ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ม็อบชาวบ้านด่านขุนทดบุกศาลากลางฯ โคราช ยื่น 5 ข้อเรียกร้องแก้ปัญหาเหมืองโปแตช สุดแสบลอบปล่อยน้ำเสียสู่แหล่งน้ำธรรมชาติสร้างความเสียหายให้พื้นที่เกษตรเป็นบริเวณกว้าง พร้อมลักลอบเปลี่ยนแผนผังทำเหมืองทั้งหมด จี้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบพร้อมให้แก้ EIA ที่มีปัญหาทั้งหมด ด้านผู้ว่าณ โคราชรับปากเร่งแก้ไข พร้อมลงพื้นที่แบบฉายเดี่ยว 31 พ.ค.นี้
วันนี้ (28 พ.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่เมื่อวานนี้ได้มีกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ซึ่งเป็นชาวบ้านจากพื้นที่ 3 ตำบล ประกอบไปด้วย ต.หนองไทร, ต.หนองบัวตะเกียด และ ต.โนนเมืองพัฒนา อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา กว่า 100 คน ได้เดินทางมาชุมนุมที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) อ.เมืองนครราชสีมา และได้เคลื่อนขบวนมาที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ขอพบ นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เพื่อทวงถามความคืบหน้าการตรวจสอบโครงการเหมืองโปแตช พร้อมกับเรียกร้องขอให้หยุดการแก้ผังโครงการเหมืองโปแตชของบริษัท ไทยคาลิ ที่กำลังเปลี่ยนจุดขุดอุโมงค์ใหม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่แต่เดิมเผชิญภาวะดินเค็ม-น้ำเค็ม กระทบที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยมาก่อนแล้วนั้น
ทั้งนี้ บรรยากาศช่วงเย็นวันที่ 27 พ.ค. สถานการณ์เริ่มร้อนระอุ เมื่อกลุ่มชาวบ้านรอพบผู้ว่าราชการจังหวัดฯ เป็นเวลานานกว่า 3 ชั่วโมงแต่ไม่ได้พบ จึงได้มีการบุกเข้าไปในศาลากลางจังหวัดฯ และมีการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 10 นาย ที่มารักษาความปลอดภัยซึ่งยืนขวางไว้ โดยมี นายอาทิตย์ ชามขุนทด ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา เข้ามาเจรจา พร้อมกับแจ้งว่าผู้ว่าราชการจังหวัดฯ กำลังเดินทางไปตรวจสุขภาพที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะนี้กำลังตีรถกลับมาเพื่อพบกับกลุ่มชาวบ้าน จึงทำให้กลุ่มชาวบ้านใจเย็นลง และปักหลักรออยู่ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด
นางจงดี มินขุนทด อายุ 49 ปี ชาวบ้านสระขี้ตุ่น หมู่ที่ 6 ต.หนองบัวตะเกียด อ.ด่านขุนทด เปิดเผยว่า การเดินทางมาชุมนุมในครั้งนี้เพื่อทวงถามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้าน หลังจากที่เคยมาเรียกร้องไว้กับผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาคนเดิมที่เพิ่งย้ายไป ข้อเรียกร้องต่างๆ ก็ไปตามด้วย ดังนั้นวันนี้จึงต้องมาทวงถามกับผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ท่านใหม่ ที่เพิ่งมารับตำแหน่งไม่นาน นอกจากนี้ก็เข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูเพาะปลูก แต่ยังมีปัญหาเหมืองโปแตชปล่อยน้ำเสียให้รั่วไหลเข้าสู่แหล่งน้ำธรรมชาติเหมือนเดิม
โดยหากไม่ได้พบผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ชาวบ้านก็จะปักหลักชุมนุมเรียกร้อง โดยค้างแรมอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดฯ ตรงนี้จนกว่าจะได้พบกับผู้ว่าฯ และจะปักหลักอยู่จนกว่าจะได้รับข้อยุติเป็นที่น่าพอใจของชาวบ้านจึงจะกลับบ้าน
