xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.พร้อมคณะลงพื้นที่ตรวจสอบ “สะพานม่วง” เมืองศรีราชา หลังมีการร้องเรียนความโปร่งใสของโครงการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวศรีราชา - ป.ป.ช.พร้อมคณะลงพื้นที่ตรวจสอบ “สะพานม่วง” เมิองศรีราชา หลังมีการร้องเรียนความโปร่งใสของโครงการ เน้นตรวจสอบราคาค่าก่อสร้างและประโยชน์ที่ได้รับ คาดจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี สามารถชี้ชัดผิดถูก

วันนี้ (19 มี.ค.) นายพิเศษ นาคะพันธุ์ ผู้ตรวจราชการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พร้อมคณะประกอบด้วย นายวัฒนชัย ส้มสี ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 2 นายกิจติพงค์ ขลิบแย้ม ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประจำจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วยนายประพนธ์ ประชาสัมพันธ์ ประธานชมรม (STRONG) จิตพอเพียง ต้านทุจริต จังหวัดชลบุรี เพื่อมาสังเกตการณ์โครงการสะพานลอยน้ำ (สะพานม่วง) เกาะลอย ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ในหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการป้องกันการทุจริต เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของ ป.ป.ช. โดยมีนายฉัตรชัย ทิมกระจ่าง นายกเทศมนตรีเมืองศรีราชา และคณะให้การต้อนรับและชี้แจงรายละเอียดให้ ป.ป.ช. ได้รับทราบ ณ สะพานลอยน้ำ (สะพานม่วง) เกาะลอย อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

โดยการลงพื้นที่ตรวจสอบในครั้งนี้ เนื่องจาก ทาง ป.ป.ช. จังหวัดชลบุรี และ ป.ป.ช.ภาค 2 ได้รับข้อมูลการร้องเรียนมาระยะหนึ่งแล้ว ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2565 โดยโครงการแบ่งการก่อสร้างเป็น 3 เฟส 1-2-3 ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างที่ใช้วัสดุอุปกรณ์ชนิดพิเศษ เพื่อให้เกิดสวยงามคงทน และเป็นที่สนใจของประชาชนด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นสะพานที่มีความยาวกว่า 400 เมตร จากฝั่งบนมาถึงเกาะลอย โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 3 เฟส รวมทั้งสิ้นกว่า 240 ล้านบาท

นายพิเศษ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่คณะ ป.ป.ช. จะต้องตรวจสอบต่อไป คือ 1.ความคุ้มค่าของโครงการมีราคาสูงไปหรือไม่ 2.เกิดประโยชน์ต่อประชาชนหรือประเทศชาติจริงไหม นอกจากนั้นยังมีรายละเอียดต่างๆ ที่ต้องตรวจสอบอีก เช่น การทำประชาพิจารณ์ จะชัดเจนถูกต้อง ซึ่งจะต้องไปตรวจสอบอีกโดยไม่ใช่มาดูพื้นที่เท่านั้น ต้องไปดูเอกสาร การจัดซื้อจัดจ้าง ราคากลาง วัสดุอุปกรณ์ และการออกแบบ โดยจะต้องไปดูรายละเอียดเหล่านี้ด้วย

“การตรวจสอบจะไม่ใช้เวลานาน เมื่อได้รับการร้องเรียนจะต้องรีบกลั่นกรอง และส่งเจ้าหน้าที่มาสืบค้นข้อมูลต่างๆ ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลมาในระดับหนึ่งแล้ว เช่น บริษัทที่มายื่นประมูลมีใครบ้าง จากบริษัทไหน มีบริษัทยกเลิกการประมูลบ้างไหม โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลไม่เกิน 1 ปี เพื่อพิจารณาว่าโครงการดังกล่าวมีปัญหาหรือไม่มีปัญหา หากการตรวจสอบและมีพยานหลักฐานจะเก็บข้อมูลไปวิเคราะห์ใน ป.ป.ช จังหวัด และ ป.ป.ช.ภาค 2 ถ้ามีข้อมูลจะดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยอาจจะให้ ป.ป.ช.จากส่วนกลางเป็นผู้ดำเนินการต่อไป” นายพิเศษ กล่าว

นายพิเศษ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ ป.ป.ช. มีโครงการป้องกันปราบปราม ให้กิจกรรมโครงการงานทุจริต เพื่อให้ลดการทุจริต ลดปัญหาการร้องเรียนในแต่ละพื้นที่ คาดว่าภายใน 1-3 ปีข้างหน้า จังหวัดชลบุรีต้องไม่ใช่พื้นที่สีแดง ให้เหลือเพียงสีเหลือง หรือส้ม เท่านั้นในทั้ง 11 อำเภอ ซึ่งโครงการป้องกันปราบปราม จะสำฤทธิผลโดยจะต้องมีเครือข่ายต่างๆ เป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังหรือสังเกตการณ์ แจ้ง ป.ป.ช. จังหวัดชลบุรี เพื่อเข้าไปตรวจสอบโดยไม่ได้มุ่งไปจับผิดหรือบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว








กำลังโหลดความคิดเห็น