xs
xsm
sm
md
lg

(คลิป) ชง “นายกฯ อิ๊ง” จับมือพม่ารื้ออาคารรุกน้ำสาย กันน้ำท่วมชายแดนไทย-เมียนมา หนักซ้ำซาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงราย - ป้องกันน้ำท่วมแม่สาย-ท่าขี้เหล็กหนักและซ้ำซากทุกหน้าฝน..นอภ.แม่สายชง “นายกฯ อุ๊งอิ๊ง” รื้ออาคารสิ่งปลูกสร้างรุกน้ำสาย-สร้างพนัง/ขุดลอกทั้งน้ำสาย น้ำรวก เปิดทางไหลลงโขงให้ดีขึ้น เผยหารือท้องถิ่นท่าขี้เหล็กแล้วเห็นด้วย รอแต่รัฐบาลกลางสั่ง


วันนี้ (28 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่าง น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรีหลายคนลงพื้นที่ติดตามการฟื้นฟูแม่สายหลังน้ำท่วมใหญ่ห้วง 10-13 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา ก่อนที่จะเดินทางไปติดตามสถานการณ์น้ำท่วมเชียงใหม่ในช่วงบ่ายวันเดียวกันนั้น ได้มีการหารือถึงการจัดการอาคารสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำสาย ชายแดนไทย-เมียนมา ที่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำท่วมแม่สาย-ท่าขี้เหล็กรุนแรง

นายณรงค์พล คิดอ่าน นายอำเภอแม่สาย ได้แจ้งต่อนายกรัฐมนตรีว่า การจะทำให้ลำน้ำสายไม่เอ่อล้นขึ้นมาอีกต้องจัดการกับอาคารสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่รุกล้ำริมฝั่ง และหลังเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ ทาง อ.แม่สายได้หารือกับ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน ทราบว่าทางการเมียนมาเองก็พร้อมจะให้มีการรื้อถอนอาคารริมฝั่ง นอกจากนี้ยังได้หารือกันเรื่องการขุดลอกลำน้ำสายถึงลำน้ำรวก ระยะทาง 28 กิโลเมตร เพื่อให้น้ำระบายลงสู่แม่น้ำโขงได้สะดวกขึ้นด้วย

นายอำเภอแม่สายแจ้งต่อนายกรัฐมนตรีด้วยว่า ปัจจุบันทางการเมียนมารอเพียงคำสั่งจากรัฐบาลกลางเท่านั้น ซึ่งมีความเด็ดขาดหากสั่งการลงไปก็ต้องดำเนินการทันที จึงเสนอให้รัฐบาลไทยจัดหาวิศวกรรองรับการดำเนินการ และให้มีการออกแบบแนวพนังกั้นน้ำที่มีความมั่นคงถาวรกว่าที่ผ่านมา เพราะลำน้ำสายเอ่อล้นทุกฤดูฝน

นอกจากนี้ พนังควรดำเนินการไปถึง ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย ที่น้ำสายกัดเซาะตลิ่ง โดยเฉพาะพื้นที่บ้านป่าซางและบ้านป่าแดง จนกลายเป็นลำน้ำสาย-ลำน้ำรวก ไปแล้วกว่า 20 ไร่ จนทำให้ประเทศไทยสูญเสียดินแดนเป็นประจำทุกปี

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับทราบและจะนำไปพิจารณาในคณะรัฐมนตรีและกระทรวงที่เกี่ยวข้องต่อไป


ด้านกรมทหารช่างฯ ได้รายงานต่อ น.ส.แพรทองธารว่าปัจจุบันการฟื้นฟูแม่สายแบ่งออกเป็น 5 โซน ได้แก่ โซนชุมชนบ้านสายลมจอย โซนชุมชนบ้านเกาะทราย โซนชุมชนบ้านไม้ลุงขน โซนชุมชนบ้านเหมืองแดง และโซนชุมชนบ้านปิยพร ซึ่งได้ระดมกำลังและเครื่องจักรเพื่อนำดินโคลนออกจากอาคารบ้านเรือนโดยเฉพาะของกลุ่มเปราะบางที่เสียหายไปกว่า 48 หลัง ส่วนประชาชนทั่วไปได้นำดินออกจากบ้านเรือนแล้ว 6,280 หลังคาเรือน จากทั้งหมด 6,980 หลังคาเรือน ยังอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 691 หลัง คาดว่าจะเอาดินโคลนออกแล้วเสร็จภายใน 45 วัน

จากนั้นนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะได้เดินทางไปดูสภาพบ้านเรือนประชาชนที่เสียหายบริเวณชุมชนบ้านเกาะทรายและวัดพรหมวิหาร เพื่อมอบเงินเยียวยาเพื่อช่วยเหลือให้ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุน้ำท่วมดังกล่าวจำนวน 5 ราย โดยกรณีเป็นหัวหน้าครอบครัว 1 ราย ได้รับจำนวน 59,400 บาท และอีก 4 ราย รายละ 29,700 บาท และเงินช่วยเหลือค่าวัสดุซ่อมแซมบ้าน 50 ราย รายละ 49,500 บาท ส่วนเงินเยียวยาตามมติ ครม.จำนวน 222 ครัวเรือน ครัวเรือนละ 5,000 บาท รวมทั้งหมด 3,763,200 บาท ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปตรวจสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.เชียงใหม่ต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น