xs
xsm
sm
md
lg

เวิร์คช้อปพิธีกรงานอีเว้นท์มืออาชีพรุ่นเยาว์ เพิ่มทักษะพร้อมรับการเติบโตอุตสาหกรรมไมซ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวขอนแก่น-ศูนย์ความเป็นเลิศอุตสาหกรรมไมซ์ฯร่วม สสปน.จัดเวิร์คช้อปพิธีกรไมซ์มืออาชีพรุ่นเยาว์
รุ่นแรกในภาคอีสาน มีนักศึกษาจาก 6 สถาบันเข้าร่วมโครงการ เผยบุคลากรเกี่ยวกับการจัดงานไมซ์งานอีเว้นท์ขาดแคลนไม่สอดรับกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น แนะเร่งผลิตแลยกระดับศักยภาพให้พร้อมรองรับ2งานใหญ่ในอีสาน มหกรรมพืชสวนโลกทั้งที่อุดรฯและโคราช



วันนี้(5ก.ค.)ที่ห้องฟ้ามุ้ย โรงแรมพูลแมน จ.ขอนแก่น ศูนย์ความเป็นเลิศอุตสาหกรรมไมซ์และอีเว้นเชิงธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่นภายใต้การสนับสนุนงบประมาณโดยฝ่ายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน) ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการหรือเวิร์คช้อปในโครงการการรับรองพิธีกรไมซ์มืออาชีพรุ่นเยาว์ 2567 (Young MICE Professional MC Certified 2024) มีนักศึกษาที่สนใจงานด้านพิธีกรหรือ MC จากสถาบันการศึกษาต่างๆในพื้นที่ภาคอีสานเข้าร่วมอบรมกว่า 100 คน

ผศ.ดร.ดลฤทัย โกวรรธนะกูล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศอุตสาหกรรมไมซ์และอีเว้นท์เชิงธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข) กล่าวว่าปัจจุบันนี้มีนักศึกษาหรือเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่เรียนด้านอุตสาหกรรมไมซ์หรือเรียนสาขาวิชาอื่นแต่สนใจงานด้านพิธีกร ยังขาดทักษะในการพูดในฐานะพิธีกรงานบนเวที การจัดฝึกอบรมหลักสูตร เทคนิคการเป็นพิธีกรในครั้งนี้ จึงเป็นประโยชน์อย่างมากทั้งในแง่การพัฒนาตนเอง การพัฒนาการพูดและการพัฒนาบุคลิกภาพ รวมถึงการยกระดับการพูดบนเวทีในฐานะพิธีกรให้เป็นมืออาชีพต่อไปในอนาคต

น้องๆนักศึกษาที่เข้ามาร่วมเวิร์คช้อป จะได้รับความรู้ ทักษะด้านพิธีกร สามารถพูด และทำหน้าที่พิธีกรในงานพิธีการต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง สามารถนำไปฝึกปฏิบัติ ต่อยอดเป็นพิธีกรระดับมืออาชีพได้ ออกรับงานอีเว้นท์ต่างๆ สร้างรายได้ให้กับตัวเองได้ เพราะแนวโน้มจังหวัดขอนแก่นหรือภาคอีสานจะมีการจัดงานประชุม สัมมนาหรืองานจัดแสดงระดับนานาชาติเพิ่มมากขึ้น บุคลากรด้านไมซ์ ซึ่งรวมถึงงานพิธีกรจึงมีความจำเป็นต้องเข้าไปเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของการจัดงาน การผลิตหรือการพัฒนาศักยภาพบุคคลากรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อให้สามารถรองรับกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมไมซ์ในภูมิภาคอีสาน


