xs
xsm
sm
md
lg

แก้ปัญหาปลาหมอคางดำ คืบหน้ากว่าที่คิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เผยการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำคืบหน้ากว่าที่คิด ประมงจังหวัดหลายแห่งบอกตรงกันว่าปริมาณปลาหายไปจากแหล่งน้ำจำนวนมากแล้ว

ปัจจุบันนี้ปริมาณปลาหมอคางดำลดลงแล้วหรือยังเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย เพราะข่าวสารเกี่ยวกับปลาชนิดนี้เริ่มเบาบางและหายไป ในที่นี้หมายถึงความเคลื่อนไหวเพื่อการแก้ปัญหาที่หลายฝ่ายร่วมแรงร่วมใจลงมือช่วยกันแก้ไขมาตลอดหลายเดือน (หาใช่เรื่องเกี่ยวกับการฟ้องร้องใดๆ ที่ไม่ได้ช่วยให้จำนวนปลาลดลงแม้แต่ตัวเดียว) ซึ่งผลที่ได้รับพบว่าการแก้ปัญหาเป็นไปอย่างถูกทางมีผลลัพธ์และแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างมาก

ข้อมูลของเอกชนรายหนึ่งพบว่าการรับซื้อปลาหมอคางดำเพื่อผลิตปลาป่นนับเป็นโครงการที่สามารถสร้างแรงจูงใจให้เกิดการจับปลาออกจากแหล่งน้ำได้มากที่สุดถึง 1,845,000 กก. (ณ 5-10-67) นอกจากนี้ กิจกรรมจับปลา หรือลงแขกลงคลองที่องค์กรดังกล่าวร่วมสนับสนุนนั้นก็ดำเนินการแล้วใน 18 จังหวัด รวมจัดกิจกรรมถึง 52 ครั้ง สามารถจับปลาออกจากแหล่งน้ำได้อีกกว่า 29,000 กก.และเมื่อจับปลาขนาดใหญ่ออกได้เป็นจำนวนที่มากพอ สำรวจแล้วเหลือแต่ปลาหมอคางดำขนาดเล็กก็เข้าสู่ขั้นตอนของการปล่อยปลาผู้ล่าไปกินลูกปลาหมอคางดำ ซึ่งมีการปล่อยปลาผู้ล่าไปแล้ว 90,000 ตัวใน 9 จังหวัด


ปลาที่จับได้ทั้งหมด นอกจากที่นำไปผลิตเป็นปลาป่น ยังมีการต่อยอดนำปลาไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆ อีก เช่น ทำปุ๋ยหมัก หรือแปรรูปเป็นอาหาร ล่าสุด มีการขยายผลร่วมกับกรมราชทัณฑ์ นำปลาหมอคางดำไปผลิตเป็น "น้ำปลา" ซึ่งจะสามารถยกระดับสู่การเป็นสินค้า OTOP ได้ในอนาคต และยังถือเป็นการเพิ่มทักษะอาชีพให้ผู้ต้องขังได้อีกทางหนึ่ง

ยังไม่รวมความคิดสร้างสรรค์ที่อีกหลายหน่วยงานช่วยกันคิดค้นเป็นนวัตกรรมต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย เช่น ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีที่สามารถนำก้างปลาหมอคางดำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภท“แคลเซียม” ช่วยบำรุงกระดูกและฟันในเด็กและผู้สูงอายุ หรือ ม.เกษตรศาสตร์ ที่มีนวัตกรรมหมักปลาหมอคางดำให้เป็นปลาร้าได้ในเวลาที่สั้นลงจาก 12 เดือนเหลือเพียง 3-4 เดือน หรือการที่นักศึกษาโครงงานกลุ่มเชิงปฏิบัติการของหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน (ปรม.) รุ่นที่ 23 สถาบันพระปกเกล้า พ.ศ.2567 ร่วมพลิกวิกฤตปลาหมอคางดำโดยคิดค้นการแปรรูปสู่ข้าวเกรียบใจบุญ ต่อยอดธุรกิจร่วมกับวิสาหกิจชุมชนเกษตรสวนนอก จ.สมุทรสงคราม

ผลงานความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ อาจทำให้มีความต้องการใช้วัตถุดิบอย่าง “ปลาหมอคางดำ” มากขึ้น สวนทางปริมาณปลาที่น้อยลง อย่างไรก็ตาม ต้องย้ำเตือนทุกภาคส่วนห้ามมีความคิดที่จะเลี้ยงปลาหมอคางดำอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเพื่อการพาณิชย์หรือเพื่อไว้ดูเล่นก็ตาม เพราะเป็นเรื่องผิดกฎหมายและผิดวัตถุประสงค์ที่จะต้องกำจัดปลาให้หมดไป หรือเหลืออยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ


ยืนยันปลาหมอคางดำลดลงจริง

ประมงจังหวัดหลายแห่งพูดตรงกันว่าปริมาณปลาหายไปจากแหล่งน้ำจำนวนมากแล้ว เช่น ประมงจังหวัดสมุทรสาครที่ระบุว่า เรืออวนรุนที่เคยจับปลาหมอคางดำได้เที่ยวละ 1-2 ตัน ปัจจุบันจับได้เพียงเที่ยวละ 100-300 กิโลกรัม ประเมินได้ว่าในจังหวัดสมุทรสาคร กำจัดปลาหมอคางดำได้แล้ว 70-80% ของปลาหมอคางดำที่อยู่ในแหล่งน้ำ หรือประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช พบว่าจากเดิมพื้นที่นี้มีปริมาณปลาหมอคางดำอยู่ที่ 60 ตัว/100 ตร.ม. ปัจจุบันเหลือเพียง 25 ตัว/100 ตร.ม.

ส่วนประมงจังหวัดสมุทรสงคราม อธิบายว่าทุกวันนี้ปลาหมอคางดำที่จับได้มีจำนวนลดลง และปลาที่จับได้ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กลง แสดงให้เห็นว่าปลาที่เป็นพ่อแม่พันธุ์หายไปจากแหล่งน้ำ และประมงจังหวัดสุราษฎร์ธานียืนยันว่าสถานการณ์ปลาหมอคางดำในจังหวัดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ระบบนิเวศในสุราษฎร์ธานียังมีความสมดุลในระดับที่ดี ยังพบปลาพื้นถิ่นและปลานักล่าอยู่ในแหล่งน้ำ ซึ่งช่วยควบคุมประชากรปลาหมอคางดำได้อย่างดี

ข้อมูลจากภาครัฐที่อยู่หน้างานยืนยันหนักแน่นเช่นนี้ เชื่อได้ว่าปริมาณปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติเบาบางลงไปเยอะแล้ว แต่ยังคงต้องดำเนินการในมาตรการเหล่านี้อย่างต่อเนื่องต่อไป ขณะเดียวกัน มีประเด็นที่น่ากังวลคือ 1.) ปลาที่อยู่ในบ่อร้างของชาวบ้านซึ่งยังมีอยู่จำนวนมาก กับ 2.) การเลี้ยงสัตว์น้ำแบบดั้งเดิมในหลายบ่อที่ยังใช้วิธีเปิดน้ำเข้าออก ซึ่งจะทำให้มีปลาหมอคางดำกลับสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้เสมอ นับเป็นอุปสรรคสำคัญที่กรมประมงต้องเร่งหาแนวทางแก้ไขที่ชัดเจนโดยด่วน


ความร่วมมือร่วมใจของภาครัฐ เอกชน เกษตรกรและทุกภาคส่วน ดำเนินการต่อเนื่องมาจนเห็นผล อีกอึดใจเดียวจะถึงเป้าหมายที่เราทุกคนต้องการ ขอเพียงอย่าให้มีข้อจำกัดว่างบประมาณหมดแล้ว จำต้องหยุดล่า หยุดปราบ เพราะหากหยุดโครงการไว้เพียงเท่านี้ ปลาหมอคางดำจะกลับมาแพร่กระจายมากเช่นเดิม และนั่นหมายความว่าสิ่งที่ทำมาตลอดหลายเดือนนั้น "สูญเปล่า"
กำลังโหลดความคิดเห็น