สุราษฎร์ธานี - ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 8 ต.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี สุดทน ยื่นหนังสือให้ ผอ.สน.ทช.4 ตรวจสอบนายทุนทำกำแพงดินและสร้างอาคารรุกป่าชายเลน ตรวจสอบจาก GPS รุกล้ำ 3 ไร่ ผู้ใหญ่เผยถูกนายทุนฟ้องศาล หลังไม่เซ็นรับรองแนวเขตรุกป่าให้
วันนี้ (21 ก.ค.) นายบรรจง ศรีประทุม ผู้ใหญ่บ้านบางน้ำจืด หมู่ที่ 8 ต.ดอนสัก อ.ดอนสักสัก จ.สุราษฎร์ธานี ได้ยื่นหนังสือต่อ นายวิชัย สมรูป ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 สุราษฎร์ธานี ขอให้ตรวจสอบการรุกล้ำแนวเขตที่ดินที่ติดต่อกับทะเลที่เป็นพื้นที่ป่าชายเลนในพื้นที่บางน้ำจืด หลังจากบริษัทเอกชนได้มีการถมดินทำกำแพงปิดกั้น และก่อสร้างอาคารรุกเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าวและเกินแนวเขตหลักหมุดโฉนดที่ดินของบริษัท ซึ่งก่อนหน้านี้ ทางบริษัทได้ขอขยายแนวเขตที่จากหลักหมุดโฉนดที่ดินเดิมออกมาครอบที่ดินดังกล่าว และให้รับรองแนวเขต แต่ตนเองไม่รับรองแนวเขตให้พร้อมได้คัดค้านไม่เห็นชอบด้วยเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สาธารณะป่าชายเลนที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ต่อมา ทางบริษัทได้ฟ้องตนต่อศาลอาญาทุจริตประพฤติมิชอบภาค 8 ดังนั้นจึงขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้าตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
หลังจากได้รับหนังสือร้องเรียนแล้ว ผอ.สน.ทช.4 พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายนิติกรและปลัดอำเภอดอนสัก จึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ โดยมีตัวแทนทางบริษัทร่วมเป็นพยาน ซึ่งทางผู้ใหญ่บ้านได้เจ้าหน้าที่ไปชี้นำจุดหลักหมุดโฉนดของบริษัททั้ง 3 จุด ทางเจ้าหน้าที่จึงได้จับ GPS พบว่าในเบื้องต้นทางบริษัทดังกล่าวได้มีถมดิน ก่อสร้างอาคาร และก่อสร้างกำแพงรั้วรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ป่าชายเลนกว่า 3 ไร่ ทาง ผอ.สนง.ทช.4 จึงได้ขอเอกสารโฉนดที่ดินของบริษัทมาทำการเปรียบเทียบ แต่ตัวแทนบริษัทอ้างว่าเจ้าหน้าที่ที่ดูแลไม่อยู่ ทางเจ้าหน้าที่จึงได้ทำบันทึกการตรวจสอบ พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนัดวันเวลาเข้าตรวจสอบอีกครั้งเพื่อดำเนินการต่อไป
นายวิชัย สมรูป ผอ.สนง.ทช.4 สุราษฎร์ธานี ระบุว่า หลักหมุดโฉนดที่ดินนั้นมี GPS ขึ้นเชื่อมโยงกับแผนที่ดาวเทียม ต่อให้การขยับเคลื่อนย้ายหลักหมุดอย่างไรก็ไม่มีผล เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้ตามแผนที่ดาวเทียม
ด้าน นายบรรจง ผู้ใหญ่บ้าน เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ทางบริษัทดังกล่าวได้ก่อสร้างคานเรือ ตนเองได้คัดค้านและนำไปฟ้องต่อศาลปกครอง โดยศาลปกครองได้มีคำสั่งให้ทางบริษัทนำคานเรือออก ต่อมาทางบริษัทได้ก่อสร้างอย่างอื่นเพิ่มเติมในพื้นที่ ประกอบกับในยุค คสช.ได้ตรวจสอบผู้บุกรุกพื้นที่สาธารณะ แต่พอเรื่องนี้เงียบลงทางบริษัทได้ไปยื่นเรื่องขอขยายแนวเขตโฉนดที่ดินกับสำนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนแยกอำเภอดอนสัก ซึ่งทางผู้ใหญ่บ้านย้ำว่า ทางบริษัทได้ซื้อที่ดินที่เป็นโฉนด ไม่ได้ซื้อที่ดินเป็น น.ส.3 เมื่อซื้อที่ดินที่เป็นโฉนดมาและจะมาขอเปลี่ยนแปลงโฉนดเพื่อจะคลุมที่สาธารณะ และมาขอให้ตนเซ็นรับรอง แต่พอตนไม่เซ็นรับรองให้อ้างว่าตนเองมีผลประโยชน์และโกรธเคืองทางบริษัท และกล่าวหาว่ามีผลประโยชน์ลอยๆ แล้วไปฟ้องตนที่ศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบภาค 8
ผู้ใหญ่บ้านยังระบุว่า สิ่งที่ตนทำนั้นไม่ใช่ทำเพื่อตนเอง แต่ทำเพื่อส่วนรวม และปกป้องพื้นที่สาธารณะของหมู่บ้าน ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา ได้ต่อสู้กับนายทุนรายหนึ่งที่จะเอาที่ดินสาธารณะไปครอบครอง มาตั้งแต่ปี 2538 จนล่าสุดสามารถออกหนังสือ นสล.ในปี 2564 รวมระยะเวลาการต่อสู้ 26 ปี ซึ่งผลประโยชน์นั้นได้ตกอยู่กับประชาชนคนไทยทุกคน