xs
xsm
sm
md
lg

อดีตผู้ว่าฯ สตง.ลุยสางปัญหาก่อสร้าง "7 ชั่วโคตร" ผลาญงบแผ่นดิน 545 ล้าน เล็งฟันทุจริตกราวรูด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาฬสินธุ์ - กมธ.ปปช.สภาผู้แทนฯ ชี้เงินแอดวานซ์ 15% และการปล่อยปละละเลยของกรมโยธาฯ คือสาเหตุของปัญหาก่อสร้าง 7 ชั่วโคตร ทำให้รัฐเสียหาย ย้ำงบแผ่นดินตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ ชงเข้า กมธ.ปปช.ใหญ่
ตรวจสอบเอกสารฟันทุจริตกราวรูด ขณะที่จุดก่อสร้างเริ่มทรุดเป็นโพรงเรียกร้องกรมโยธาธิการและผังเมือง
ส่งเครื่องจักเข้ามาแก้ไขปัญหาด่วน



กรณีผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเพื่อป้องกันน้ำท่วมที่จังหวัดกาฬสินธุ์ งบประมาณ 545 ล้านบาท 8 โครงการใหญ่ ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย “ปัญหา 7 ชั่วโคตร” ที่เกิดปัญหาผลกระทบกับประชาชนโดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เนื่องจาก ก่อสร้างไม่เสร็จแม้แต่โครงการเดียว ตั้งแต่ปี 2562ถึงปัจจุบัน การตรวจสอบพบว่าระหว่างจะมีการทิ้งงาน กรมโยธาธิการและผังเมือง-กรมบัญชีกลางยังได้จ่ายเงินไปแล้วกว่า 250 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินแอดวานซ์ 15% และเงินค่างวดงาน ที่ชาวบ้านสงสัยว่าเป็นการเบิกจ่ายที่เกินจริงเนื่องจากบางโครงการมีเพียงการนำวัสดุอุปกรณ์ ก้อนหินมาเตรียมกองไว้

โดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์มีการเบิกจ่ายไปกว่า 80 ล้านบาทจากงบประมาณ 148 ล้านบาท พบเพียงการขุดท่อ ไม่มีการวางเชื่อมท่อหรือแม้แต่จะต้องมีอาคารชลศาสตร์ก็ไม่ปรากฏว่ามีการก่อสร้างทำให้ชาวบ้านยังสงสัยว่าการอนุมัติเงินนั้นคุ้มค่ากับการที่ได้ทำงานจริงหรือไม่ แม้กรมโยธาฯ ยกเลิกสัญญาและกรมสอบสวนคดีพิเศษ รับพิจารณาเป็นคดีพิเศษตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุดวันนี้ (29 ก.ย.) เวลา 13.30 น. ดร.ฉลาด ขามช่วง ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร (ป.กมธ.ปปช.) ได้มอบหมายให้ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะที่ปรึกษาประธานอนุกรรมาธิการติดตามปัญหาการร้องเรียน ป.ป.ช.สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะ กมธ.ปปช.-ที่ปรึกษาฯ เลขานุการฯ เจ้าหน้าที่ประจำ กมธ.ปปช.สภาฯ เข้าเก็บข้อมูลปัญหาการก่อสร้างของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย งบประมาณ 545 ล้านบาท จำนวน 8 โครงการ สัญญาก่อสร้างตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน 5 ปี ก่อสร้างไม่เสร็จแม้แต่โครงการเดียว ตามที่เครือข่ายภาคประชาสังคม ธรรมาภิบาลจังหวัดกาฬสินธุ์ เครือข่าย ป.ป.ท.ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ และประชาชนผู้ได้รับผลกระทบยื่นหนังสือต่อ กมธ.ปปช.เรียกร้องให้ตรวจสอบ

