xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านบางปะกง ยังไม่พอใจการแก้ไขปัญหาสร้างทาง ฉช 2004 สูงกว่าบ้านประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ฉะเชิงเทรา -
ชาวบ้านบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ยังไม่พอใจการแก้ไขปัญหาสร้างทาง ฉช 2004 ช่วงตอนเกาะไร่-ตลาดพิมพา สูงกว่าหน้าบ้านนกว่า 2 เมตร ล่าสุดเสียงสะท้อนความเดือดร้อนเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ชี้ออกแบบไม่ต้องตามแจ้งที่ระบุชัดความสูงถนนจะต้องไม่เกินของเดิม 75 ซม.ขณะชาวบ้านบางรายยันไม่เคยได้เข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็น 

วันนี้ ( 21 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวยังคงได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่ ม.4 ต.พิมพา อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ที่ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการก่อสร้างขยายเส้นทางหลวงชนบท ฉช.2004 เชื่อม ทล.34 (บางนา-ตราด) – ทล.314 (ฉะเชิงเทรา-บางปะกง) (ตอนที่ 1) ช่วงตอนเกาะไร่-ตลาดพิมพา ที่พบว่าระดับความสูงของถนนไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่ได้มีการประชุมรับฟังความเห็นไว้อย่างต่อเนื่อง

โดย น.ส.วรดาลักษณ์ ธัญจริยะรัตน์ อายุ 48 ปี บอกว่าเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ผู้อำนวยการโครงการฯ ได้เชิญตนเองไปพูดคุยทำความเข้าใจภายในสำนักงานชั่วคราว ใกล้กับไซด์งานก่อสร้าง โดยรับปากว่าจะนำปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการสร้างแนวกำแพงขอบถนนใกล้คอสะพานข้ามคลองขวางล่าง ที่มีระดับความสูงผิดไปจากให้ข้อมูลแก่ชาวบ้านในการประชุมรับฟังความคิดเห็นถึง 2 ครั้งที่ระบุว่าระดับความสูงของถนนจะสูงจากเดิมไม่เกิน 75 เซนติเมตร

แต่เมื่อมีการก่อสร้างจริงกลับมีระดับความสูงที่บริเวณหน้าบ้านของตนมากกว่า 2 เมตร ซ้ำยังปิดขวางทางเข้าออกรวมถึงกิจการร้านค้าที่อยู่ใกล้แนวถนนทั้งหมด


ทั้งนี้ตนเองได้เรียกร้องว่า เจ้าของโครงการจะต้องหารือกับกรมชลประทาน เพื่อที่จะขอลดระดับแนวสะพานให้ต่ำลงมาจากเดิม ว่าจะทำได้หรือไม่ หรืออาจต้องทำการขุดที่ดินใต้ท้องสะพานให้มีระดับความลึกลงไปแทนการยกระดับพื้นถนนให้สูงขึ้นมา เพื่อลดปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น

ส่วนแนวทางที่ 2 จะต้องทำการลดระดับขอบถนนลงมาจากแนวเดิมประมาณ 40 เซนติเมตรและปรับความลาดเอียงของขอบถนนบริเวณหน้าร้านค้าและทางเข้าออกบ้านให้มีระดับต่ำลงมาให้มากเท่าที่จะสามารถทำได้ แต่ตัวสะพาน จะยังคงอยู่ในแนวระดับเดิมตามแบบในแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้อำนวยการโครงการ ได้รับปากว่าจะนำกลับไปหารือเพื่อหาแนวทางดำเนินงานต่อไป


เช่นเดียวกับ นายอนันต์ มีสง่า อายุ 60 ปี ที่บอกว่าตนเองได้รับผลกระทบจากแนวกำแพงสูงที่กำลังมีการก่อสร้างขยายถนนจาก 2 เลนเป็น 4 เลน และการยกระดับคอสะพานให้สูงมากขึ้นถึงกว่า 2 เมตรทำให้การเดินทางเข้าออกจากบ้านยากลำบากมากขึ้น
อีกทั้งตนเองยังเป็นคนพิการจากโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนแรงไปแต่ยังสามารถใช้รถซาเล้ง เดินทางเข้าออกจากบ้านได้ แต่หากมีการก่อสร้างขยายถนนเพิ่มความสูงชันขึ้นไปถึง 2 เมตร ก็จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่การใช้ชีวิตประจำวันอย่างแน่นอน


“ ที่ผ่านมาไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่าจะมีโครงการก่อสร้างขยายถนนที่ปากทางเข้าบ้าน เพราะไม่เคยมีใครเข้ามาแจ้งให้ทราบ กระทั่งเมื่อเริ่มทำการก่อสร้างและทำกำแพงสูง จึงรู้สึกตกใจเพราะไม่มีใครมาบอกว่าจะสร้างขยายถนนสูงขึ้นหรือจะทำอะไร”

นายอนันต์ ยังบอกอีกว่าจากการสอบถามเพื่อนบ้านก็ทราบเพียงว่ามีชาวบ้านบางรายเท่านั้นที่ได้ไปร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็น ส่วนตนเองไม่เคยมีใครเข้ามาแจ้งให้ทราบ


ด้าน นายรักชาติ ปลื้มจิตร อายุ 71 ปี อดีตครูผู้ฝึกสอนงานก่อสร้างในหน่วยงานด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน ยืนยันว่าผลกระทบที่ชาวบ้านกำลังได้รับในขณะนี้ คือการสร้างถนนสูงกว่าพื้นที่ของชาวบ้าน โดยระดับถนนใหม่ที่กำลังมีการก่อสร้างมีระดับพื้นสูงเท่ากับขอบสะพานด้านบนของแนวราวสะพานข้ามคลองเดิม

ดังนั้นสิ่งที่ชาวบ้านต้องการและอยากได้คือ ระดับถนนที่ใกล้เคียงหรือเท่ากับพื้นที่ของชาวบ้าน หรือหากสูงกว่าก็ไม่ควรเกิน 50 เซ็นติเมตร



“ การทำงานช่างนั้นไม่ว่าจะก่อสร้างหรือทำอะไรก็ตาม ต้องมีความอะลุ่มอล่วยและตามใจเจ้าของบ้านเป็นหลัก ไม่ใช่ตามใจแต่แบบหรือเจ้าของบริษัทผู้รับเหมาเป็นหลัก และระหว่างที่มีการออกมารับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านในพื้นที่นั้น ไม่ได้เขียนแบบมาให้ชาวบ้านดูว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง สุดท้ายก็กลายเป็นปัญหา”

พร้อมขอเรียกร้องให้การแก้ไขปัญหาต้องใช้ดุลยพินิจของความเป็นช่าง และดุลยพินิจของคนทำงานก่อสร้างที่ต้องดูทั้งพื้นที่ ภูมิประเทศ ดู และสอบถามความต้องการของเจ้าของพื้นที่เป็นหลักด้วยเช่นกัน






กำลังโหลดความคิดเห็น