ถูก...ชีวิตจริงของคนใกล้ตัวดิฉันแทบจะไม่ต่างจากละครเลย ฝ่ายชายเป็นเจ้านายดิฉันเองส่วนฝ่ายหญิงเป็นน้องใหม่เข้ามายังไม่ครบปี ตัวดิฉันเองทั้งรู้สึกหมดศรัทธากับเจ้านายและสงสารน้องใหม่ที่ถูกหลอกเหมือนกัน สงสัยจังว่าเรื่องแบบนี้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมขององค์กรแต่ทำไมไม่เห็นมีใครทำอะไร เราเองก็แค่พนักงานตัวเล็กๆ คนหนึ่งคงทำอะไรไม่ได้ กรณีอย่างนี้ใครควรทำอะไรคะ
A: ปัญหาเรื่องชู้สาวภายในองค์กรมีให้เห็นอยู่ทั่วไป จะคิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัวก็คงไม่ถูกเสียทีเดียวเพราะหากปล่อยไว้นาน อาจเกิดผลเสียทั้งต่อชื่อเสียงขององค์กรและขวัญกำลังใจของพนักงาน ซึ่งผู้บริหารระดับสูงควรมีมาตรการที่จะจัดการให้เด็ดขาด หน่วยงาน HR เองก็ควรมีบทบาทในเรื่องนี้ให้มากขึ้น
ส่วนตัวเราเอง...ไม่ควรคิดว่า "คงทำอะไรไม่ได้" อย่างน้อยที่สุดก็เอามาเป็นอุทาหรณ์สอนใจ ทำให้ระมัดระวังตัวมากขึ้น เตือนเพื่อนร่วมงานหากสามารถทำได้ นอกจากนั้นอาจหาทางคุยกับน้องคนนั้นให้รู้ความจริงที่อาจยังไม่เคยรู้มาก่อน เผื่อจะตาสว่างมากขึ้น อย่าคิดว่าเรื่องของเขาเราไม่เกี่ยว บางทีปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพราะเราเองเพิกเฉยมากเกินไป ตามภาษาคนไทยที่ชอบคิดว่า "พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง"
กรณีอย่างนี้ ผมคิดว่าการร้องเรียน หรือ การเขียนบัตรสนเท่ห์ อาจจะมีผลบ้าง อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการแหวกหญ้าให้งูกลัว การรวมหัวกันไม่ทำสังฆกรรมหรือยุ่งเกี่ยวด้วย ก็อาจเป็นมาตรการทางสังคมอีกอย่างหนึ่งที่พอจะทำได้หากเราช่วยกัน และถ้าองค์กรมีการสืบสวนหรือตั้งกรรมการสอบแล้วขอให้เราช่วยเป็นพยายานหรือให้ข้อมูล ก็ควรทำโดยไม่รีรอ ไม่ใช่คิดว่า "อย่าไปยุ่งเลย เดี๋ยวเดือดร้อน" เพราะหากทุกๆ คนช่วยกันคนละไม้คนละมือ ก็คงจะช่วยให้สังคมกลับมาสงบสุขและน่าอยู่ขึ้นอีกครั้ง
สุดท้ายหากเลวร้ายจริงๆ และไม่เห็นมีใครทำอะไร ทั้งๆ ที่เราได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว ผมคิดว่าองค์กรนี้คงไม่น่าอยู่แล้วหละครับ .... ไปหาที่ใหม่ที่ดีกว่านี้เถอะ ดีกว่าทนทู่ซี้อยู่ไปวันๆ เพราะนอกจากจะไม่จรรโลงจิตใจแล้ว ยังอาจเป็นการช่วยส่งเสิรมคนเลวให้ยังคงทำความไม่ดีอยู่ต่อไป เพียงเพราะเราตัดสินใจ "เอาหูไปนา เอาตาไปไร่" เสีย
คงแนะนำได้แค่นี้ บางทีเรื่องแบบนี้ ปรบมือข้างเดียวก็อาจไม่ดัง !
อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
apiwut@riverorchid.com