เลย - จังหวัดเลยพร้อมด้วยเหล่าศิลปิน นักศึกษาด้านสถาปัตยกรรมจากหลายสถาบันการศึกษาร่วมจัดนิทรรศการเวอร์นาด็อก (VERNADOC) เพื่อสร้างแนวคิด กระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น แบบบ้าน อาคาร หลังเก่าคู่ควรอนุรักษ์ให้ชนรุ่นหลังได้สัมผัส
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อาคารเก่าโรงภาพยนตร์อมรินทร์ ถนนสถลเชียงคาน เทศบาลเมืองเลย นายกิตติคุณ บุตรคุณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธาน เปิดนิทรรศการ "LOEI VERNADOC" โดยมีนายทนง สุวรรณสิงห์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเลย และเหล่าศิลปิน นักศึกษาด้านสถาปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ร่วมกันจัดนิทรรศการเวอร์นาด็อก (VERNADOC) ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างแนวคิด กระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น แบบบ้าน อาคาร หลังเก่าคู่ควรอนุรักษ์ให้ชนรุ่นหลังได้สัมผัส
นางสาววทัญญู มูลทองสุข สถาปนิก ผู้เชี่ยวชาญการสำรวจรังวัดด้วยวิธีเวอร์นาด็อก (VERNADOC) กล่าวว่า เวอร์นาด็อก (VERNADOC) คือกระบวนการเก็บข้อมูลสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นโดยสถาปนิกที่เหมาะกับแนวคิดการอนุรักษ์ ซึ่งหมายถึง กระบวนการศึกษาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น เน้นการเก็บข้อมูลจริงในพื้นที่ด้วยเทคนิคพื้นฐานอย่างการใช้มือ ดินสอ ปากกาเขียนแบบ และไม้บรรทัดเท่านั้น แต่สามารถได้คุณภาพของผลงานในระดับที่ดีเยี่ยม อย่างการเขียนแบบอาคาร และภูมิทัศน์ในท้องถิ่นต่างๆ โดยละเอียด ตรงกับความเป็นจริงในทุกองค์ประกอบอย่างมีมิติ แสงเงา สัดส่วนต่างๆ ของอาคาร รวมถึงร่องรอยความทรุดโทรม เพื่อให้ได้ความถูกต้อง แม่นยำ และสมจริง
การเขียนแบบด้วยมือนี้นับว่าเป็นสิ่งน่าประหลาดในโลกยุคดิจิทัลสมัยนี้ ที่เน้นการเขียนแบบจากเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มากกว่าจะเป็นการเขียนด้วยมือ ซึ่งคนรุ่นใหม่มักมองว่าเป็นสิ่งที่ล้าสมัย ตกยุค และดูตกสมัยสำหรับคนไทยสมัยใหม่ไปแล้ว เนื่องจากเห็นว่าทุกวันนี้โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคของเทคโนโลยีและความทันสมัย ส่งผลให้นักศึกษารุ่นใหม่ลืมเลือนประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในอดีต และหวาดกลัวที่จะเรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์หรือองค์ความรู้ดั้งเดิมนี้ อาจเนื่องด้วยสื่อความรู้และเอกสารที่เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของประเทศไทยนั้นมีจำนวนไม่มากและยากที่จะค้นหา จึงเกิดมีความคิดที่จะรวบรวมการศึกษาวิจัยให้นักศึกษาที่ได้รับมอบหมายในการออกไปสำรวจเหล่าสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอย่าง เรือนพื้นถิ่น วัด และโบราณสถานในชุมชนต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ และรับรู้ถึงพื้นฐานการออกแบบและองค์ประกอบต่างๆ ในสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของไทย เพื่อให้มีเครื่องมือที่ดีติดตัวไป รวมถึง ‘การเก็บเป็นฐานข้อมูล’ ที่สามารถนำไปใช้ศึกษาค้นคว้า เรียนรู้ และเป็นมรดกของชีวิตในอนาคตได้
การจัดนิทรรศการ "LOEI VERNADOC" ขึ้นครั้งนี้ก็เพื่อสร้างจิตสำนึกให้เห็นคุณค่าสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไทยแก่นักศึกษาคนรุ่นใหม่ที่ทุกวันนี้ได้รับการศึกษามาในรูปแบบตะวันตก ให้หันกลับมารับรู้และทบทวนสิ่งที่มีในอดีต เพื่อเป็นกำลังสำคัญทดแทนคนรุ่นเก่าๆ ในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไทเลยต่อไปในวันข้างหน้า และก็ได้รับความสนใจทั้งนักศึกษา ม.ราชภัฏเลย นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิค รวมทั้งชาวบ้านอำเภอด่านซ้าย หมู่บ้านนาหมูม่น หลังจากเราเข้าพื้นที่ และเข้าศึกษาการพัดทดน้ำ ซึ่งเป็นประติมากรรมมีชีวิต แห่งน้ำหมันในอดีต และเราได้ทำกระบวนการเวอร์นาด็อกขึ้นมา ชาวบ้านได้เกิดแนวคิดและได้อนุรักษ์ไว้ให้ชนรุ่นหลังเก็บไว้ดูตลอดไป รวมทั้งโรงหนังเก่าที่ จ.เลย และบ้านเรือนโบราณที่ยังคงคู่กับการอนุรักษ์ต่อไป