xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานไทย-เวียดนามหลั่งน้ำตาครวญไม่เป็นธรรม บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติเบี้ยวค่าแรงกว่า 8 พันชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวศรีราชา - น้ำตาแรงงานไทยหลังถูกเบี้ยวค่าแรง ทนทำงานต่อหวังได้เงินที่ค้างคืน บางรายยอมเป็นหนี้นอกระบบ เพื่อนำเงินมาประทังชีวิต ดูแลครอบครัว ขณะที่นายจ้างเป็นบริษัทต่างชาติยักษ์ใหญ่อันดับต้นๆ ของวงการ ไม่ยอมจ่ายเงิน อ้างขาดสภาพคล่อง

จากกรณีกลุ่มผู้ใช้แรงงานจำนวนหนึ่งได้รวมตัวชุมนุมริมถนนสุขุมวิท หน้าโรงกลั่นไทยออยล์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เนื่องจากไม่ได้รับค่าจ้างจากผู้รับเหมาตามกำหนด จากการสอบถามของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (บริษัท) เข้าใจว่ากลุ่มผู้ใช้แรงงานดังกล่าวเป็นพนักงานชาวไทยและเวียดนาม ของบริษัท วัน เทิร์น เท็น จำกัด (One Turn Ten)บริษัท เอ็มโก้ แอลทีดี (ไทยแลนด์) จำกัด (EMCO) และบริษัท ไทยฟง เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (Thai Fong)


ทั้ง 3 บริษัทเป็นนายจ้างและเป็นผู้รับเหมาช่วงอีกทอดหนึ่งของบริษัท ซิโนเพค เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (Sinopec) ที่เป็นผู้รับเหมาช่วงของกิจการร่วมค้า UJV: Unincorporated Joint Venture of Petrofac South East Asia Pte. Ltd.(Petrofac), Saipem Singapore Pte. Ltd.(Saipem) และ Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd. (ชื่อเดิม Samsung Engineering (Thailand) Co., Ltd.) (Samsung) ซึ่งเป็นผู้รับเหมาหลักในการก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project: CFP) ให้บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

น.ส.จิตรลัดดา หมอนทอง
น.ส.จิตรลัดดา หมอนทอง เป็นพนักงานของบริษัท วัน เทิร์น เท็น จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วงอีกทอดหนึ่งของบริษัทซิโนเพค เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วงของกิจการร่วมค้า UJV เผยว่า บริษัทค้างจ่ายค่าแรงเดือนที่ 2 แล้ว โดยที่ผ่านมา เลื่อนจ่ายเป็นงวดมาตั้งแต่เดือนเมษายน เมื่อมีการทวงถามบริษัทแจ้งว่าไม่มีเงิน

ล่าสุด ที่ค้างจ่ายคือของเดือนมิถุนายน กรกฎาคม ขณะนี้เดือดร้อนหนักมาก จึงมาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง อยากได้เงินค่าแรง ซึ่งมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ซึ่งตนต้องมีค่าใช้จ่ายประจำเดือนทุกเดือน คือ ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ และต้องเลี้ยงดูลูกๆ อีก ล่าสุดต้องเอาทองไปจำนำเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายไปก่อนในระหว่างรอเงินที่ค้างจ่าย เราจะปักหลักประท้วงจนกว่าจะได้เงินคืน

น.ส.ดารณี ธรรมนู
ด้าน น.ส.ดารณี ธรรมนู อายุ 27 ปี เป็นพนักงานของบริษัทสามพล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้รับเหมาช่วงอีกทอดหนึ่งของบริษัท ซิโนเพค เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด ทำงานมา 2-3 ปี ไม่ได้เงินเดือนมา 2 เดือน โดยตนได้ค่าแรงวันละ 450 บาท ที่ต้องออกมาประท้วงในครั้งนี้คือไม่ไหวแล้ว เดือดร้อนมาก ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าห้องเดือนละ 2,500 บาท ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหารการกิน และตอนนี้ลูกไม่สบาย ไม่มีเงินค่ารักษา และใช้จ่ายภายในบ้าน เพราะทำงานแต่ไม่ได้เงินมันช้ำใจมาก 

