ตาก - ชาวบ้านรอบบ่อแคดเมียมตาก รวมตัวยื่นหนังสือค้านขนสารอันตรายกลับถิ่นกำเนิด..เบื้องต้นพบบ่อกักเก็บมีรอยร้าวชัด ผวาผลกระทบซ้ำรอยนาข้าวแม่ตาวในอดีต บอกขาย-ส่งออกรวดเดียวดีสุด แต่ถ้าจะขนกลับต้องทำ EIA
กรณีพบแคดเมียม สารอันตรายที่บริษัทแห่งหนึ่งใน ต.หนองบัวใต้ อ.เมืองตาก เล็ดลอดไปยังจังหวัดสมุทรสาคร ชลบุรีและกรุงเทพมหานคร ทำให้ประชาชนจำนวนมากวิตกกังวลกับผลกระทบที่จะได้รับจากสารแคดเมียม ทางผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครได้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ห้ามเคลื่อนย้ายสารแคดเมียมและเข้าใกล้บริเวณที่กักเก็บ เนื่องจากเป็นสารอันตรายต่อสุขภาพ และเตรียมส่งสารแคดเมียมทั้งหมดกลับมายังถิ่นกำเนิดที่จังหวัดตาก แต่ก็ถูกชาวบ้านในพื้นที่ต่อต้านคัดค้านและไม่เห็นด้วยกับการนำกลับมาฝังกลบไว้ที่เดิม เนื่องจากเกรงผลกระทบจากสารพิษอันตราย ซ้ำรอยแคดเมียมปนเปื้อนนาข้าวแม่ตาวในอดีต
ล่าสุดวันนี้ (17 เม.ย.) นายอานันท์ ฟักสังข์ ผู้อำนวยการกองวิศวกรรมบริการ รักษาราชการแทนรองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ พร้อมคณะเดินทางมาตรวจสอบสถานที่กักเก็บสารแคดเมียม บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่เลขที่ 94 หมู่ที่ 1 ถนนพหลโยธิน กม.409-410 ต.หนองบัวใต้ อ.เมืองตาก ซึ่งเป็นโรงงานกักเก็บกากอุตสาหกรรม สารแคดเมียม เป็นต้นทางของการขนสารแคดเมียมไปที่จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดชลบุรี และกรุงเทพมหานคร เพื่อตรวจดูความพร้อมของสถานที่ก่อนที่จะนำสารแคดเมียมกลับมายังถิ่นกำเนิดจังหวัดตาก โดยมีนายสุรพล วงศ์สุขพิศาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก พร้อมด้วยหัวหน้ากลุ่มพื้นฐานและการเหมืองแร่ สนง.อุตสาหกรรมจังหวัดตาก ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตาก ร่วมตรวจพื้นที่
นายอานันท์เปิดเผยว่า จังหวัดตากเป็นถิ่นกำเนิดของสารแคดเมียม และเป็นต้นทางของการแพร่กระจายไปยังจังหวัดสมุทรสาคร ชลบุรี และกรุงเทพมหานคร ทั้งหมด 13,800 ตัน เป็นแคดเมียมที่ขุดขึ้นมาจากบ่อกักเก็บ 2 บ่อ ดังนั้นการนำมาไว้ที่เดิมคงไม่มีปัญหาอะไร แต่จะต้องมีการปรับปรุงซ่อมแซมส่วนที่เสียหายให้กลับมาใช้งานได้ดีดังเดิม
ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบความพร้อมของบ่อกักเก็บทั้งสองแห่งให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ สามารถป้องกันการรั่วไหลของสารแคดเมียม ไม่ให้ออกไปสู่ภายนอกต้องมีการป้องกันอย่างดีไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นทางอากาศและทางน้ำ ต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบก่อนและหลังฝังกลบ รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบสภาพแวดล้อม ป้องกันสารแคดเมียมฟุ้งกระจายไปยังที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชุมชนพื้นที่การเกษตรและแม่น้ำลำคลอง ให้มีความปลอดภัยสูงสุด