โดยคณะของ กมธ.ปปช.-จนท.กมธ.ปปช. ไปดูสภาพการก่อสร้างจุดก่อสร้าง โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี วัดใหม่สามัคคี ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย ความยาว 423 เมตร งบประมาณ 59,306,000 บาท ในสภาพหน้างานก่อสร้างถูกแม่น้ำชีกลืนกินไปจนหมดเนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำชีหนุนสูง ไม่เหลือสภาพงานก่อสร้าง ชาวบ้านระบุว่าบริเวณนี้ถือเป็นจุดเสี่ยง เพราะในอดีตเคยมีปัญหาการรั่วซึมของพนังกันน้ำ เป็นจุดปะทะรับมวลน้ำในแม่น้ำชี พร้อมนำภาพเก่าบริเวณก่อสร้างในอดีตที่รับเหมาทิ้งงาน จะพบเสาเข็ม ก้อนหิน วางระเกะระกะ

ต่อมาปี 2567 ประมาณเดือนสิงหาคม กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ประกาศยกเลิกสัญญา ยังพบว่ามีการขนย้ายวัสดุออกจากหน้างานไปจนหมด จะเหลือเพียงบางส่วนที่เป็นเสาเข็ม จนมาถูกแม่น้ำชีท่วมในขณะนี้


นายธนกฤต ระวาดชัย นายก อบต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย จ.กฬสินธุ์ กล่าวว่า จุดก่อสร้างบริเวณนี้ก่อนที่จะถูกยกเลิกสัญญาสภาพก็คือการทิ้งงานไม่มีช่างควบคุมงานหรือผู้รับจ้างเข้ามาทำงาน ก่อนหน้าจะมีเพียงการนำวัสดุเตรียมที่จะทำการก่อสร้างเท่านั้น อีกทั้งวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นเสาเข็ม พื้นแผ่นปูพื้น หินก็ถูกน้ำท่วมไปหมดแล้ว บริเวณนี้เป็นความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาพนังรั่วซึมหรือหากมีมวลน้ำไหลเข้ามาจะทำให้แตกเนื่องจากบริเวณวัดใหม่สามัคคีมวลน้ำชีได้เริ่มกัดเซาะเจาะเป็นโพรงอยู่ใต้พื้นดินทำให้พระที่จำพรรษาภายในวัดอพยพขึ้นจำวัดอยู่ในจุดที่ปลอดภัย

ดังนั้น ก่อนที่จะทำการก่อสร้างกรมโยธาธิการและผังเมืองควรที่จะเข้ามาตรวจสอบช่วยสร้างความมั่นใจให้พี่น้องประชาชน อย่าปล่อยพวกเราทิ้ง งบที่ก่อสร้างเป็นเงินภาษีประชาชน แต่ทำไมไม่เลือกเอา หจก.ที่มีศักยภาพเข้ามาทำงาน

“ปัญหานี้คงจะให้จบแบบไม่มีใครรับผิดชอบไม่ได้ เนื่องจากการติดตามข่าวเหมือนกับว่าหน่วยงานตรวจสอบจะทำอะไรก็ทำไป เพราะเหมือนกับว่าอีกไม่นานข่าวก็เงียบ แต่งบ 545 ล้านบาทของกรมโยธาฯ นี่คือโอกาสของพี่น้องประชาชนจะได้รับการบรรเทาภัยจากน้ำท่วม แต่เมื่อได้รับเงินแอดวานซ์ 15% และมีการเบิกเงินไปแล้วรวมๆ 250 ล้านบาท แต่ไม่ก่อสร้างให้แล้วเสร็จ ต่อไปจะให้ทำอย่างกับการที่ไม่รับผิดชอบ ผู้ว่าจ้างที่เป็นหน่วยงานภาครัฐก็จะปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านโดยไม่ต้องจ่ายเงินคืนหรืออย่างไร” นายธนกฤตกล่าว และว่า

กรณีนี้เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมงานและผู้เบิกเงินต้องมีส่วนรู้เห็น เพราะในเมื่อมีพฤติกรรมทิ้งงาน หรือรู้ทั้งรู้ว่าไม่มีความพร้อมแล้วให้มารับจ้างงานได้อย่างไร ปัญหานี้ได้ทำลายความหวังของประชาชนในพื้นที่ไปแล้ว”


