ระยอง - ได้ข้อยุติ 8 มาตรการเยียวยาแรงงานพม่าเสียชีวิต บาดเจ็บจากเหตุเครนก่อสร้างถล่ม หลังกลุ่มแรงงานพม่าลุกฮือรอบ 2 อ้างไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องการหักเงินเข้ากองทุนประกันสังคม เชื่อบริษัทไม่จ่ายเงินสมทบ จนต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง ส่วน ตร.เตรียมหาข้อเท็จจริงเรื่องทิ้งศพหลังโรงงาน
จากเหตุการณ์ลุกฮือของกลุ่มแรงงานพม่ากว่า 300 คน ของบริษัทเครนก่อสร้างซึ่งพังถล่มทับเพื่อนแรงงานด้วยกันจนเสียชีวิต 7 ราย เมื่อช่วงเย็นวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา จนนำสู่การเจรจรเพื่อเรียกร้องให้บริษัทจ่ายงดเยียวยาให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตราย ทำให้หลายหน่วยงานต้องเข้าร่วมเจรจานานกว่า 5 ชั่วโมง จึงได้ข้อยุติว่า บริษัทจ่ายเงินเยียวให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตรายละ 1.6 ล้านบาท พร้อมสิทธิประกันสังคมอีก 8 แสนบาท จึงทำให้กลุ่มแรงงานเกิดความพอใจและแยกย้ายกันไปในช่วงเวลา 23.00 น.คืนวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา
แต่ปรากฏว่าในช่วงเช้าวันนี้ (30 มี.ค.) กลับมีการลุกฮือของกลุ่มแรงงานชาวพม่ากว่า 100 อีกครั้งที่ด้านหน้าโรงงานเนื่องจากไม่พอใจสวัสดิการประกันสังคมที่ได้รับและอ้างว่าไม่เป็นธรรม พร้อมก่อเหตุอาละวาททุบรถนักข่าวพังยับจนนักข่าวต้องวิ่งหนีตาย
จนทำให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ต้องนำหัวหน้าส่วนราชการ และประกันสังคมเข้าเจรจาอีกครั้งแต่ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุตินั้น
ล่าสุด เมื่อเวลา 15.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการเจรจาภายในอาคารโรงงานหลอมเหล็กชินเคอหยวน เลขที่ 10/6 ม.2 ต.ตาสิทธิ์ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง หลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมงในการเจรจาหาทางออกจนพบว่า ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากอุปสรรคในการพูดคุยที่โรงงานแห่งนี้มีแรงงานจากหลายชาติพันธุ์
จากนั้น นายกำธร เวหน รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ได้เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงข้อสรุปในการสร้างความพอใจให้ผู้เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายผู้แทนบริษัท ฝ่ายหน่วยงาน และฝ่ายแรงงานญาติผู้เสียชีวิต ว่าที่ประชุมมีข้อสรุปร่วมกัน 8 ข้อ คือ 1.เยียวยาให้ญาติผู้เสียชีวิต จำนวน 7 ราย รายละ 1.6 ล้านบาท ซึ่งในวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมาได้มีการมอบเงินสดให้ญาติของผู้เสียชีวิตไปแล้วรายละ 5 แสนบาท คงเหลืออีก 1,100,000 บาท
2.นายจ้างจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดการศพให้ลูกจ้างผู้เสียชีวิตทั้ง 7 คน
3.กรณีฝ่ายลูกจ้างมีข้อเรียกร้องว่าเงินสมทบประกันสังคมที่นายจ้างหักจากลูกจ้างแต่ไม่ได้นำส่งเข้ากองทุนประกันสังคม สำนักงานประกันสังคมจะติดตามให้เป็นรายบุคคลใน 2 สัปดาห์
4.กรณีฝ่ายลูกจ้างมีข้อเรียกร้องว่าลูกจ้างประสบอันตรายสูญเสียอวัยวะและยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ สำนักงานประกันสังคมจะติดตามให้นายจ้างนำส่งเอกสารเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและรายละเอียดภายใน 2 สัปดาห์
5.กรณีฝ่ายลูกจ้างส่งเอกสารค่ารักษาพยาบาลเบิกกับนายจ้างแต่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ สำนักงานประกันสังคมจะดำเนินการตรวจสอบภายใน 2 สัปดาห์
6.กรณีหนังสือเดินทางของลูกจ้างทั้งสองฝ่ายประสงค์ตรงกันจะเก็บเอาไว้ที่บริษัทและจะถ่ายเอกสารให้ลูกจ้าง และเมื่อลูกจ้างออกจากงานนายจ้างจะคืนเอกสารหนังสือเดินทางให้ทุก
7.กรณีลูกจ้าง 3 คนซึ่งมีข้อสงสัยว่านายจ้างจะเลิกจ้างสำนักงานสวัสดิการแรงงานและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง จะตรวจสอบให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด
และ 8.นายจ้างรับว่าจะปฏิบัติต่อลูกจ้างชาวพม่าให้ได้รับสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และจะเร่งตรวจสอบถึงสาเหตุถึงการเกิดเหตุ และข้อเท็จจริงกรณีที่มีการหักเงินประกันสังคมแต่ยังไม่ได้นำส่ง
ส่วนประเด็นเรื่องการจัดการศพ จะดำเนินการให้ญาติได้พูดคุยกันและประกอบพิธีทางศาสนาในพื้นที่ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง
ด้าน พ.ต.อ.จิราวัฒน์ ศักดิ์ศรีวัฒนา รอง ผบก.ภ.จว.ระยอง ได้เปิดเผยถึงกรณีที่กลุ่มแรงงานเรียกร้องให้มีการตรวจสอบด้านหลังโรงงานว่าเป็นที่ฝังศพแรงงานที่เสียชีวิตก่อนหน้าว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำการตรวจสอบพยานและหลักฐานให้แน่ชัดอีกครั้งว่ามีข้อเท็จจริงเพียงใด เนื่องจากขณะนี้เจ้าของโรงงานยังไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในพื้นที่ นอกจากนั้น จะเร่งตรวจสอบพยานหลักฐานเพื่อหาสาเหตุของเครนถล่มให้เร็วที่สุดด้วย