บุรีรัมย์ - สธ.บุรีรัมย์เผยสำนักครอบหม้อแกงเปิดตาทิพย์ “อาจารย์ปู่ตรัย” รักษาสารพัดโรค ไม่ได้ขึ้นทะเบียนหมอพื้นบ้านไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่ารักษาโรคได้ ซ้ำใช้ภาชนะเดียวกันหลายคนเสี่ยงติดเชื้อทางการสัมผัสและหายใจ เตือน ปชช.ใช้วิจารณญาณรักษาที่เกี่ยวกับความเชื่ออาจเสียโอกาสรักษาทางการแพทย์ และซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต้องมี อย.
วันนี้ (16 พ.ค.) ความคืบหน้ากรณีที่มีการเผยแพร่คลิปภาพทางโลกโซเชียลฯ อาจารย์ปู่ตรัย เป่ามหาระงับอาศรม อโรคยาประโคนชัย บุรีรัมย์ ระบุวิชาครอบหม้อเปิดตาที่สาม เปิดตาทิพย์ แสงพุ่งจ๊วดดดด ซึ่งเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่แปลกออกไป คือ การเอาหม้อแกงอะลูมิเนียมมาครอบศีรษะผู้ที่เข้าไปรักษา แล้วเอาวัสดุบางอย่างไปเคาะก้นหม้อ แล้วเปิดหม้อแกงออกมา พร้อมกับเอ่ยปากว่า “เปิดตาทิพย์เปิดตาที่สาม” จนกลายเป็นกระแสฮือฮา กระทั่งมีหลายหน่วยงานลงพื้นที่ไปตรวจสอบสำนักครอบหม้อดังกล่าว แต่ทางผู้ดูแลไม่อนุญาตให้เข้าด้านใน โดยบอกว่าต้องมีหมายค้นก่อนนั้น
ล่าสุดวันนี้ ทพ.จีรศักดิ์ ทิพย์สุนทรชัย รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ออกมาระบุถึงกรณีดังกล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นสถานบริการแห่งนี้ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนเกี่ยวกับการรักษาโรคใดๆ ส่วนกรณีการใช้หม้อแกงครอบศีรษะก็ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่จะยืนยันว่าจะรักษาโรคอะไรได้ ซึ่งผู้ที่ทำการรักษาที่เรียกตัวเองว่าอาจารย์ตรัย ก็ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นหมอพื้นบ้าน
และจากการตรวจสอบยังไม่มีคุณสมบัติที่จะขึ้นทะเบียนเป็นหมอพื้นบ้านได้ตามนิยามของกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงการรักษาโรคที่อ้างสรรพคุณต่างๆ ก็ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่จะยืนยันได้ว่าจะรักษาโรคต่างๆ ให้หายได้จริง ซึ่งพี่น้องประชาชนที่จะไปรับบริการต้องระมัดระวัง ด้วยว่าการที่ใช้หม้อหรืออุปกรณ์เดียวกันมาครอบศีรษะหลายๆ คน เสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการสัมผัสทางผิวหนัง หรือการสูดดมเข้าไปในร่างกาย
จากข้อมูลทราบว่าอาศรมแห่งนี้ได้มีการจำหน่ายสบู่ให้กับผู้มาใช้บริการด้วยนั้น ถือว่าสบู่เป็นเครื่องสำอางประเภทหนึ่ง ซึ่งหากรับมาจำหน่ายมี อย.หรือจดทะเบียนชัดเจนถูกต้องก็ไม่มีปัญหา แต่หากผลิตขึ้นเองก็ต้องไปตรวจสอบว่าได้ขอ อย.ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งต้องตรวจสอบดูอีกทีแต่ตอนนี้ยังไม่ทราบเพราะยังไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบด้านในได้
ส่วนประเด็นการนวดหรือกดจุดเพื่อรักษาโรคนั้น คนที่จะทำการรักษาต้องผ่านการอบรมของกระทรวงสาธารณสุขไม่ต่ำกว่า 150 ชั่วโมง ซึ่งผู้ที่ผ่านการอบรมต้องได้รับใบประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขรับรองด้วย รวมทั้งหากจะเปิดให้บริการนวดกดจุดต้องขออนุญาตที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในแต่ละพื้นที่
อยากฝากประชาสัมพันธ์ถึงประชาชนที่จะไปรับบริการไม่ว่าจะนวดกดจุด ซื้อผลิตภัณฑ์ หรือรักษาตามความเชื่อต่างๆ ขอให้ใช้วิจารณญาณอย่างถี่ถ้วนว่ามีหลักฐานเชิงวิทยาศาสตร์หรือวิทยาการทางการแพทย์รองรับหรือไม่ ไม่เช่นนั้นอาจจะเสียเงิน เสียเวลา และเสียโอกาสที่จะได้รับการตรวจรักษาทางการแพทย์อย่างถูกวิธี ส่วนการซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาใช้ต้องตรวจสอบด้วยว่ามีเครื่องหมาย อย.ถูกต้องหรือไม่ ส่วนการโฆษณาชวนเชื่อในการรักษาว่าเกินจริงหรือไม่นั้น ก็ต้องตรวจสอบด้วยเช่นกัน
"อย่างไรก็ตาม หากประชาชนที่ไปใช้บริการสถานที่แห่งนี้แล้วได้รับผลกระทบหรือผลข้างเคียง สามารถแจ้งหรือร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ เพื่อจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการต่อไป" ทพ.จีรศักดิ์กล่าวในตอนท้าย