เชียงราย - เหมือนเป็นชุมชนโดนโลกลืม..หมู่บ้านท้ายน้ำสาย-น้ำรวกโดนกระแสน้ำซัดพนัง-คันดินพังทลาย มวลน้ำทะลัก-บ้านเรือนยังจมบาดาลจนถึงวันนี้ แต่หน่วยงานรัฐเข้าไม่ถึง อปท.ครวญสุดน้อยใจ วอนขอจัดงบทำพนัง 22 กม.
วันนี้ (21 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมเขตตัวเมืองแม่สาย จ.เชียงราย ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย.เป็นต้นมา ได้คลี่คลาย และกำลังอยู่ระหว่างฟื้นฟูทำความสะอาดเมืองครั้งใหญ่ ล่าสุดมีทั้งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.กระทรวงเกษตรฯ ยกคณะนำเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือชาวบ้านนั้น
แต่ลำน้ำสาย ชายแดนไทย-เมียนมา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่ไปบรรจบกับลำน้ำใน จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา กลายเป็นแม่น้ำรวกก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ปรากฏว่านอกจากจะกัดเซาะพนังฝั่งไทยบริเวณหมู่บ้านป่าซางงาม หมู่ 6 ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย แล้ว ยังซัดคันดินกั้นลำน้ำพังทลายหลายจุด โดยเฉพาะพื้นที่บ้านปางห้า หมู่ 1 ต.เกาะช้าง ตลิ่งถูกกัดเซาะเพิ่มเป็นระยะทางประมาณ 30 เมตร ทำให้มวลน้ำปริมาณมากที่เหลือค้างจากการระบายลงสู่แม่น้ำโขงทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนพื้นที่บ้านป่าแดง หมู่ 5 ต.เกาะช้าง มีบ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตรถูกน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง
ร.ต.อ.เด่นวุฒิ จันต๊ะขัติ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เกาะช้าง เปิดเผยว่า ในพื้นที่ยังคงมีน้ำท่วมเพราะเป็นพื้นที่รับน้ำจากลำน้ำสาย-ลำน้ำรวก ที่ไหลไปรวมกันก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขงและยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปดูแลเป็นพิเศษ ยกเว้นนายอนันต์ เพ็ชร์หนู ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 1 ที่เข้าไปให้การแนะนำว่าจะมีฝนตกลงมาเพิ่มเติมหรือไม่ จึงขอให้พื้นที่ทำกระสอบทรายใหญ่หรือบิ๊กแบ็กป้องกันชั่วคราว ส่วนในระยะยาวซึ่งเกินศักยภาพของ อบต.เกาะช้าง ให้นำเสนอโครงการไปยังกรมโยธาธิการและผังเมืองเพื่อทำพนังถาวรต่อไป
“น้ำท่วมครั้งนี้ทำให้บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 1,400 ครัวเรือน พื้นที่ทางการเกษตรเสียหายประมาณ 6,000 ไร่ ซึ่งผมรู้สึกน้อยใจมาตลอด เพราะตั้งแต่เข้ารับหน้าที่ หน่วยงานภาครัฐยังเข้าไม่ถึงพื้นที่ มีเพียงผู้ใหญ่ที่ให้คำแนะนำแต่ไม่ได้ลงมืออย่างจริงจัง ขณะที่ชาวบ้านต้องการให้ทำตลิ่งถาวรตลอดแนวชายแดนพื้นที่ ต.เกาะช้าง ระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตร ซึ่งเกินศักยภาพของท้องถิ่น แม้แต่ถุงยังชีพก็พบว่ามีการแจกจ่ายไปอย่างทั่วถึงแต่ไม่เพียงพอ โดยปัจจุบันในพื้นที่ที่ผมรับผิดชอบยังคงต้องการถุงยังชีพ ขณะที่พื้นที่ทางการเกษตรก็เสียหาย”