xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัย มมส ต่อยอด “เด็กปั้นปุ๋ย” เพิ่มมูลค่าขยะ ทำปุ๋ยอินทรีย์กว่า 8,000 กิโลฯ สร้างงาน-รายได้คืนชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหาสารคาม - นักวิจัยมหาวิทยาลัยมหาสารคามเดินหน้าสร้างนวัตกรรมและชุมชนต้นแบบสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน แก้ปัญหาขยะมูลฝอย ลดก๊าซเรือนกระจก และ PM 2.5 ล่าสุดผลิตปุ๋ยได้ถึง 8,000 กิโลกรัม ชุมชนมีรายได้เพิ่ม ลดรายจ่ายซื้อปุ๋ยเคมี มุ่งทำเกษตรอินทรีย์


ผศ.ดร.อภิพงษ์ พุฒคำ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในฐานะหัวหน้าโครงการการพัฒนาชุมชนคาร์บอนต่ำ กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่ร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจเด็กปั้นปุ๋ย ดำเนินการสาธิตระบบการผลิตปุ๋ย การใช้ระบบ loT (Internet of Things) การใช้ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ และการเก็บข้อมูลเพื่อยื่นขอรับรองการลดปริมาณคาร์บอนให้คนในชุมชน ที่โรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชุมชน หมู่ที่ 3 อบต.หนองโก อ.บรบือ จ.มหาสารคาม

ภายใต้โครงการการพัฒนาชุมชนคาร์บอนต่ำ ผ่านการจัดการผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัจฉริยะจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรและอุตสาหกรรม ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องปีนี้เป็นปีที่ 2 โดยคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับทุนสนับสนุนโครงการบริการวิชาการแบบบูรณาการ เพื่อสร้างนวัตกรรมและชุมชนต้นแบบสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

ก่อนเริ่มโครงการในปีแรก (ปี 2565) พบปัญหาในพื้นที่ คือเรื่องการจัดการขยะมูลฝอย ที่มีปริมาณมากถึง 2 ตันต่อวัน อีกทั้งมีวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรปนมาด้วย มีการจัดการขยะด้วยการเทกอง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เกิดก๊าซเรือนกระจก และ PM 2.5 ส่งผลเสียต่อสุขอนามัยของประชาชน อีกทั้งชาวบ้านพยายามรวมกลุ่มกันเพื่อแก้ปัญหา และเราเห็นความตั้งใจของชุมชน เลยทำงานร่วมกับนิสิต ซึ่งเรียกตัวเองว่า “เด็กปั้นปุ๋ย” ได้ไปขอทุนจากภาคเอกชน มีบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด และบริษัท น้ำตาลวังขนาย มาช่วย และได้มอบวัสดุที่เหลือใช้จากโรงงานมาใช้ทำปุ๋ยอินทรีย์




พอทำเสร็จในปีแรกพบปัญหาเรื่องการใช้แรงงาน เนื่องจากกระบวนการผลิตใช้แรงงานเยอะ ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย จึงทำต่อเนื่องในปีที่สอง (ปี 2566) ใช้กระบวนการของลีน (LEAN) คือทำกระบวนการให้มันเล็กลง ใช้เวลาน้อยลง ประหยัดต้นทุนขึ้น เข้ามาช่วยในการจัดการปุ๋ยของโรงเรือน ขณะเดียวกัน ใช้โซลาร์เซลล์มาช่วยลดการใช้พลังงาน เป็นลักษณะการใช้พลังงานหมุนเวียน

สำหรับในปีที่สาม คือปี 2567 นี้ ได้ดำเนินการเพิ่มกำลังการผลิตด้วยเครื่องจักรขนาดใหญ่ ลดเวลาทำงานและยื่นขอการรับรองการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก (LESS) ปรับระบบ LEAN ลดการสูญเสียเวลาการผลิตและสูญเสียผลิตภัณฑ์ มีการใช้ระบบ IoT (Internet of Things) เช็กความชื้น รดน้ำ ลดเวลาดูแลระบบ และนำระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาใช้


กระทั่งท้ายที่สุดของโครงการนี้ ได้เกิดผลผลิตและผลลัพธ์ที่เกิดประโยชน์ต่อชาวบ้านในมิติต่างๆ เช่น ผลิตปุ๋ยได้ถึง 8,000 กิโลกรัม มีระบบ IoT และใช้ hand lift ทุ่นแรง ส่งผลให้รายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 18 เท่าเมื่อเทียบกับปีแรก ลดรายจ่ายซื้อปุ๋ยเคมี ปุ๋ยที่ได้ขายต่อให้กับกลุ่มวิสาหกิจที่ทำเกี่ยวกับผักอินทรีย์ด้วย เพราะฉะนั้นจะทำให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าขึ้น ไม่ใช่เฉพาะชุมชนอย่างเดียว ยังขยายไปสู่ชุมชนรอบข้างได้ด้วย เป็นแหล่งเรียนรู้ของบุคคลทั่วไปและวิสาหกิจอื่นๆ ที่เข้ามาศึกษาดูงานและต่อยอดได้ และที่สำคัญคือลดปัญหาการเผาวัสดุการเกษตร ลดก๊าซเรือนกระจก ลดการใช้สารเคมี นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชาวบ้านในชุมชนอย่างยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น