xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.พิจิตรจับมือชลประทาน เร่งเคลียร์โครงการ ปตร.วังจิก กั้นแม่น้ำยมงบ 231 ล้าน 8 ปียังสร้างไม่เสร็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พิจิตร - ชาวนาลุ่มน้ำยมร้องทุกข์ ป.ป.ช.พิจิตร..ข้องใจโครงการสร้างฝายวังจิก 1 ใน 5 ขั้นบันไดกักน้ำน้ำยม ผ่านมา 8 ปีสร้างไม่เสร็จ-ไม่มีน้ำทำนา ขณะที่กรมชลฯ พาแจงหน้างาน บอกผู้รับเหมาทิ้งงาน แต่เลิกสัญญาแล้ว-หารายใหม่ทำ คาดเสร็จเมษาฯ 69


นายธนบดี รักสัตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 3 นายฉัตรชัย ทองปอนด์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิจิตร ได้นำนายวราพงษ์ อินต๊ะโมงค์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดพิจิตร พร้อมเจ้าหน้าที่กลุ่มงานป้องกันการทุจริต และนายสมยศ เอมใจ นายกเทศมนตรีตำบลโพธิ์ประทับช้าง ตลอดจนแกนนำเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำลุ่มน้ำยม ประมาณ 20 คน ลงพื้นที่ปลายสัปดาห์นี้

เพื่อดูจุดก่อสร้างโครงการฝายบ้านวังจิก ต.วังจิก อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ซึ่งเป็นอาคารบังคับน้ำ 1 ในบันได 5 ขั้นของกรมชลประทาน ที่ดำเนินการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำยมเป็นช่วงๆ แบบขั้นบันได

จุดแรกคือ ที่ประตูระบายน้ำท่านางงาม ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก สร้างเสร็จ 100% สามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 7.60 ล้าน ลบ.ม. ครอบคลุมพื้นที่ 51,357 ไร่ ในพื้นที่ 5 ตำบลของ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก คือ ต.ชุมแสงสงคราม ต.ท่านางงาม ต.คุยม่วง ต.บางระกำ ต.บึงกอก ใช้ประโยชน์ได้แล้วเมื่อฤดูน้ำหลากปีที่ผ่านมา (เป็นโครงการกรมชลประทานดำเนินการเอง)


จุดที่ 2 ประตูระบายน้ำบ้านท่าแห ต.กำแพงดิน อ.สามง่าม จ.พิจิตร ผลการดำเนินงาน 83% คาดว่าฤดูน้ำหลากปี 2567 จะเสร็จแล้วทันกักเก็บน้ำเพื่อช่วยชาวนาพิจิตร-พิษณุโลก (เป็นโครงการกรมชลประทานดำเนินการเอง)

จุดที่ 3 ประตูระบายน้ำสามง่าม (ฝายไฮดรอลิกพับได้) บ้านจระเข้ผอม ต.รังนก อ.สามง่าม จ.พิจิตร ซึ่งใช้งบประมาณ 180 ล้านบาทในสมัยนั้น คือตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. 2563 ผลการดำเนินงานใช้งานได้มา 4 ปีแล้ว (เป็นโครงการกรมชลประทานดำเนินการเอง) พื้นที่รับประโยชน์ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยม ครอบคลุมพื้นที่นาข้าวที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 3 หมื่นไร่เศษ ต.สามง่าม ต.รังนก ต.กำแพงดิน สามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 16 ล้าน ลบ.ม.

จุดที่ 4 ประตูระบายน้ำวังจิก ต.วังจิก อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร (เป็นโครงการว่าจ้างผู้รับเหมา) ด้วยงบ 231 ล้านบาทเศษ ทำสัญญาว่าจ้างตั้งแต่ปี 2559 แต่ขณะนี้คืบหน้าแค่ 60% เนื่องจากผู้รับเหมาขาดสภาพคล่องทิ้งงาน ทำให้ ป.ป.ช.พิจิตร และผู้เกี่ยวข้องของกรมชลประทานต้องลงพื้นที่ชี้แจงให้ชาวบ้านได้รับรู้ถึงแนวทางแก้ไขปัญหาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป


จุดที่ 5 ประตูระบายน้ำโพธิ์ประทับช้าง ต.ไผ่ท่าโพ อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร งบก่อสร้าง 735 ล้านบาท สามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 5.10 ล้าน ลบ.ม. แผนดำเนินการก่อสร้างปี 2564-2569 (เป็นโครงการกรมชลประทานดำเนินการเอง) ผลการดำเนินงาน 42.74% คาดว่าเมื่อสร้างแล้วเสร็จจะมีพื้นที่ 3 ตำบล 2 อำเภอของพิจิตร คือ ต.วังจิก ต.ไผ่รอบ อ.โพธิ์ประทับช้าง และ ต.บางลาย อ.บึงนาราง จ.พิจิตร ฝั่งขวาแม่น้ำยม ได้รับประโยชน์ มีน้ำทำนาอย่างอุดมสมบูรณ์ 28,863 ไร่

นายวราพงษ์ อินต๊ะโมงค์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดพิจิตร เปิดเผยว่า ลงพื้นที่เพื่อติดตามเฝ้าระวังป้องกันการทุจริตและให้คำแนะนำถึงการดำเนินการ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เกิดประโยชน์ต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด รวมถึงหากพบปัญหาก็จะได้ร่วมกันแก้ไขเพื่อให้โครงการก่อสร้างสำเร็จลุล่วง


เช่นเดียวกับ นายฉัตรชัย ทองปอนด์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิจิตร ที่ให้สัมภาษณ์ว่า กรมชลประทานมีแผนก่อสร้างประตูระบายน้ำหรือฝายกักเก็บน้ำในแม่น้ำยมเป็นช่วงๆ แบบขั้นบันได ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งถูกต้องถูกใจเกษตรกร แต่ปัญหาติดขัดเรื่องการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำที่ฝายบ้านวังจิกที่ผู้รับเหมาทิ้งงาน ซึ่งขณะนี้กรมชลประทานได้บอกเลิกสัญญาและจะหาผู้รับจ้างรายใหม่มาดำเนินการตาม Time Line ตามระเบียบและข้อกฎหมาย เชื่อมั่นว่าปี 69 จะได้ใช้ประโยชน์อย่างแน่นอน

ขณะที่นายธนบดี รักสัตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงสำหรับการก่อสร้างโครงการฝายบ้านวังจิก ให้สัมภาษณ์เพียงสั้นๆ ว่า ปัญหาเกิดขึ้นจากผู้รับจ้างหรือผู้รับเหมาที่ทำสัญญารับจ้างเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559 วงเงินค่าก่อสร้าง 231 ล้านบาทเศษ ขาดสภาพคล่องและทิ้งงาน มีผลงานสะสมทั้งโครงการ 60.77% ขณะนี้กรมชลประทานได้บอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 รวมถึงดำเนินการสรุปตรวจสอบค่าเสียหาย, ดำเนินการจัดทำราคากลางใหม่, ทำหนังสืขออนุมัติในหลักการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ โดยคาดว่าจะได้ผู้รับจ้างรายใหม่ที่จะเข้ามาดำเนินการก่อสร้างในส่วนที่เหลือ และคาดว่า ปตร.วังจิกแห่งนี้จะแล้วเสร็จในราวเดือนเมษายน 2569
กำลังโหลดความคิดเห็น