xs
xsm
sm
md
lg

“เพชรบุรี” จัดมหกรรมอ่อนหวาน กระตุ้นลดการบริโภคหวานทั้งจังหวัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพชรบุรี - เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน หนุน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี จัดกิจกรรมออนทัวร์อ่อนหวาน รณรงค์การลดบริโภคหวาน พร้อมชู “เพชรบุรีโมเดล” ขับเคลื่อนทั้งจังหวัดอย่างเป็นระบบ ด้านผู้ว่าฯ ชูขนมหวานสูตรลดหวานให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ช่วยหนุนการยกระดับเมืองท่องเที่ยว

วันนี้ (9 ส.ค.) กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิทันตสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน และภาคีเครือข่ายลดการบริโภคหวาน จ.เพชรบุรี จัดงานมหกรรมอ่อนหวาน ออนทัวร์เพชรบุรี EP1 “Phetchaburi On-Whan Ontour EP 1” เพื่อรณรงค์ “เพชรบุรีโมเดล” ลดการบริโภคหวานอย่างเป็นระบบ โดยภายในงานมีการออกบูทของร้านค้า และโรงเรียนในเครือข่าย นำเสนอนวัตกรรมและอาหาร ขนมหวาน เครื่องดื่มสูตรหวานน้อย ให้ผู้เข้าร่วมงานได้ชิมและรับประทาน ที่ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน เพชรบุรี

นายณัฎฐชัย นำพูนสุขสันติ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า จ.เพชรบุรี ได้ชื่อว่าเป็นเมืองขนมหวานที่ถูกหยิบไปเป็นของฝากอยู่เสมอ แต่มักจะถูกถามว่า กินขนมหวานมากอาจกระทบต่อสุขภาพได้ ทำให้ทางจังหวัดมาทบทวนถึงผลิตภัณฑ์ GI ของจังหวัด ซึ่งก็คือน้ำตาลโตนด มีจุดเด่นที่ให้ความหวานประเภทที่ไม่กระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวาน ความดันมากนักเพราะร่างกายจะค่อยๆ ดูดซึมความหวาน ไม่เหมือนกับความหวานจากน้ำตาลประเภทอื่นที่เมื่อเราบริโภคแล้วร่างกายจะดูดซึมได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดสูง

จ.เพชรบุรี จึงขานรับแนวคิดขับเคลื่อนขนมหวานน้อย ให้คนเมืองเพชรหรือคนที่มาเที่ยวเมืองเพชรได้มาเที่ยวอย่างมีความสุข และรับประทานอาหารอร่อย มีสุขภาพที่ดีกลับไป สอดคล้องกับทิศทางของสังคมปัจจุบันที่คนหันมารักสุขภาพมากขึ้น

“การที่ จ.เพชรบุรี เป็นเมืองท่องเที่ยว แล้วเราต้องการยกระดับการท่องเที่ยวมากขึ้น อาหารและขนมภายในจังหวัดถือเป็นส่วนประกอบหนึ่งของภาคการท่องเที่ยว เราจึงต้องทำขนมหวานให้คนยอมรับในระดับนานาชาติ ให้คนที่มากินได้ชื่นชมกลับไป” ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าว

ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย ที่ปรึกษาเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน และอดีตรองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การมารณรงค์ที่ จ.เพชรบุรี ที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองขนมหวาน เรามาที่ต้นตอของความหวาน เพื่อร่วมกันผลักดันให้เมืองขนมหวานลดการบริโภคหวานให้ได้ จะทำให้คนตื่นตัวกระแสการลดบริโภคหวานมากขึ้น และส่งต่อไปยังจังหวัดอื่นๆ ได้

ทั้งนี้ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานมีกิจกรรมขับเคลื่อนเพื่อลดการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มรสหวานในทุกรูปแบบ ทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่เด็กเริ่มที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือ ศพด. ให้เด็กมีนิสัยการบริโภคหวานน้อย กินนมจืด การแปรงฟัน กลุ่มเด็กนักเรียน ทำเรื่องโรงอาหารอ่อนหวาน ส่วนวัยทำงาน เรารณงค์กลุ่มโรงงานต่างๆ ทำยังไงให้คนวัยทำงานเขามีโรงอาหารอ่อนหวาน บริโภคเครื่องดื่มน้ำตาลน้อย หรือการรณรงค์ร้านขนม ร้านกาแฟอ่อนหวาน เป็นต้น

ในส่วนของ ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวว่า จ.เพชรบุรี เป็นอีกหนึ่งจังหวัดของเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ที่มีการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ โดยมีหน่วยงานปกครองท้องถิ่นอย่างจังหวัดเป็นผู้นำ มีการประกาศนโยบาย “เพชรบุรีอ่อนหวาน” อย่างชัดเจน ทั้งมีการดำเนินการให้ผู้ประกอบการปรับสูตรอาหาร พร้อมกับการรณรงค์ให้คนเพชรบริโภคอาหารหวานน้อยลง เพื่อลดการเกิดโรค NCDs ซึ่งตรงกันกับการทำงานของเครือข่าย

ขณะเดียวกัน เพชรบุรีซึ่งอยู่ในฐานะเมืองท่องเที่ยวมีร้านกาแฟมากมาย จึงมีกระบวนการขับเคลื่อนเครื่องดื่มอ่อนหวานด้วย แม้จะยังมีจำนวนร้านที่เข้าร่วมยังไม่มากนัก แต่มีร้านตัวอย่างที่ดำเนินการอยู่ นอกจากนี้ในส่วนของร้านของฝากที่จำหน่ายขนมหวานเมืองเพชรมีการปรับสูตรใหม่ด้วยการลดความหวานลง โดยบางรายใช้สารทดแทนน้ำตาล บางรายลดขนาดของผลิตภัณฑ์ลงให้พอดีกับการรับประทานของแต่ละคน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณน้ำตาลที่คนหนึ่งจะบริโภคในแต่ละครั้งได้ แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือการพัฒนาระบบในโรงเรียนที่มีการบูรณาการโรงเรียนปลอดภัย อาหารอ่อนหวานเข้าด้วยกัน

การร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในจังหวัดเพชรบุรี ทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เป็นกระบวนการขับเคลื่อนที่เราอยากให้เกิดขึ้นในปีนี้ เป็นการขับเคลื่อนในเชิงระบบที่เห็นความชัดเจน โดยมีหน่วยย่อยที่เข้าถึงพื้นที่อย่างคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ทำให้เกิดการขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน หรือราชการ

“การรณรงค์ให้บริโภคผักและผลไม้พื้นถิ่นตามฤดูกาลเป็นอีกหนึ่งแนวทาง เพราะเพชรบุรีถือเป็นจังหวัดที่มีแหล่งเกษตรกรรมที่ดี คนเพชรเองมีวิธีบริโภคและการแปรรูปผลไม้ที่หลากหลาย อย่างลูกตาลเชื่อมสามารถปรับสูตรให้หวานน้อยลง ผลไม้แช่อิ่มที่ไม่หวานมากจนเกินไปได้ เช่นเดียวกับการพยายามพัฒนาน้ำตาลโตนดอินทรีย์และนำมาใช้ให้ความหวานแทนน้ำตาลทรายในขนมหวานเมืองเพชร ซึ่งมีสภาอุตสาหกรรมเป็นผู้ขับเคลื่อนเพื่อให้เป็นหนึ่งในจุดเด่นของจังหวัด” ทพญ.ปิยะดา กล่าว








กำลังโหลดความคิดเห็น