ด้าน นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะที่ปรึกษาประธานอนุกรรมาธิการติดตามปัญหาการร้องเรียน ป.ป.ช.สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การที่โครงการนี้มีการจ่ายเงินล่วงหน้าเป็นส่วนหนึ่งของที่มาของความเสียหาย การบอกเลิกสัญญานั้นมีข้อน่าสังเกตที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก โดยหลักการแล้วเจ้าของโครงการ ถ้าเห็นว่าแนวโน้มของผู้รับจ้างในการทำงาน ถ้าเห็นว่าไม่ว่าไม่สามารถจะดำเนินการได้ตามสัญญา ก็ควรต้องตรวจสอบและใช้สิทธิ์ยกเลิกสัญญาแต่เนิ่นๆ ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยจนเกิดผลเสีย

นอกจากการที่ไม่ดำเนินการแล้วยังปล่อยให้น้ำท่วมมีการกัดเซาะน้ำบริเวณตลิ่ง ซึ่งเจตนาที่รัฐได้จ่ายเงินงบประมาณไปก็เพื่อให้ป้องกันตลิ่งไม่ให้เกิดน้ำท่วม แต่พบแล้วว่าก็ยังไม่สามารถป้องกันได้เป็นปัญหาในเรื่องการบริหารจัดการโครงการบวกกับการที่ผู้มีหน้าที่ไม่กำกับดูแลอย่างเด็ดขาดในเรื่องการควบคุมให้เป็นไปตามสัญญา จึงเกิดเป็นประเด็นปัญหานี้ขึ้น ตามข้อมูลที่ปรากฏรวมถึงข้อเท็จจริงเบื้องต้นถือว่าเป็นการปล่อยปละละเลยของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ โดยเฉพาะกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้ปล่อยให้ปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

ถึงแม้จะมีข้ออ้างว่า ใช้ ว.1459 ยกเว้นระเบียบพัสดุ ให้สิทธิพิเศษกับผู้รับจ้าง ข้อเท็จจริงก็ควรที่จะมีการประเมินอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการปกป้องงบประมาณแผ่นดิน สภาพที่เห็นก็คือการทิ้งงานและการปล่อยปละละเลยของเจ้าของโครงการก็คือ กรมโยธาธิการฯ จะโยนว่าเป็นความรับผิดชอบของใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้ เจ้าของโครงการต้องรับผิดชอบทั้งหมด และควรที่จะตระหนักถึงผลเสียความเสียหายที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในจุดนี้ทราบว่าวัสดุทั้งหมดก็ถูกน้ำท่วมไปแล้ว ดังนั้นนอกจากความเสียหายที่จำเป็นไม่ว่าจะเป็นเงินแอดวานซ์ 15% และการเบิกจ่ายเงิน กรมโยธาฯ ต้องรับผิดชอบทั้งหมดและต้องมีหน้าที่ในการเรียกเงินคืนให้กับแผ่นดิน

“กรณีปัญหาเช่นนี้เอาเพียงแค่ชั่วโคตรเดียวก็หนักแล้ว แต่นี่ชาวกาฬสินธุ์ ได้ประณามทั้ง 8 โครงการเป็นโครงการ 7 ชั่วโคตรนั้น จะมีความอึดอัดใจรุนแรงขนาดไหน ประชาชนเสียประโยชน์ แทนที่จะได้ป้องกันน้ำท่วมกลับต้องมาคอยเฝ้าระวังที่วัดแห่งนี้ยังพบความเสี่ยงเนื่องจากมีรายงานว่าพื้นบริเวณนี้เป็นโพรง พระต้องอพยพไปอยู่อีกแห่ง และหากเกิดพังทลายลงมาภาครัฐก็ต้องเข้ามาเยียวยาที่ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ” นายพิศิษฐ์กล่าว

ดังนั้น การติดตามเอาผิด ทราบว่าอยู่ในมือ ป.ป.ช.-สตง.และดีเอสไอ จะมีความชัดเจน แต่ในด้านการเรียกเงินคืน กรมโยธาธิการและผังเมือง ต้องรีบดำเนินการโดยเร็วจะด้วยเหตุผลทางเทคนิคของผู้รับจ้างจะอ้างว่าขาดสภาพคล่องหรือจะใช้เหตุผลใด แต่ที่แน่ๆมันคือความผิด เพราะเรื่องนี้มันเกินคำว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไปแล้ว ที่ผู้รับจ้างถือได้ว่าเข้าข่ายสนับสนุนส่อทุจริต

“ขอเรียกร้องให้เจ้ากระทรวงมหาดไทย ไม่ว่าจะเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะต้องเข้ามาติดตามปัญหานี้ เพราะนี่คือภาษีของประชาชนตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้“ นายพิศิษฐ์กล่าว


ขณะที่ ดร.ฉลาด ขามช่วง ประธาน กมธ.ปปช.ฯ กล่าวว่า การลงพื้นที่ติดตามปัญหา 7 ชั่วโคตร เพียงจุดแรกก็พบปัญหาและความทุกข์ใจของประชาชนแล้ว การทำงานตามหน้าที่ของ กมธ.ปปช.จะได้นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม กมธ.ปปช.เพื่อกำหนดวันนัดประชุม “ปัญหา 7 ชั่วโคตร” โดยจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่ เจ้ากระทรวงมหาดไทย เจ้าของงบประมาณ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ สำนักงานกรมโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ ในฐานะ “ผู้ว่าจ้าง” คู่สัญญา

รวมไปถึงผู้ร้องก็คือตัวแทนของคนกาฬสินธุ์เข้าร่วมชี้แจงเพื่อหาทางออก ย้ำว่าเงิน 545 ล้านบาท คือเงินภาษีของประชาชนตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ จะปล่อยให้ละลายน้ำทิ้งไปไม่ได้ ยืนยันว่าจะร่วมพิจารณาเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ในส่วนของ 4 องค์กรใหญ่ ประกอบด้วย ป.ป.ท.-ป.ป.ช.-สตง.-กรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็จะเชิญมาสอบถามเด้วยเพราะเชื่อว่าเรื่องใหญ่เช่นนี้คงจะมีคำตอบและความคืบหน้าในการสอบสวนที่จะต้องจบที่กระบวนการยุติธรรม

"ส่วนปัญหาเดิม กรณีปัญหาการตัดไม้พะยูงโรงเรียน จะมีการเรียกข้อมูลเพิ่มเติมหากยังไม่เรียบร้อย อีกทั้งล่าสุดมีการร้องเรียนไปยัง นายพิเชษฐ์ เมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 เกี่ยวกับการจัดสรรงบอุดหนุนเฉพาะกิจที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ถูกจัดสรรลงไปในพื้นที่เขตเลือกตั้งที่ 4 ของจังหวัดกาฬสินธุ์ มากถึง 136 ล้านบาท ก็จะดำเนินการพิจารณาด้วยเช่นกัน ตามข้อสังเกตที่ว่าทั้งจังหวัดกาฬสินธุ์ ทำไมถึงจัดสรรลงพื้นที่มากที่สุดเพียงเขตเลือกตั้งเดียว แล้วพี่น้องประชาชนในเขตเลือกตั้งอื่นทำไมถึงไม่ได้เป็นเพราะอะไร เพราะเรื่องนี้ อปท.กาฬสินธุ์ร้องเรียนมา" ดร.ฉลาด กล่าว และระบุอีกว่า

การที่โครงการนี้มีการจ่ายเงินล่วงหน้าเป็นส่วนหนึ่งของที่มาของความเสียหาย การบอกเลิกสัญญานั้นมีข้อน่าสังเกตที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก โดยหลักการแล้วเจ้าของโครงการถ้าเห็นว่าแนวโน้มของผู้รับจ้างในการทำงาน ถ้าเห็นว่าไม่ว่าไม่สามารถจะดำเนินการได้ตามสัญญา ก็ควรต้องตรวจสอบและใช้สิทธิยกเลิกสัญญาอย่างเนิ่นๆ ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยไปจนเกิดผลเสีย นอกจากการที่ไม่ดำเนินการแล้วยังปล่อยให้น้ำท่วมมีการกัดเซาะน้ำบริเวณตลิ่ง

ซึ่งเจตนาที่รัฐได้จ่ายเงินงบประมาณไปก็เพื่อให้ป้องกันตลิ่งไม่ให้เกิดน้ำท่วม แต่พบแล้วว่าก็ยังไม่สามารถป้องกันได้เป็นปัญหาในเรื่องการบริหารจัดการโครงการบวกกับการที่ผู้มีหน้าที่ไม่กำกับดูแลอย่างเด็ดขาดในเรื่องการควบคุมให้เป็นไปตามสัญญา จึงเกิดเป็นประเด็นปัญหานี้ขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น