เชียงราย – โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2..ศิลปินท้องถิ่นสุดเสียดาย ตร.เดินหน้าทุบทิ้งโรงพักเก่าเมืองพาน นายตำรวจน้ำดีจบวิทยาลัยเพาะช้าง แหกกฎ “เผ่า ศรียานนท์”สร้างตั้งแต่ปี 2495 จนถูกสอบ ชี้ควรอนุรักษ์ไว้
ขณะที่ตำรวจภูธร จว.เชียงราย ได้เริ่มให้เอกชนเข้ารื้อถอนอาคารโรงพัก สภ.พาน หลังเก่า ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน 2567 เป็นต้นมา ซึ่งระหว่างรื้อถอนถึงช่วงหลังคาได้มีประชาชนบางส่วนโดยเฉพาะบรรดาศิลปินต่างออกมาแสดงทัศนะที่ไม่เห็นด้วยและไว้อาลัยต่อการรื้อถอนดังกล่าว
"จักรพันธ์ ม่วงคล้าม" นักประวัติศาสตร์และนักอนุรักษ์ท้องถิ่นเมืองพาน ได้เผยแพร่ภาพเก่าของ สภ.พาน หลังเก่าผ่านเฟซบุ๊ก "Chakkrapan Muangkram" พร้อมข้อความขึ้นต้นว่า.."โฮงพักเมืองพาน"..ตำนานที่กำลังจะหายไป" และอธิบายว่าเมื่อทราบข่าวว่ามีการรื้อ สภ.พาน ทำให้รู้สึกเสียดายหากเหตุผลคือเพราะบดบังที่พักหรือแฟลตตำรวจที่กำลังสร้างใหม่ เพราะอาคารหลังเก่ามีคุณค่ามาก หากผู้มีอำนาจเป็นคนเมืองพาน เข้าใจและเห็นคุณค่าของประจักษ์พยานทางประวัติศาสตร์นี้ควรอนุรักษ์ปรับเปลี่ยนการใช้ตามบริบทของยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป
นักอนุรักษ์ท้องถิ่นฯ เล่าอีกว่า สภ.พาน นั้นทาง พ.ต.ต.สวัสดิ์ ตินะมาส ที่ดูแลโรงพักในอดีตเป็นผู้อำนวยการสร้างให้เป็นอาคารคอนกรีตหลังแรกๆ ของเมืองพาน ด้วยความที่เป็นนายตำรวจที่จบจากวิทยาลัยเพาะช่าง กรุงเทพฯ จึงออกแบบด้วยตนเองทำให้โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์กว่าสถานีตำรวจอื่นๆ ที่ยังเป็นอาคารไม้ เพราะได้รับการสนับสนุนจากร้านขายวัสดุก่อสร้างที่ให้ซื้อก่อนแล้วค่อยนำเงินเดือนมาผ่อนจ่ายทีหลัง จนเป็นที่ยกย่องของสังคม แต่ก็ทำให้ท่านถูกตั้งคณะกรรมการสอบวินัยไปด้วย กระนั้นอาคารก็สร้างแล้วเสร็จเป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือเป็นต้นแบบของอาคารราชการส่วนภูมิภาคในยุคหลังด้วย
อาจารย์พานทอง แสนจันทร์ ประธานกลุ่มศิลปินสล่าเมืองพาน กล่าวว่าเห็นอาคารหลังนี้มาตั้งแต่เกิดและอยู่คู่กับตลาด อ.พาน เป็นอาคารที่มีสถาปัตยกรรมแตกต่างจากโรงพักอื่นๆ คือเป็นอาคารปูนกึ่งไม้ที่ออกแบบโดยตำรวจที่จบวิทยาลัยเพาะช่างในยุคที่ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ดังนั้นในวันที่ 10 มิ.ย.นี้ ตนจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องและ ผกก.สภ.พาน ร่วมเสวนาเรื่อง "โรงพักพาน อดีตที่กำลังจะหายไป" ณ หอศิลปะและวัฒนธรรม อ.พาน"
ด้าน พ.ต.อ.จิตรกร ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผกก.สภ.พาน ชี้แจงว่าการรื้อถอนอาคารได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาระดับ ภ.5 และเป็นไปตามระเบียบพัสดุโดยอยู่ในขั้นตอนที่ผู้รับเหมาจะทำการรื้อถอน เพราะเป็นอาคารที่ชำรุดทรุดโทรม เช่น พื้นไม้ผุพัง ผนังผุกร่อน มีนกเข้าไปทำรังสะสมมูลจนเสี่ยงต่อการมีเชื้อโรค ฯลฯ รวมทั้งผ่านการสอบถามคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตารวจ. (กต.ตร.) ซึ่งเป็นตัวแทนภาคประชาชนแล้ว ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนรื้อถอนให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงขั้นตอนตามระเบียบพัสดุได้
ด้านเว็บไซต์ สภ.พาน ระบุว่าในปี พ.ศ.2495 มีงบประมาณให้ก่อสร้างอาคารที่ทีการสถานีตำรวจ อ.พาน ใหม่ และ ร.ต.อ.สวัสดิ์ ตินะมาส ผู้บังคับกองของสถานีไม่ได้สร้างตามแบบที่กรมตำรวจกำหนดให้เป็นอาคารไม้เหมือนที่ทำการสถานีตำรวจทั่วไป แต่ได้ออกแบบให้เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทย 2 ชั้น เสาคอนกรีต ฝาคอนกรีต พื้นชั้นล่างลาดซีเมนต์ พื้นชั้นบนเป็นไม้ตะเคียน หลังคามุงกระเบื้องลอนคู่ทรงไทย แบบ 2 ชั้น มีมุกหน้า-หลัง ชั้นล่างมี 4 ห้อง ขนาด 20x18 เมตร ฝาก่ออิฐฉาบปูนเรียบ 2 หน้า พื้นชั้นล่างลาดซีเมนต์ ชั้นบนปูด้วยไม้ตะเคียน หลังคามุงกระเบื้องลอนคู่ ประดับลายไทย ซึ่งเกินงบประมาณของทางราชการ ร.ต.อ.สวัสดิ์ จึงขอความร่วมมือจากประชาชนทั้งด้านวัสดุและการเงิน ระดมแรงงานตำรวจก่อสร้าง
ต่อมา ผบก.ภ.ขต 5 (ในขณะนั้น) ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ร.ต.อ.สวัสดิ์ แต่สรุปว่าไม่ได้ทุจริต แต่มีเจตนาสร้างให้มั่นคงแข็งแรงกว่าแบบที่กรมตำรวจกำหนด ทำให้ตำรวจที่มาปฏิบัติหน้าที่ต่างเทิดทูนและยกให้ ร.ต.อ.สวัสดิ์ เป็นปูชนียบุคคลของหน่วยเรื่อยมา.