หลังจากนั้นในช่วงเวลา 16.45 น. นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ก็เดินทางมาถึงศาลากลางจังหวัดฯ เพื่อรับเรื่องจากกลุ่มชาวบ้านที่บริเวณบันไดทางขึ้นศาลากลางจังหวัดฯ ก่อนที่เวลา 17.45 น.จะมีการเข้าไปประชุมร่วมกันทั้งหมด ในห้องประชุมท้าวสุรนารี ชั้น 1 ศาลากลางจังหวัดฯ โดยมีนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ นั่งเป็นประธาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น นายอานันท์ ฟักสังข์ รักษาราชการรองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.), นายสุรพันธ์ ศิลปสุวรรณ รองผู้ว่าฯ, ตัวแทนจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 11 นครราชสีมา, ตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา, ศูนย์ดำรงธรรม, กอ.รมน. และตัวแทนกลุ่มชาวบ้านที่มาเรียกร้องครั้งนี้ ร่วมประชุม
โดยชาวบ้านได้ร้องเรียนความเดือดร้อนจากการดำเนินการของเหมืองแร่โปแตช ไทยคาลิ ที่มีการปล่อยให้มีน้ำเสียรั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ สร้างความเสียหายให้พื้นที่การเกษตรเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งนายชัยวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้รับทราบเรื่องร้องเรียน และรับข้อเสนอของชาวบ้านที่ต้องการให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนใน 5 เรื่อง
ได้แก่ 1. ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบอุโมงค์ใต้ดินที่มีการปล่อยให้น้ำเสียรั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ 2. ให้ยุติการลักลอบเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการทำเหมืองทั้งหมด 3. ให้ปิดโรงต้มเกลือในเหมืองทั้งหมด 4. แก้ไขรายงาน EIA ที่มีปัญหาทั้งหมด และ 5. ให้ตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบคณะกรรมการตามข้อที่ 1 หลังจากนั้นจึงได้ทำบันทึกข้อตกลงครั้งนี้
ทางด้าน นายชัยวัฒน์ ผู้ว่าฯ นครราชสีมา รับปากว่าหลังจากกลับมาจากตรวจสุขภาพ ในวันที่ 31 พ.ค.นี้จะลงพื้นที่ไปตรวจสอบผลกระทบต่างๆ ที่ อ.ด่านขุนทด ด้วยตนเองเพียงลำพัง จึงทำให้กลุ่มชาวบ้านรู้สึกพอใจ และปิดการประชุมในเวลา 20.00 น. ก่อนที่นายชัยวัฒน์จะเดินลงมานั่งชมหนังสั้นที่ชาวบ้านทำกันเองเกี่ยวกับผลกระทบจากเหมืองแร่โปแตช และความเดือดร้อนของชาว อ.ด่านขุนทด ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา
นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า วันนี้เป็นเรื่องที่ดีที่กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนจะได้มาพูดคุยกันกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจากการพูดคุยกันก็ได้ผลสรุปร่วมกันใน 5 เรื่อง ได้แก่ 1. ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบอุโมงค์ใต้ดินที่มีการปล่อยให้น้ำเสียรั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ 2. ให้ยุติการลักลอบเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการทำเหมืองทั้งหมด 3. ให้ปิดโรงต้มเกลือในเหมืองทั้งหมด 4. แก้ไขรายงาน EIA ที่มีปัญหาทั้งหมด และ 5. ให้ตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบคณะกรรมการตามข้อที่ 1
หลังจากนี้จะได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานราชการ เพื่อให้การทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ เรื่องใดๆ ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการในเหมืองโปแตช ก็จะได้ไปตรวจสอบเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายไม่มีข้อยกเว้น จึงขอให้ชาวบ้านสบายใจได้
"ส่วนการลงพื้นที่ในวันที่ 31 พ.ค.นั้น ในที่ประชุมอยากให้ผมลงพื้นที่ไปคนเดียว เพื่อไปดูผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสถานที่จริง ดังนั้นในวันดังกล่าวก็ไม่อยากให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำชุมชน มาต้อนรับหรือนำไปดูพื้นที่ เพื่อให้เป็นกลางที่สุด จะได้มีความสบายใจทั้งสองฝ่าย" นายชัยวัฒน์กล่าวในตอนท้าย