น.ส.อรชร ว่องพรรณงาม ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ องค์การมหาชน ระบุว่าโดยภาพรวมบุคลากรด้านอุตสาหกรรมไมซ์ของไทยยังถือว่าขาดแคลนค่อนข้างมาก ยิ่งในระยะหลังงานประชุมสัมมนาหรือการจัดนิทรรศการขนาดใหญ่ทั้งระดับชาติและนานาชาติได้กระจายออกไปจัดตามจังหวัดใหญ่ๆในภูมิภาคมากขึ้น โดยเฉพาะไมซ์ซิตี้ ความถี่ของการจัดงานอีเว้นท์จะมีเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การจัดงานแต่ละครั้งต้องใช้บุคคลากรที่เกี่ยวกับงานด้านต่างๆจำนวนไม่น้อย ขณะที่การพัฒนาบุคลากรในท้องถิ่นเข้าไปรองรับงานเหล่านี้ทำได้ไม่ทัน

กลุ่มเป้าหมายผู้เข้ารับการอบรมเพิ่มขีดความสามารถในการเป็นพิธีกรหรือเอ็มซีงานอีเว้นท์ในครั้งนี้ คือนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆซึ่งไม่จำเป็นต้องเรียนด้านไมซ์ เรียนด้านไหนก็ได้แค่สนใจและรักที่จะเข้าสู่อาชีพพิธีกร ตลอดการอบรมมีพิธีกรระดับมืออาชีพมาเล่าประสบการณ์ แนะเทคนิคการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้น้องๆได้เรียนรู้

 น.ส.ปัณพร วงษ์จันทร์เพ็ญ นายกสมาคมการค้าเพื่อการส่งเสริมด้านการเดินทางท่องเที่ยว(ไทย)
“หลังจากเวิร์คช้อปเสร็จ อยากให้น้องๆแต่ละสถาบันกลับไปรวมตัวจัดตั้งเป็นชมรมเยาวชนไมซ์มืออาชีพแล้วประสานความร่วมมือเป็นเครือข่ายระหว่างมหาวิทยาลัย ชมรมนี้จะเป็นศูนย์กลางอัพเดทข่าวสารต่างๆที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะการติดต่อเพื่อรับงานพิธีกรงานอีเว้นท์ ยิ่งเราได้ออกทำงานภาคสนามบ่อยขึ้นก็จะเรียนรู้พัฒนาการเป็นพิธีกรมืออาชีพได้เร็วขึ้น เรียนรู้จากการทำงานจริงๆ”น.ส.อรชรกล่าวและว่า

2 งานใหญ่ระดับนานาชาติที่จะจัดในภาคอีสานในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า คืองานมหกรรมพืชสวนโลก ทั้งที่ จ.อุดรธานีและนครราชสีมา เป็นงานจัดแสดงเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมการเกษตรที่ใหญ่มาก ต้องใช้บุคคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานทั้งออแกนไนซ์ ผู้ประสานงาน การจัดบูธ จัดหาอุปกรณ์ พิธีกร2ภาษา แต่ละฝ่ายแต่ละหน้าที่ต้องใช้บุคคลากรจำนวนมาก ดังนั้นประเทศไทยต้องเร่งผลิตและยกระดับศักยภาพทรัพยากรบุคคลด้านไมซ์ขึ้นมารองรับให้ทันและเพียงพอกับความต้องการ


ด้าน น.ส.ปัณพร วงษ์จันทร์เพ็ญ นายกสมาคมการค้าเพื่อการส่งเสริมด้านการเดินทางท่องเที่ยว(ไทย) กล่าวเสริมว่าการขยายตัวของอุตสาหกรรมไมซ์ของไทยเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีความจำเป็นต้องเร่งพัฒนาบุคลากรรองรับให้เท่ากับกับการเติบโต นอกจากพัฒนาและผลิตนักศึกษาคุณภาพออกมาสนองความต้องการของตลาดแล้ว กลุ่มบุคลากรที่เป็นครูผู้สอนก็ต้องได้รับการยกระดับความรู้ด้วยให้ทันกับความล้ำหน้าของเทคโนโลยี เราต้องยกระดับสู่มาตรฐานสากล ให้เป็นที่ยอมรับขององค์กรระหว่างประเทศ สร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมไมซ์ไทยให้ได้



กำลังโหลดความคิดเห็น