xs
xsm
sm
md
lg

ชาวอุดรฯ หนุนรัฐบาลออก “หวยเกษียณ” มีเงินออมไว้ใช้ยามแก่เฒ่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นางสายสมร แม่ค้าเร่สลากกินแบ่งรัฐบาล
อุดรธานี - สุ่มความเห็นชาวอุดรฯ กรณีรัฐบาลจะออกหวยเกษียณ ต่างเห็นดีด้วยเพราะจะได้มีเงินออมนำมาใช้ยามแก่ชรา และเข้ากับค่านิยมคนไทยชอบเล่นหวยอยู่แล้ว ด้านประธานหอการค้าภาคอีสานแนะรัฐบาลดึงข้าราชการเกษียณกลับมาช่วยทำงานเหมือนสิงคโปร์หรือฮ่องกง

นายปิยะ พ่อค้าเฉาก๊วย
จากกรณี ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้ข่าวกับสื่อมวลชนว่ากระทรวงการคลังกำลังพิจารณานโยบาย “สลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ” หรืออาจเรียกสั้นๆ ว่า “สลากเกษียณ” หรืออย่างไม่เป็นทางการว่า “หวยเกษียณ” ซึ่งเป็นนวัตกรรมเชิงนโยบายที่รวมเอาลักษณะการชอบเสี่ยงดวงของคนไทยมาเป็นแรงจูงใจในการเก็บออมที่สามารถถอนเงินที่ซื้อสลากทั้งหมดออกมาได้ตอนเกษียณ (อายุ 60 ปี) นั้น

ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้สุ่มสอบถามความคิดเห็นประชาชนชาวอุดรธานีต่อนโยบายแนวคิด “สลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ” หรือ “สลากเกษียณ” “หวยเกษียณ” ดังกล่าว

นางสายสมร แม่ค้าเร่สลากกินแบ่งรัฐบาล บอกว่า “สลากเกษียณ” “หวยเกษียณ” หากรัฐบาลทำได้แบบนั้นก็ดี เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้ฝากออมเงิน เวลาแก่ชราไปก็จะได้เงินส่วนนั้นมาดูแลตัวเองหรือครอบครัว ส่วนตัวแล้วปัจจุบันตนมีวิธีออมเงิน คือฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์ธนาคาร ซึ่งก็ทำแบบนี้มาหลายปีแล้ว

ด้าน นายปิยะ พ่อค้าเฉาก๊วย บอกว่า วิธีการออมเงินของตนที่ทำมาคือการเก็บเงินใส่กระปุกออมสิน โครงการหวยเกษียณนั้น ส่วนตัวคิดว่าดี ซึ่งหากโครงการเริ่ม ตนก็จะร่วมโครงการแม้จะไม่ชอบเสี่ยงโชคก็ตาม

นายสวาท ธีรรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ขณะที่นายสวาท ธีรรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า วิธีการนี้จริงแล้วมันไม่ใช่เรื่องใหม่แต่มันเป็นเรื่องเดิม หากจำได้เรามีหวยออมสิน หวย ธ.ก.ส. และหวย ธอส. คือมันก็เหมือนการออมวิธีหนึ่งโดยมีเงื่อนไขให้จับรางวัลแล้วก็มีผลตอบแทนคือดอกเบี้ย จุดนี้มันไม่ต่างกัน ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องดีที่จะฝึกให้รู้จักการออม ที่สำคัญเรื่องนี้ตรงเทรนด์ของคนไทยที่ชอบในเรื่องของการเสี่ยงดวง และอย่างน้อยก็เก็บสะสมเอาไว้ใช้ยามชรา

“เงินมันจะมีมูลค่าน้อยลงไป เมื่อเกษียณหรือว่าเมื่อเข้าสู่วัยชราย่อมทำงานไม่ได้ เงินนี้มันจะถูกนำกลับมาใช้ แต่วงเงินมันจะไม่สูงเท่าเดิม เพราะว่าค่าของเงินมันก็จะลดลงไป แต่ก็ยังดีกว่าการไม่มีเงินเก็บเลย” นายสวาทระบุ และกล่าวต่อว่า

ต้องยอมรับว่าบ้านเรายังไม่ให้ความสำคัญต่อคนที่เขาเรียกว่าผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป โอกาสนี้อยากเรียกร้องให้รัฐบาลเอาคนที่เกษียณแล้วกลับมาทำงาน เหมือนสิงคโปร์หรือว่าที่ฮ่องกง ที่เขาให้ความสำคัญต่อผู้สูงอายุ คืออย่างน้อยก็เอามาทำงานเพื่อให้เขาเหล่านั้นมีรายได้ มีการเคลื่อนไหว เพื่อสุขภาวะร่างกาย “หวยบำนาญน่าจะเป็นอีกจุดหนึ่งที่เอามาจูงใจให้คนออกมาเก็บเงินไว้ใช้ยามชราได้ดี


สำหรับรายละเอียด “สลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ” เบื้องต้น (สามารถเปลี่ยนได้ภายหลัง) ดังนี้ 1. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ออกสลากขูดแบบดิจิทัล ใบละ 50 บาท เพื่อขายให้สมาชิก กอช. ผู้ประกันตน ม. 40 และแรงงานนอกระบบ (กลุ่มเป้าหมายจะเพิ่มเติมภายหลัง) ซื้อได้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน 2. สามารถซื้อสลากได้ทุกวัน แต่ออกรางวัลทุกวันศุกร์ เวลา 17.00 น. ผู้ถูกรางวัลจะได้เงินรางวัลทันที โดยที่เงินค่าซื้อสลากถูกเก็บเป็นเงินออม แม้ว่าจะถูกรางวัลหรือไม่ก็ตาม

3. รางวัลของ “ทุกวันศุกร์” กำหนดดังนี้ (อาจปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม) 3.1 รางวัลที่ 1 จำนวน 1,000,000 บาท จำนวน 5 รางวัล 3.2 รางวัลที่ 2 จำนวน 1,000 บาท จำนวน 10,000 รางวัล และ 4. “เงินค่าซื้อสลากทั้งหมดจะเป็นเงินออมของผู้ซื้อสลาก” (เงินสะสม) ซึ่งจะนำเงินส่งเข้าบัญชีเงินออมรายบุคคลกับ กอช. โดย กอช.จะเป็นผู้บริหารจัดการเงินจำนวนดังกล่าว และเมื่อผู้ซื้อสลากอายุครบ 60 ปี จะสามารถถอนเงินทั้งหมดที่ซื้อสลากมาทั้งชีวิตออกมาได้

นโยบายนี้จะเข้าแก้ไขปัญหาคนไทยแก่แต่จน แก่แต่ไม่มีเงินเก็บ เพราะการออมภาคสมัครใจในปัจจุบันไม่ได้ผล ต้องอาศัยการออมที่ผูกกับแรงจูงใจซื้อสลาก ถูกกฎหมาย เงินไม่หาย กลายเป็นเงินออมยามเกษียณ ถูกรางวัลได้เงินเลย ไม่ถูกทุกบาททุกสตางค์จะถูกเก็บเป็นเงินออมยามเกษียณ ซื้อมาก ได้ลุ้นมาก มีเงินออมมาก นโยบายนี้อยู่ระหว่างขัดเกลารายละเอียด และต้องใช้เวลาในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย (6 เดือน-1 ปี) ไม่เกิดขึ้นเร็วอย่างแน่นอน แต่จะเร่งรัดให้เร็วที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น