พระนครศรีอยุธยา - "ซ้อสมทรง" นายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา แถลงโนบาย 8 ด้าน “อยุธยามีชีวิต” ครอบคลุมทุกด้าน ทุกเพศ ทุกวัย เผยมีความตั้งใจมุ่งมั่นจะให้นโยบายในแต่ละด้านได้รับการนำไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติอย่างสัมฤทธิผล เท่าเทียมทั่วถึงเป็นธรรม
วันนี้ (19 ส.ค.) ที่ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พระนครศรีอยุธยา มีการประชุมสภา อบจ.พระนครศรีอยุธยา สมัยสามัญ ครั้งที่ 2 ประจำปี พ.ศ.2567 นายสมชาย ศิลาเจริญธนกิจ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานในการประชุม มีวาระการประชุมที่สำคัญ 5 วาระ โดยในวาระที่ 3 เป็นการแถลงนโยบายของ นางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต่อสภา อบจ.พระนครศรีอยุธยา
นางสมทรง กล่าวว่า ขอบพระคุณพี่น้องชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ด้วยความจริงใจที่ได้มอบความไว้วางใจให้ตนได้รับโอกาสเข้ามาทำงานในตำแหน่งนายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา อีกสมัย นโยบายที่แถลงได้กำหนดทำขึ้นภายใต้กรอบหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พ.ศ.2540 และตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2552 ตลอดจนข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
"ตนมีความตั้งใจมุ่งมั่นจะให้นโยบายในแต่ละด้านได้รับการนำไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติอย่างสัมฤทธิผล เท่าเทียมทั่วถึงเป็นธรรม ที่ได้สัญญากับพี่น้องประชาชนไว้ในช่วงของการลงพื้นที่หาเสียง โดยใน 4 ปีของการบริหารราชการต่อจากนี้ นอกจากจะสานต่องานที่ได้เคยทำไว้เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งที่ผ่านมาแล้ว จะขออาสาทำงานรับใช้พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภายใต้วิสัยทัศน์ “Living Ayutthaya” หรืออยุธยามีชีวิต ให้เป็นเมืองที่พร้อมรับการเจริญเติมโต ด้านสังคม เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว รวมถึงรองรับการลงทุนจากนักลงทุน การเป็นเมืองที่ปรับตัว และพลิกโฉมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลบนพื้นฐานของความเป็นจริง สามารถทำได้ทันที ผ่านนโยบายการพัฒนา 8 ด้าน คือ
1.นโยบายด้านการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน 2.นโยบายด้านส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ ภายใต้แนวคิด Next Station Ayutthaya พระนครศรีอยุธยา กำลังจะมีสถานีรถไฟความเร็วสูง จะดำเนินการเตรียมความพร้อมรองรับสถานีรถไฟความเร็วสูง ด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่นให้ครบ 16 อำเภอ 3.นโยบายด้านการส่งเสริมการศึกษา เพราะชีวิตไม่หยุดที่เรียนรู้ 4.นโยบายด้านพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐาน สาธารณูปโภค คมนาคม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินด้วยเทคโนโลยี เข้าถึงฉับไว ส่งเสริมระบบขนส่งและการจราจรอัจฉริยะ
5.นโยบายส่งเสริมด้านสาธารณสุข “ประชาชนแข็งแรง เศรษฐกิจแข็งแรง” ยกระดับโรงพยาบาลให้มีความพร้อมในการรักษาผู้ป่วย 6.นโยบายด้านสุขภาพ และการพัฒนาคุณภาพชีวิต “ทุกวัยมีสุข ฉุกเฉินเราดูแล” ผลักดันให้มีศูนย์ช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน และรถรับส่งผู้ป่วย ส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยีผ่านแอปพลิเคชัน 7.นโยบายส่งเสริมการเกษตรและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น สนับสนุนจัดหาน้ำให้เกษตรกร เพื่อลดต้นทุนการผลิต ใช้เทคโนโลยีมาปรับใช้กับเกษตรกรรม 8.นโยบายด้านกิจกรรมสาธารณะ สร้างสรรค์ สร้างสุข ทุกวัย ทุกพื้นที่ สนับสนุนพื้นที่ให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ ให้มีพื้นที่สร้างสรรค์ผลงานและเปลี่ยนความคิดเห็น ส่งเสริมพัฒนาให้ผู้นำท้องถิ่นตระหนักและให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด