xs
xsm
sm
md
lg

(คลิป) ราชทัณฑ์หนุนแนวทาง “หับเผยคาเฟ่ by เรือนจำฯ”ให้ทั่ว ปท.หวังลดคนทำผิดกลับเข้าคุกซ้ำที่ยังมี 10%ทุกปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงราย - อธิบดีกรมราชทัณฑ์ดูเอง.."หับเผยคาเฟ่-คาร์แคร์” ร้านกาแฟ-บริการล้างรถฝีมือผู้ต้องขัง หลังเรือนจำกลางเชียงรายนำคำ จนท.เรียกขานขณะเข้า-ออก ตั้งชื่อร้านจนสะดุดตาสะดุดใจ หวังผุดทั่วไทยลดสถิติทำผิดซ้ำกลับคุกที่ยังคงเกิดขึ้นปีละ 10%


วันนี้ (8 ก.ค.) นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นประธานในพิธีเปิดร้าน “หับเผยคาเฟ่ by เรือนจำกลางเชียงราย” ต.ดอยฮาง อ.เมืองเชียงราย อย่างเป็นทางการ โดยมีนายพัศพงศ์ ใจคล่องแคล่ว ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงราย นำเจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมครบครัน

เรือนจำกลางเชียงรายเริ่มนำคำเรียกขานของ จนท.ที่เข้าออกเรือนจำเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในอดีตมาตั้งชื่อ-เปิดบริการมาตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมาแล้ว ภายในร้านมีบริการกาแฟรสดีจากดอยช้าง ชาเลิศ ขนม ฯลฯ รวมทั้งมีบริการล้างรถหรือคาร์แคร์ ร้านจำหน่ายสินค้าจากฝีมือผู้ต้องโทษในราคาที่ย่อมเยา ฯลฯ โดยมีผู้ต้องขังระดับชั้นกลางขึ้นไปหรือคงเหลือโทษจำคุกอีกไม่เกิน 3-5 ปี ทั้งผู้ต้องขังชายและหญิงเป็นผู้คอยให้บริการ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ทุกวัน

นายสหการณ์กล่าวว่า ย้อนกลับไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม พยายามปรับเปลี่ยนแนวนโยบายในการควบคุมผู้ต้องขัง หลังจากที่คนทั่วไปมักจะมองว่าเรือนจำเป็นสถานที่ที่ไม่น่าอภิรมย์หรือน่ากลัว ทางกรมราชทัณฑ์ก็พยายามสื่อสารไปถึงผู้ต้องขังและประชาชนทั่วไปได้เห็นคุณค่าของเลข 13 หลักในบัตรประจำตัวประชาชนว่ายังคงเป็นคนที่มีคุณค่าได้

โดยสามารถเข้ารับการฝึกอบรมอาชีพ และรายได้จากอาชีพที่ทำก็จะแบ่งให้ผู้ต้องขัง 70% ให้เจ้าหน้าที่ 10% และอีก 20% ใช้เป็นต้นทุนหมุนเวียน ทำให้พวกเขาจะได้ทั้งทักษะวิชาชีพและรายได้ระหว่างต้องโทษ เมื่อยังต้องโทษก็จะมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี เมื่อพ้นโทษออกไปก็จะสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ ไม่เฉพาะร้านกาแฟแต่ยังมีอื่นๆ อีกหลากหลายซึ่งสามารถนำไปประกอบอาชีพได้จริง เช่น ตัดผม ทำอาหาร ประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ของใช้ของฝากต่างๆ ฯลฯ


"สิ่งสำคัญคือสังคมยังให้โอกาสต่อเขา ถ้าสังคมไม่ให้โอกาส คนเหล่านี้ก็จะไม่มีที่ยืน ครั้งนี้จึงเป็นความสำเร็จของเรือนจำกลางเชียงรายที่จะทำให้สังคมได้เห็นศักยภาพและความสามารถของพวกเขาว่าพร้อมที่จะกลับสู่สังคมด้วยอาชีพที่สุจริต ด้วยคุณค่าของพลเมืองที่สามารถสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมได้อีกมากมาย"

นายสหการณ์กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีผู้ต้องขังทั่วประเทศประมาณ 300,000 คน และมีแนวโน้มว่าสังคมให้การยอมรับผู้ที่พ้นโทษออกไปมากขึ้น เทียบกับอดีตแล้วพบว่ามีผู้ออกไปทำงานอยู่กับภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ หรือแม้แต่เปิดกิจการเอง ทำงานด้านศิลปะ ภาคการเกษตร ฯลฯ ดังนั้นกรมราชทัณฑ์จึงมีนโยบายให้ยกระดับสร้างอาชีพให้ผู้ต้องราชทัณฑ์ให้ได้มากขึ้น

อธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าวถึงผู้ต้องขังที่พ้นโทษออกไปแล้วแต่กระทำความผิดซ้ำจึงกลับไปถูกคุมขังในเรือนจำอีกว่า เป็นเรื่องที่ท้าทาย และทางกรมราชทัณฑ์มีแนวทางที่จะลดจำนวนลงให้ได้ สถิติการกลับมาถ้าพูดตรงๆ ก็มีอยู่ 1 ปีก็ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ 2 ปีก็ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ 3 ปีก็ 30 เปอร์เซ็นต์ต้นๆ ก็ถือเป็นตัวเลขที่เขาเรียกว่าอยู่ในระดับนี้มาตลอด ไม่ได้เพิ่มสูงมากกว่านี้ แต่สิ่งสำคัญคือมันเป็นความท้าทายว่าเราจะทำอย่างไรให้สถิติตรงนี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง

อธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าวว่า สิ่งท้าทายที่จะต้องดำเนินการคือต้องสร้างงาน สร้างอาชีพ และให้การศึกษาแก่ผู้ต้องขัง โดยการศึกษาช่วยลดความเหลื่อมล้ำและเป็นช่องทางในการสร้างอาชีพได้ ขณะที่ผู้ต้องขังส่วนใหญ่มีตั้งแต่ไม่มีการศึกษาเลย หรือไม่จบการศึกษาภาคบังคับ ไม่จบระดับมัธยมปลายหรือ ปวช. ฯลฯ จึงจะต้องลดการเสียโอกาสโดยให้เข้าสู่การศึกษาทั้งสายสามัญและสายอาชีพ ซึ่งตนเชื่อมั่นว่าถ้าเราทำได้ดีและผู้ต้องขังมีความพร้อมก็จะลดสถิติการกลับสู่เรือนจำลงได้อย่างแน่นอน เนื่องจากมีอาชีพแล้วสามารถหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้




กำลังโหลดความคิดเห็น