xs
xsm
sm
md
lg

จับตา 2 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ใกล้เมืองมหาสารคามน้ำล้นอ่างแล้ว ชลประทานเร่งสูบน้ำลงลำชี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อ่างเก็บน้ำโคกก่อ (ห้วยคะคาง)
มหาสารคาม - จับตาสองอ่างเก็บน้ำใหญ่ใกล้ตัวเมืองมหาสารคามน้ำล้นความจุอ่างเก็บน้ำแล้ว ทั้งอ่างห้วยคะคางและอ่างแก่งเลิงจาน ชาวบ้านหวั่นน้ำทะลักท่วมพื้นที่เกษตรและย่านเศรษฐกิจของเมืองซ้ำรอยปี 65 ขณะที่ทางชลประทานมหาสารคามแขวนบานประตูระบายท่าสองคอนทั้ง 6 บาน และเดินเครื่องสูบน้ำ 4 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำชีโดยเร็ว ลดผลกระทบชุมชนเมือง

อ่างเก็บน้ำโคกก่อ (ห้วยคะคาง)
สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำใน อ.เมือง จ.มหาสารคาม 2 อ่าง คือ อ่างเก็บน้ำโคกก่อ (ห้วยคะคาง) และอ่างเก็บน้ำแก่งเลิงจาน อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าจับตา ภายหลังจากที่มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา

โดยอ่างเก็บน้ำห้วยคะคาง ต.โคกก่อ อ.เมือง จากฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องจากอิทธิพลของร่องมรสุมตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 67 ส่งผลให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำห้วยคะคางจำนวนมาก ทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนล้นกระโถน ออกทางประตูระบายน้ำ ซึ่งน้ำก้อนนี้จะไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำแก่งเลิงจาน ในอำเภอเมืองมหาสารคาม

ล่าสุดอ่างเก็บน้ำห้วยคะคางมีปริมาณน้ำ 5.095 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นความจุ 123.48% ของปริมาณความจุอ่าง 4.126 ล้านลูกบาศก์เมตร

สิ่งที่ชาวบ้านเป็นห่วงอยู่ตอนนี้ก็คือบริเวณประตูน้ำล้นฝั่งซ้าย น้ำได้กัดเซาะบริเวณด้านข้างเป็นร่องขนาดใหญ่ระยะทางยาวประมาณ 10 เมตรและยังคงกัดเซาะอย่างต่อเนื่อง เกรงว่าจะพังเหมือนที่อ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำในอำเภอบรบือ จึงอยากให้ทางชลประทานเร่งเข้ามาซ่อมแซมอย่างเร่งด่วน


นายสุเขตร์ พรหมรักษา สมาชิก อบต.โคกก่อ กล่าวว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยคะคางเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายพื้นที่ในตำบลโคกก่อได้รับผลกระทบมีน้ำท่วมขังในทุ่งนาและมีน้ำหลากพาดผ่านถนน ก่อนที่น้ำจะไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำห้วยคะคาง โดยน้ำที่ล้นปากกระโถนออกมาได้กัดเซาะบริเวณด้านข้างระยะทางยาวกว่า 10 เมตร ซึ่งเกรงว่าหากจุดนี้ขาดน้ำจำนวนมหาศาลก็จะไหลเข้าสู่ไร่นาของประชาชนและไหลเข้าตัวเมืองมหาสารคาม จึงอยากให้ชลประทานเข้ามาเร่งแก้ไขซ่อมแซมอย่างเร่งด่วน

ล่าสุดทางชลประทานมหาสารคามได้นำหินก้อนใหญ่มาเตรียมที่จะบรรจุตะแกรงเหล็ก หรือที่เรียกว่าหินเกเบียน เพื่อที่จะวางลงไปในจุดที่ชำรุดเป็นการป้องกันไม่ให้น้ำกัดเซาะ และได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่บริเวณประตูระบายน้ำท่าสองคอน อำเภอเมืองมหาสารคาม เพื่อสูบน้ำที่ไหลมาจากอ่างเก็บน้ำแก่งเลิงจานลงสู่แม่น้ำชีเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

อ่างเก็บน้ำแก่งเลิงจาน

แก่งเลิงจาน
ขณะเดียวกัน อ่างเก็บน้ำแก่งเลิงจานรับน้ำจากฝนที่ตกในพื้นที่ และรับน้ำมาจากอ่างเก็บน้ำห้วยคะคาง ต.โคกก่อ ทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกินระดับเก็บกัก น้ำไหลล้นสปิลเวย์ และไหลออกที่ฝายน้ำล้นฉุกเฉิน

ปัจจุบันระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำแก่งเลิงจาน มีปริมาณน้ำ 10.881 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 135.61 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณความจุอ่าง 8.024 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งน้ำที่ไหลล้นสปิลเวย์ และฝายน้ำล้นฉุกเฉินจะไหลไปยังประตูระบายน้ำท่าสองคอนลงสู่แม่น้ำชี

โดยทางชลประทานมหาสารคามได้นำรถแบ็กโฮมาเร่งกำจัดวัชพืชที่ขึ้นขวางทางน้ำ บริเวณฝายน้ำล้นฉุกเฉิน เพื่อเปิดทางระบายน้ำให้น้ำไหลสะดวกขึ้น ขณะที่บริเวณอ่างเก็บน้ำแก่งเลิงจานก็มีประชาชนเดินทางมาสังเกตการณ์ และดูปริมาณน้ำเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเมื่อปี 65 อ่างเก็บน้ำแห่งนี้เกิดรอยรั่ว ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมเขตเทศบาลเมืองมหาสารคามมาแล้ว ซึ่งชาวบ้านเกรงว่าจะซ้ำรอยปี 65


ขณะที่ประตูระบายน้ำท่าสองคอน ต.ท่าสองคอน อ.เมือง เจ้าหน้าที่ได้ยกบานระบายน้ำขึ้นทั้ง 6 บาน เพื่อให้น้ำไหลลงสู่แม่น้ำชี และเดินเครื่องสูบน้ำ 3 เครื่อง จาก 4 เครื่อง เนื่องจากอีกเครื่องชำรุด และได้เร่งซ่อมแซมอย่างเร่งด่วนตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา ทำให้เมื่อช่วงเช้าวันนี้ เวลาประมาณ 8 โมง จึงสามารถเดินเครื่องได้ตามปกติ ซึ่งเครื่องสูบน้ำสามารถสูบน้ำได้ 3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีต่อหนึ่งเครื่อง เดินเครื่องวันละ 20 ชั่วโมง พัก 4 ชั่วโมง จะสามารถสูบน้ำได้วันละ 432,000 ลูกบาศก์เมตร

อีกทั้งยังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฮโดรโฟว์ ขนาด 24 นิ้ว เพื่อพร้อมรับสถานการณ์ โดยจะสามารถสูบน้ำได้ 3,600 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง


กำลังโหลดความคิดเห็น