xs
xsm
sm
md
lg

ชาวหัวหินร่วมสืบสานประเพณีเก่าแก่ “ส่งเคราะห์ทางทะเล” เชื่อลอยทุกข์โศกในช่วงเดือน 9 ของทุกปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประจวบคีรีขันธ์ - ชาวหัวหินร่วมสืบสานประเพณีท้องถิ่นอันเก่าแก่ “ทำบุญส่งเคราะห์ทางทะเล” มีพิธีสำคัญคือ การเขียนชื่อ นามสกุลสมาชิกในครอบครัวติดตุ๊กตาจิ๋วส่งลงเรือ “ส่งเคราะห์ทางทะเล” ตามความเชื่อโบราณลอยทุกข์โศกไปกับท้องทะเล ซึ่งมีการจัดต่อเนื่องในทุกปีในช่วงเดือน 9

วันนี้ (16 ก.ย.) ที่ศาลเจ้าแม่ทับทิม อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ คณะกรรมการชุมชมชาวประมงหัวหิน ร่วมกันสืบสานประเพณีท้องถิ่นเก่าแก่ของชาวหัวหิน ในงานประเพณีทำบุญ “ส่งเคราะห์ทางทะเล” และทำบุญศาลเจ้าแม่ทับทิม หัวหิน ประจำปี 2567 ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเดือนกันยายน ก่อนออกพรรษาของทุกปี

โดยปีนี้มี นายพลกฤต พวงวลัยสิน นายอำเภอหัวหิน เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วยนายไพโรจน์ มากหมู่ ประธานชุมชนชาวประมงหัวหิน นางอุษา พวงวลัยสิน นายกกิ่งกาชาดหัวหิน นายศิริพันธ์ กมลปราโมทย์ ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน นางลิษา อึ้งเห่ง ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอหัวหิน ททท.สำนักงานประจวบฯ พร้อมหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคีเครือข่ายต่างๆ และประชาชน ตลอดจนนักท่องเที่ยวร่วมงานจำนวนมาก

นายไพโรจน์ มากหมู่ ประธานชุมชนชาวประมงหัวหิน กล่าวว่า ประเพณี “ส่งเคราะห์ทางทะเล” และทำบุญศาลเจ้าแม่ทับทิม นั้น ชาวบ้านชุมชนชาวประมงหัวหินได้สืบสานประเพณีเก่าแก่ของชุมชนมานาน เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และนำเถ้าอังคารมาลอยที่ชายทะเลหัวหินแต่ไม่เคยได้กลับมาดูแลกราบไหว้ พร้อมทั้งทำบุญสะเดาะเคราะห์ ปล่อยตุ๊กตาส่งเคราะห์ทางทะเล ตามความเชื่อว่าจะช่วยลดเคราะห์กรรม สิ่งอัปมงคลให้เบาบางลง ไม่เป็นโรคภัยไข้เจ็บ ลอยทุกข์โศกโรคภัยต่างๆ ไปกับน้ำทะเล เสริมบารมีหน้าที่การงาน เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ถือเป็นประเพณีเก่าแก่ของบรรพบุรุษ ที่บรรดาลูกหลานในชุมชนจะต้องร่วมกันสืบสาน และช่วยกันส่งเสริมให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ

สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นประกอบด้วย ก่อนเริ่มพิธี ชาวบ้านจะมีเปลี่ยนตุ๊กตาจิ๋วดินเผาชาย-หญิง ที่มีชื่อเรียกว่า น้องจุก และน้องแกละ ตามจำนวนสมาชิกในครอบครัว เขียนชื่อ-นามสกุลติดไปตุ๊กตา นำไปส่งลงเรือส่งเคราะห์ ซึ่งปีนี้มีชื่อเรือว่า พรหลวงพ่อ 6 อธิษฐานขอพร จากนั้นจะเป็นพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลและถวายเพลพระสงฆ์ เพื่อความเป็นสิริมงคล ต่อด้วยพิธีบวงสรวงขอขมาพระแม่คงคามหาสมุทร จุดประทัดมงคลสี่หมื่นนัด เมื่อสิ้นเสียงประทัดแล้ว ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวจะเฮโลช่วยกันลากจูงเรือส่งเคราะห์ทางทะเลลงสู่ทะเล โดยจะมีเรือประมงพี่เลี้ยงอีก 6 ลำ ช่วยกันลากเรือออกไปสู่ทะเล ที่แนวปะการังที่เรียกว่า “หินปู่โคร่ง” ห่างจากฝั่งประมาณ 3 กิโลเมตร จากนั้นชาวประมงจะจมเรือ พรหลวงพ่อ 6 ซึ่งบรรทุกตุ๊กตาน้องจุก น้องแกละ กว่าสามพันตัวลงสู่ท้องทะเล เป็นอันเสร็จพิธี กลายเป็นแหล่งปะการังเทียมที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำต่อไป

นางลิษา อึ้งเห่ง ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอหัวหิน กล่าวว่า ทุกปีจะมาร่วมงานประเพณีส่งเคราะห์ทางทะเล หัวหิน ที่มีชุมขนชาวประมงหัวหิน ร่วมกันฟืนฟูขึ้นมาเพื่อร่วมกันอนุรักษ์สืบสานประเพณีดังกล่าวไม่ให้เลือนหายไป สิ่งสำคัญจะทำให้เยาวชนในรุ่นต่อไปได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของประเพณีส่งเคราะห์ทางทะเลหัวหิน นอกจากนั้น ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมอีกด้วย

ด้านชาวหัวหินที่มาร่วมกิจกรรม ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ประเพณี “ส่งเคราะห์ทางทะเล” เป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวหัวหิน เป็นที่รู้กันดี จะต้องมาร่วมงานบุญทุกปี ซึ่งกิจกรรมสำคัญคือการร่วมทำบุญด้วยการเปลี่ยนตุ๊กตาดินเผา สีสันสดใส ทั้งชายหญิง รวมทั้งน้องจุก-น้องแกละ ที่เสมือนเป็นตัวแทนครอบครัวมาเขียนชื่อ เหมือนได้ร่วมทำบุญด้วยกัน เป็นประเพณีที่ดีงามควรค่าแก่การอนุรักษ์และรักษาเอาไว้ ซึ่งทุกปีชาวบ้านจะจัดงานในช่วงกลางเดือนกันยายน อยากเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้มาร่วมงานในปีต่อๆ ไป










กำลังโหลดความคิดเห็น