ปราบปลาหมอคางดำ เดินหน้าถูกทางต้องทำต่อเนื่อง “จับ-กิน” คุมได้ไม่ต้องกลัว
ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา (กรกฎาคม-กันยายน 2567) เป็นช่วงที่ปลาหมอคางดำเป็นกระแส จนมีการโหนกระแสหาโอกาสสื่อสารกันแบบไม่ให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริง และมีการบิดเบือนข้อมูลและภาพกันจนมีการฟ้องร้องระหว่างบริษัทเอกชนที่นำเข้าปลาชนิดนี้กับกลุ่ม NGO จนละเลยการแก้ปัญหาที่แท้จริงของการแพร่ระบาดของปลา คือ การลดปริมาณปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุดด้วยการจับและบริโภค ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญอันดับหนึ่งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในกระทรวง มุ่งมั่นขับเคลื่อนเพื่อเดินหน้าสู่ขั้นตอนที่สอง คือ ปล่อยปลาผู้ล่า เพื่อกำจัดลูกปลาหมอคางดำตั้งแต่ต้นทาง
ในช่วงเวลาดังกล่าวการผนึกกำลังกันแบบ 3 ประสาน ระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชนและภาคเอกชน ในการลงแขกลงคลองจับปลาหมอคางดำกันแบบไม่หยุดยั้ง จับมาแล้วไม่ให้เสียเปล่า ส่งเสริมให้มีการกินและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการแปรรูปเป็นเมนูอาหารในแต่ละมื้อในแต่วัน และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อเพิ่มมูลค่าสร้างเป็นรายได้ ทำให้มีผู้สนใจนำรังสรรค์ต่อยอดเป็นปลาร้า น้ำพริกปลาฟู น้ำปลา ปลาแดดเดียว เป็นต้น ตลอดจนนำไปเป็นวัตถุดิบในการทำปลาป่นและน้ำหมักชีวภาพ เพื่อใช้ประโยชน์ที่แตกต่างออกไป
ผลของการลงแขกจับปลาหมอคางดำอย่างจริงจังและจับไม่หยุดในหลายจังหวัด เช่น สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ทำให้มีการประเมินเบื้องต้นของประมงจังหวัดดังกล่าว ว่า ปริมาณปลาในแหล่งน้ำลดลง จากการจับแต่ละครั้งได้ปลาน้อยลงไปเรื่อยๆ จนบางจังหวัดเริ่มดำเนินการขั้นที่สอง คือ ปล่อยปลาผู้ล่าลงไปจัดการกับปลาหมอคางดำที่ยังตกค้าง โดยปลาที่ปล่อยเกือบ 100% เป็นปลากะพงขาว ขนาด 4-5 นิ้ว ซึ่งเป็นขนาดใหญ่พอที่จะกินลูกปลาหมอคางดำได้
สำหรับจังหวัดที่ปลาหมอคางดำแพร่ระบาดไม่มากและยังอยู่ในวงจำกัด เช่น นนทบุรี เพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม กรมประมงและภาคเอกชนสนับสนุนให้คนในชุมชนร่วมแรงร่วมใจกันจับปลาอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปปรุงเป็นอาหารและนำไปแปรรูปเพิ่มมูลค่า ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการควบคุมปลาให้อยู่ในวงจำกัดได้ ที่สำคัญแม้กระทรวงเกษตรฯ จะประกาศพื้นที่ระบาดของปลาหมอคางดำ 19 จังหวัด แต่ต้องพิจารณาด้วยว่าแต่ละจังหวัดมีการแพร่ระบาดไม่เท่ากัน มากบ้างน้อยบ้างขึ้นกับสภาพสิ่งแวดล้อม
ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมและสัตวแพทย์ด้านสัตว์น้ำ ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ว่า การเดินหน้าจับปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างต่อเนื่องและการปล่อยปลาผู้ล่า เป็นวิธีที่ถูกต้องตามหลักการและเห็นผลในการลดปริมาณการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญการนำไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดจะเป็นการกระตุ้นให้คนในชุมชนมีการจับมากขึ้น
ในส่วนของภาครัฐจำเป็นต้องเดินหน้ากำหนดแผนระยะกลางในการควบคุมปลาให้อยู่ในวงจำกัด ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยี E-DNA (Environmental DNA) ในการตรวจสอบความหนาแน่นของปลาและแหล่งที่อยู่ของปลา เพื่อกำจัดปลาก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดไปยังแหล่งน้ำอื่น ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาชั้นนำที่พัฒนาเครื่องมือที่ใช้สำหรับการตรวจสอบ DNA ดังกล่าว เช่น สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ต้องเร่งนำไปลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบและสร้างแนวป้องกันในแหล่งน้ำ
การแก้ปัญหาในระยะกลางยังจำเป็นต้องตรวจสอบบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรว่ามีการเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำไว้หรือไม่ เพราะเกษตรกรรายเล็กยังใช้วิธีการเลี้ยงแบบดั้งเดิมอาศัยการสูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเข้าบ่อ โอกาสเสี่ยงที่จะมีปลาหมอคางดำจะเข้าไปในบ่อเลี้ยงได้สูง จึงจำเป็นต้องกำจัดให้หมดด้วยการเพิ่มระบบกรองน้ำเข้าฟาร์ม เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำไม่ให้เข้าไปกินสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยง และหลีกเลี่ยงการเลี้ยงปลาหมอคางดำทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ
ทั้งนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ หรือแม้แต่กรมประมงต่างทราบดีว่า การแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำต้องทำอย่างเป็นระบบและทำต่อเนื่อง ที่สำคัญต้องเข้าใจลักษณะทางการกายภาพของปลา เช่น ช่วงอายุของวัยอ่อน วัยเจริญพันธุ์ ระยะเวลาในการฟักไข่ เป็นต้น จะช่วยสนับสนุนการจับปลาและการกำจัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับพื้นที่ เห็นได้ว่าแผนปฏิบัติงานระยะสั้นกำลังเดินหน้าไปอย่างมีประสิทธิภาพและยังคงมีกิจกรรมจับปลา ควบคู่กับการสร้างความเข้าใจกับคนในชุมชนอย่างต่อเนื่องให้อยู่ร่วมกับปลาและเป็นกำลังสำคัญในการกำจัดปลาออกจากแหล่งน้ำในชุมชน จึงไม่ควรหยุดจับจนกว่าจะมีการตรวจประเมินผลจนมั่นใจว่าปลาลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อเริ่มการแก้ปัญหาในระยะกลางให้เกิดผลต่อไป เห็นได้ว่าปัญหาการแพร่ระบาดจะสามารถควบคุมได้ เพียงแต่ต้องมีการวางแผนอย่างดี และทำอย่างเป็นระบบ