xs
xsm
sm
md
lg

สสจ.เชียงใหม่ห่วงยอดป่วยไข้หวัดใหญ่พุ่ง 12 เท่าจากปีก่อน-รณรงค์ 7 กลุ่มเสี่ยงเร่งเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่ - สสจ.เชียงใหม่เผยยอดผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 6 เดือนแรกปี 2567 พุ่งเป็น 12 เท่าของปี 2566 แล้ว และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง เร่งรณรงค์ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงเข้ารับบริการฟรีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคเพื่อลดความเสี่ยงในการติดโรค รวมทั้งลดความรุนแรงของอาการและอัตราการเสียชีวิต


ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยสถานการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่ว่า ขณะนี้ในพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่พบว่ามีแนวโน้มการแพร่ระบาดเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบมากในกลุ่มเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี และผู้สูงอายุ นอกจากนี้พบว่าในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2567 มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 12 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 โดยมีผู้ป่วยแล้ว 6,050 ราย อัตราป่วย 510.1 ต่อประชากรแสนคน และกำลังเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อ Influenza virus ส่วนใหญ่จำแนกออกเป็น 3 ชนิด โดยสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยที่มีอาการรุนแรง คือ ชนิด A และ B ส่วนสายพันธุ์ชนิด C อาการมักไม่รุนแรง ระยะฟักตัวของโรค 1-3 วัน ซึ่งในจังหวัดเชียงใหม่จะพบผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น 2 ช่วงต่อปี คือ ในช่วงกลาง-ปลายฤดูฝน (กรกฎาคม-กันยายน) และอีกช่วงคือ ปลายฤดูหนาว (มกราคม-กุมภาพันธ์) เป็นประจำทุกปี

โดยผู้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ และที่สำคัญคือจะปวดเมื่อยตามตัว และอาการทางระบบหายใจตั้งแต่ น้ำมูก ไอมาก หรือหากรุนแรงอาจมีอาการหอบเหนื่อย ปอดอักเสบ เสียชีวิตได้ในเวลาต่อมา แต่อย่างไรก็ตามโรคนี้สามารถลดความเสี่ยงในการติดโรคหรือลดความรุนแรงของโรค รวมทั้งลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนและลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปีละ 1 ครั้ง ซึ่งควรจะฉีดในช่วงเริ่มเข้าฤดูฝน เพื่อที่ร่างกายจะได้สร้างภูมิคุ้มกันได้ทันช่วงการระบาดพอดี

สำหรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่นั้น มีทั้งชนิด 3 สายพันธุ์ และ 4 สายพันธุ์ โดยประชาชนกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่มสามารถขอรับการฉีดวัคซีนได้ฟรีทุกสิทธิการรักษา ได้แก่ 1. หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป, 2. เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ขวบ, 3. ผู้ป่วยโรคเรื้อรังทุกกลุ่มอายุ, 4. ผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป, 5. ผู้พิการทางสมองช่วยเหลือตัวเองไม่ได้, 6. ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องรวมถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ และ 7. ผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัม หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร










กำลังโหลดความคิดเห็น