มหาสารคาม -'อ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำแตก น้ำท่วมหนัก 4 ตำบลในเขต อ.บรบือ คาดพื้นที่เกษตรจมน้ำกว่า 10,000 ไร่ จังหวัดเร่งสำรวจความเสียหายพื้นที่เกษตร ปศุสัตว์ บ้านเรือน ก่อนให้ความช่วยเหลือ พร้อมประสานสำนักชลประทานที่ 6 นำเครื่องจักรกลหนักเร่งซ่อมแซมคันกั้นน้ำขาดให้กลับสู่ภาวะปกติ
ความคืบหน้าเหตุคันกั้นน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำขาด ส่งผลให้มวลน้ำมหาศาลไหลเข้าท่วมพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำอย่างน้อย 4 ตำบล ประกอบด้วย ต.กำพี้ ต.ดอนงัว ต.หนองม่วง และ ต.ยาง อ.บรบือ จ.มหาสารคาม มีพื้นที่ทางการเกษตรที่คาดว่าจะได้รับความเสียหายกว่า 10,000 ไร่
ล่าสุดวันนี้ (17 ก.ค.) จากการลงพื้นที่ตรวจสอบอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำพบว่าน้ำได้ไหลออกจากอ่างหมดแล้ว ซึ่งจุดที่คันกั้นน้ำขาดถือเป็นจุดที่ลึกที่สุด ทำให้มวลน้ำกว่า 5 ล้านลูกบาศก์เมตรไหลออกจนหมด คงหลงเหลือไว้เศษซากดินโคลนเท่านั้น โดยมีชาวบ้านนำเครื่องมือมาหาปลาภายในอ่างเก็บน้ำในจุดที่ยังมีน้ำหลงเหลืออยู่
นายศฎายุช ไชยลาด นายอำเภอบรบือ กล่าวว่า พื้นที่ความเสียหายจากเหตุคันดินกั้นน้ำห้วยเชียงคำขาด มีพื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะได้รับความเสียหายประมาณ 10,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบล ได้แก่ตำบลกำพี้ ตำบลหนองม่วง ตำบลดอนงัว และตำบลยาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่น้ำไหลผ่านเพื่อที่จะไปลงลำเสียวใหญ่ ซึ่งจุดต่อไปที่จะเป็นพื้นที่รับน้ำได้แก่พื้นที่อำเภอวาปีปทุม ต่อไปยังอำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด ไหลลงสู่ลำน้ำมูลต่อไป
ส่วนการให้ความช่วยเหลืออยู่ระหว่างสำรวจความเสียหายเรื่องของพื้นที่การเกษตร การปศุสัตว์ บ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย รวมถึงสาธารณูปโภค มีถนนได้รับความเสียหายหลายสาย ซึ่งเราได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระดมสรรพกำลังเพื่อดำเนินการซ่อมแซมให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด
ด้านนางปนิดา กุดนอก ชาวบ้านบ้านโคกกลาง หมู่ 10 ตำบลโนนราษี อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ที่นาของตนอยู่ท้ายอ่างเก็บน้ำมีพื้นที่ 7 ไร่ คาดว่าที่นาจะเสียหายประมาณ 50% คาดว่าปีนี้น่าจะไม่ได้ข้าว หรือได้ก็ได้เป็นส่วนน้อย อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือชดเชย หรือมีแนวทางการช่วยเหลืออื่นเพื่อเป็นกำลังใจให้ชาวบ้าน
รายงานข่าวแจ้งว่า ทางโครงการชลประทานมหาสารคามได้ประสานกับสำนักชลประทานที่ 6 กรมชลประทาน นำเครื่องจักรเข้าพื้นที่เพื่อเร่งซ่อมแซมคันกั้นน้ำจุดที่ขาด ความยาวประมาณ 60 เมตร โดยช่างได้ทำตาข่ายบรรจุหินในตะแกรงหรือทำหินเกเบียนเพื่อเตรียมนำไปวางตามจุดที่คันกั้นน้ำขาด
ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำปัจจุบันระดับน้ำอยู่ต่ำกว่าระดับกัดเซาะ โดยจะได้ดำเนินการ 1. ก่อสร้างทำนบดินชั่วคราวเหนือช่องขาด เพื่อปิดกั้นช่องขาด พร้อมทั้งเสริมความแข็งแรงด้วยกล่องเกเบียนบรรจุหินใหญ่ ป้องกันน้ำไหลผ่านและให้สามารถเก็บกักน้ำได้ ระยะเวลาดำเนินการ 1-2 วัน ประการต่อมา ดำเนินการก่อสร้างตัวเขื่อน ให้กลับคืนสู่สภาพเดิม และสุดท้ายก่อสร้างทางระบายน้ำล้นชั่วคราว เพื่อช่วยระบายในช่วงน้ำหลาก
สำหรับแนวทางแก้ปัญหาเร่งด่วนนั้น ได้นำเครื่องจักร เครื่องมือลงพื้นที่เข้าไปกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำลงลำน้ำเสียวใหญ่ ลดผลกระทบจากน้ำไหลลงสู่พื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำให้รวดเร็ว คาดว่าสามารถระบายน้ำได้ภายใน 5 วันจะกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งกรมชลประทานจะติดตามและควบคุมสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