"ล่าสุดต้องไปกู้เงินนอกระบบมาใช้ก่อนเพื่อรอเงินเดือน ดอกเบี้ยร้อยละ 20 บาท ซึ่งแพงเราต้องยอม เพราะไม่มีเงินใช้แล้ว อยากให้นายจ้างเห็นเห็นใจพวกพนักงานชั้นล่างที่ต้องอยู่กันอย่างลำบาก"

นายประสิทธิ์ ปาตังคะโร สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี
เช็กสิทธิและศึกษาผลประโยชน์ก่อนทำงาน

ด้านนายประสิทธิ์ ปาตังคะโร สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี ให้ความรู้เกี่ยวกับการเข้าทำงาน เพื่อป้องกันการรักษาสิทธิของตนเอง ป้องกันปัญหาการเอาเปรียบจากนายจ้าง ซึ่งๆ จริงแล้วการทำงานเราไม่สามารถจะรู้ว่าในอนาคตจะต้องเจอกับปัญหาอะไรบ้าง แต่เมื่อเจอแล้วจะต้องทำอย่างไรต่อไป ในกรณีที่ทำงานแล้วไม่ได้ค่าจ้างหรือถูกเลิกจ้างโดยที่ไม่มีความผิด กระบวนการแก้ปัญหาคือจะต้องยื่นคำร้อง ทร 7 ในท้องที่เกิดเหตุจังหวัดนั้นๆ

เจ้าหน้าที่จะได้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง และดำเนินการให้นายจ้างปฏิบัติ หรือไม่ปฏิบัติ เช่น กรณีที่มีการวินิจฉัยแล้วให้นายจ้างต้องจ่าย แล้วนายจ้างไม่เห็นด้วยกับคำสั่ง นายจ้างไปฟ้องเพิกถอนกับศาลแรงงาน แต่ถ้านายจ้างรับคำสั่งแล้ว ไม่จ่ายเงิน พนักงานตรวจแรงงานจะดำเนินคดีอาญากับนายจ้าง ลูกจ้างมีสิทธิฟ้องแพ่งต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งบังคับจ่าย ซึ่งอาจจะเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาและไม่มีใครอยากให้เกิด แต่เราไม่สามารถคาดเดาได้ในระหว่างการทำงานว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่หรือไม่เกิดขึ้นจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่เมื่อเกิดแล้วมันจะมีกระบวนการ


พนักงานคุ้มครองแรงงานจังหวัดจะต้องเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด ทั้งนี้ ตัวลูกจ้างเองต้องรักษาสิทธิของตัวเอง ด้วย เช่น ในเรื่องของสิทธิประกันสังคม หรือสิทธิอื่นๆ ของตนเองตามกฎหมาย อย่างแรกที่ควรศึกษาคือกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ว่าตอนนี้ค่าจ้างขั้นต่ำเท่าไหร่ในพื้นที่นั้นๆ การจ่ายโอทีเวลาทำงานในวันหยุด อะไรต่างๆ คนทำงานควรศึกษาสิทธิของตนเองให้ครบถ้วนตามกฎหมายก่อน เมื่อไปทำงานที่ไหนก็ตรวจสอบได้ เมื่อไปทำงานแล้วไม่ได้รับสิทธิตามที่กฎหมายกำหนดสามารถแจ้งสำนักงานสวัสดิการและแรงงานจังหวัดได้

ส่วนกรณีของพนักงานลูกจ้างที่กำลังมีปัญหาอยู่ในขณะนี้ ลูกจ้างสามารถลงชื่อยื่นคำร้องที่สำนักงานเพื่อเรียกร้องตามกระบวนการของกฎหมายได้ตามสิทธิของตนเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น