โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ เชิญชวนประชาชนฉีด “วัคซีนไข้หวัดใหญ่” ตามฤดูกาล (7 กลุ่มเสี่ยง) ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อทั้งโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งลดอาการรุนแรงของโรคและความเสี่ยงในการเสียชีวิต
วันนี้ (17 ส.ค.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เชิญชวนประชาชนเข้ารับบริการฉีด “วัคซีนไข้หวัดใหญ่” ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งเหลือเวลาเพียงอีก 15 วันสุดท้าย ตามที่ สปสช. ร่วมกับ กรมควบคุมโรค รณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม - 31 สิงหาคม นี้ ทั้งนี้ การฉีด “วัคซีนไข้หวัดใหญ่” ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อทั้งโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ สามารถลดอาการรุนแรงของโรคและความเสี่ยงในการเสียชีวิต อีกทั้งโรคไข้หวัดใหญ่ยังคงเป็นโรคที่มีการแพร่ระบาดกระจายได้ง่าย โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ซึ่งในแต่ละปีประเทศไทยมีรายงานพบผู้ป่วยมีจำนวนมากเพิ่มขึ้น ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 อาจก่อให้เกิดอาการและภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตลงได้ โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ใน 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป (ให้บริการตลอดทั้งปี) 2. เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปีทุกคน 3. ผู้มีโรคเรื้อรัง ดังนี้ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4. บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 5. โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) 6. โรคอ้วน (น้ำหนัก> 100 กิโลกรัม หรือ BMI > 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) 7. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ รวมทั้งประชาชนทุกสิทธิการรักษา ประชาชนสามารถติดต่อฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรีได้ที่สถานพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทุกแห่ง ได้แก่ รพ.รัฐทุกแห่ง, รพ.สต., ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ กทม. คลินิกเอกชนและโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมให้บริการฉีดวัคซีน
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 วันนี้ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ผู้ป่วยรายใหม่ (รักษาตัวใน รพ.) จำนวน 2,461 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยในประเทศ 2,460 รายผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 1 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,402,622 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) หายป่วยกลับบ้าน 2,243 ราย หายป่วยสะสม 2,405,746 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 19,902 ราย เสียชีวิต 28 ราย เสียชีวิตสะสม 10,217 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 943 ราย