อย่างไรก็ตาม ระหว่างนั้นชาวบ้านทั้ง 7 หมู่บ้านตำบลหนองบัวใต้ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการขนแคดเมียมกลับบ่อเดิม ซึ่งนายอานันท์ชี้แจงว่าวันนี้ตนและคณะมาตรวจสอบพื้นที่การเตรียมความพร้อมบ่อฝังกลบ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ส่งทีมเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบความแข็งแรงปลอดภัยของบ่อ ร่วมกับโยธาธิการจังหวัดตาก และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยจะตรวจสอบพื้นบ่อที่ปูด้วยแผ่นพลาสติก HDPE หนา 1.5 มม. จำนวน 2 ชั้น ว่าอยู่ในสภาพที่ดี ไม่มีการฉีกขาด สามารถป้องกันการรั่วไหลของกากได้ รวมทั้งตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของพื้นปูนและขอบบ่อในภาพรวม หากไม่มั่นคงแข็งแรงก็จะสั่งการให้มีการปรับปรุงให้เรียบร้อยโดยเร็ว
ทั้งนี้ ในระหว่างการฝังกลบกากแคดเมียม จะต้องมีการสเปรย์น้ำที่บ่อฝังกลบระหว่างเคลื่อนย้ายกากลงหลุม เพื่อกันการแพร่กระจายของฝุ่นผง และการปรับเสถียรในบ่อฝังกลบ เมื่อนำกากลงบ่อจนหมดแล้ว จะทำการเกลี่ยกากในบ่อให้เรียบแล้วเททราย จากนั้นปูทับด้วยพลาสติก HDPE อีกชั้น ก่อนที่จะเทคอนกรีตเสริมเหล็กปิดบ่อเป็นขั้นตอนสุดท้าย
นายอานันท์กล่าวว่า การขนย้ายสารแคดเมียม ซึ่งเป็นสารอันตราย ต้องขนย้ายด้วยความระมัดระวัง ต้องใช้รถที่จัดเก็บอย่างมิดชิด ระหว่างขนย้ายต้องไม่มีการฟุ้งกระจายของผงฝุ่นแคดเมียม ซึ่งจะปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมโดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบระหว่างขนย้ายรถทุกขบวนเพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชน ตั้งแต่ต้นทางขนย้ายจนสิ้นสุดกระบวนการฝังกลบ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทุกคนทำงานทุกขั้นตอนด้วยความระมัดระวัง และความปลอดภัยอย่างดีที่สุด การทำงานทุกขั้นตอนเป็นไปด้วยความโปร่งใส
ด้านนางปาริชาด อ่อนละม่อม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 บ้านห้วยทราย 2 ตำบลหนองบัวใต้ กล่าวว่า ชาวบ้านเป็นห่วงในความปลอดภัย สารแคดเมียม ซึ่งเป็นสารอันตราย เนื่องจากชาวบ้านตำบลหนองบัวใต้ที่อยู่รายล้อมใกล้กับหลุมฝังกลบแคดเมียมจำนวนมาก และที่ผ่านมาเคยเจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงไม่ต้องการให้นำกลับมาไว้ที่เดิม ให้บริษัทไปแปรรูปหรือนำไปสร้างมูลค่าเพิ่ม จะดีกว่านำกลับมาฝังกลบที่เดิม ซึ่งเป็นอันตรายต่อชุมชน
และถ้าต้องขนกลับ ก็ต้องให้หน่วยราชการที่เป็นกลางมีส่วนร่วมในการตรวจสอบในด้านความปลอดภัยของสถานที่กักเก็บว่ามีความสมบูรณ์หรือต้องซ่อมแซมในส่วนชำรุดเสียหาย ให้มีการตรวจสอบ EIA ทุกขั้นตอนให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของบริษัทที่รับผิดชอบ เพื่อความสบายใจของชาวบ้าน
“ถ้าเป็นไปได้ขอไม่เอาสารแคดเมียมกลับมา เพื่อความสบายใจของชาวบ้านที่อยู่ใกล้กับบ่อกักเก็บสารอันตราย โดยชาวบ้านจะคัดค้านการขนกลับมาของสารแคดเมียมอย่างสงบ ไม่ใช้ความรุนแรงและจะไม่มีการปิดถนนทางเข้าบ่อกักเก็บสารแคดเมียมตามที่เป็นข่าว”
นายคริษฐ์ ปานเนียม ส.ส.ตาก เขต 1 พรรคก้าวไกล กล่าวว่า การขนย้ายสารแคดเมียมกลับมา ทุกขั้นตอนประชาชนต้องมีส่วนร่วมและจะต้องทำ EIA เพราะมันคือความปลอดภัยของประชาชน ที่ผ่านมาการขนย้ายจากถิ่นกำเนิด ประชาชนไม่ทราบ มาทราบข่าวอีกทีทางสื่อต่างๆ การขนกลับมาประชาชนยังไม่มั่นใจในความปลอดภัยของสารอันตราย เพราะที่นี่คือบ้านของเขา กลัวมลภาวะเป็นพิษต่อสภาพแวดล้อม ในส่วนของตัวเองต้องดำเนินคดีต่อบริษัทที่รับผิดชอบก็ขอให้ทุกภาคส่วนทำงานด้วยความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ และบริษัทที่เกี่ยวข้องจะไม่มีการลักลอบขนสารแคดเมียมออกไปอีก