xs
xsm
sm
md
lg

ประธานวิสาหกิจชุมชน 4 ภาคยื่นหนังสือศูนย์ดำรงธรรม มหาสารคาม ตรวจสอบโครงการวิจัยฯ ของมหาวิทยาลัยชื่อดัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานเครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น ภาคเหนือ ร้องศูนย์ดำรงธรรมตรวจสอบโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานรากของชุมชน ของ มมส

นายสมชัย แสงทอง ประธานเครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น ภาคเหนือ นางนิตยา นาโล ประธานเครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น ภาคอีสาน นายไวทิต ศิริสุวรรณ ประธานเครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น ภาคกลาง และนายทวี ประหยัด ประธานเครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น ภาคใต้ ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 4 ภาค ได้เดินทางมายื่นหนังสือขอให้มีการตรวจสอบโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานรากของชุมชน ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) โดยมี นายนำโชค ราตรีโชติ ผอ.กลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดมหาสารคาม เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว


นายสมชัย แสงทอง ประธานเครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น ภาคเหนือ เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ได้มีการพิจารณาอนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยได้อนุมัติผ่านมติ ครม.เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.  2565 โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน งบประมาณทั้งสิ้น 600,587,000 บาท 

ทั้งนี้ มีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบ วัตถุประสงค์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานรากของชุมชน และกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จำนวน 3,500 กลุ่ม

การดำเนินการจะมีประธาน 4 ภาค เป็นผู้รับผิดชอบในการรวบรวมวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ (ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาค กลาง และภาคใต้) จำนวน 3,500 กลุ่ม ซึ่งจะได้รับปัจจัยการผลิตเพื่อการวิจัยจากโครงการแบ่งโครงการออกเป็น 3 กลุ่ม 8 ประเภท ดังนี้ 1. ประมง (ปลาดุก, ปลากินพืช ประเภทปลายี่สก, ปลาตะเพียน) 2. ปศุสัตว์ (เป็ดไข่, ไก่ไข่, ไก่พื้นเมือง) 3. เกษตร (พืชเศรษฐกิจ ผักติ้ว, ผักเม็ก, ผักหวาน, พริกไทย, พริก, มะเขือ) และ (ไม้เศรษฐกิจ ต้นสัก, สะเดา, ทุเรียน, สะตอ) และเห็ด


ผลการดำเนินงานโครงการฯ มีประเด็นเพื่อขอให้มีการตรวจสอบโครงการ เนื่องจากการส่งมอบปัจจัยการผลิตไม่ได้มาตรฐานและไม่ครบตามปัจจัยการผลิตที่กำหนดในโครงการฯ อีกทั้งมีการดำเนินการส่อเจตนาไม่โปร่งใส ไม่มีการประกาศยื่นประมูลการจัดซื้อจัดจ้าง (e-biding) แต่ใช้วิธีการเฉพาะเจาะจงแทน มีลักษณะเข้าข่ายการฮั้วโครงการ บริษัทฯ ที่ทำสัญญากับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม หลายบริษัทฯ มีลักษณะเป็นบริษัทฯ จัดตั้งขึ้นเฉพาะกิจ เพื่อรองรับโครงการฯ เนื่องจากบริษัทฯ ไม่มีสินค้าตามที่จดทะเบียนพาณิชย์ มีการแยกสัญญาจัดซื้อจัดจ้างเป็น 29 สัญญา ตลอดจนถึงผู้มอบอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจ และผู้กระทำการเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จากโครงการในลักษณะร่ำรวยผิดปกติ

และโครงการฯ ได้สร้างภาระหนี้สิน ความเสียหายแก่วิสาหกิจชุมชน ด้วยการแจ้ง ให้วิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการประกาศ ที่ได้รับไก่ไข่ สร้างโรงเรือนไว้รอรับมอบ แต่ไม่ได้มีการส่งมอบปัจจัยการผลิตให้แก่วิสาหกิจชุมชนตามที่กลุ่มได้แจ้งความต้องการไว้

ประเด็นที่นำเสนอให้ตรวจสอบ ประกอบด้วย 1. การจัดซื้อจัดจ้างอาจเข้าข่ายผิด มาตรา 8 การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2560 ให้ทำการตรวจสอบการทำสัญญา 29 สัญญา ซึ่งบาง หจก.มีลักษณะการจัดตั้งไม่ตรงตามลักษณะที่จดทะเบียนพาณิชย์ 2. ปัจจัยการผลิต ไม่มีคุณภาพ ไม่ตรงตาม TOR (ปลาไม่ได้ขนาด อาหารปลาชื้น มีเชื้อรา มีการส่งมอบล่าช้า ก้อนเห็ดไม่มีเชื้อ อาหารเป็ด อาหารไก่ไม่มีคุณภาพ) 3. หัวหน้าโครงการแจ้งประกาศให้วิสาหกิจชุมชนที่ได้ปัจจัยการผลิตเป็นไก่ไข่ให้สร้างโรงเรือน (เล้าไก่) แต่สุดท้ายไม่มี การส่งมอบไก่ไข่ โดยมีหนังสือจากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ลงนามวันที่ 9 มกราคม 2565 ทำให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เสียเงินในการสร้างโรงเรือน


4. การลงพื้นที่ของคณะวิจัย ทีมวิจัยโครงการฯ ประกอบด้วยนักวิจัย 15 คน ผู้ช่วยนักวิจัย 15 คน กำหนดพื้นที่ดำเนินการวิจัย 3,500 กลุ่มวิสาหกิจ เท่ากับว่าพื้นที่วิจัย 3,500 แห่งหารด้วยนักวิจัยในโครงการ 15 คน ต้องลงพื้นที่วิจัยเฉลี่ยคนละ 223 แห่งในระยะเวลา 4 เดือน ขณะที่แต่ละคนมีภาระงานสอนประจำเกือบทุกวัน และใช้วิธีสุ่มตรวจสอบการวิจัย เป็นการวิจัยที่ไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากระยะเวลาโครงการสั้น การส่งมอบปัจจัยการผลิตล่าช้า ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงตามหลักงานวิจัยทางวิชาการ โดยกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานสิ้นสุดโครงการไว้ 4 เดือน เพื่อให้เข้าเงื่อนไขความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้งบประมาณ แต่การเลี้ยงปลา การปลูกผักหวาน ปลูกผักสะตอ ใช้เวลาเก็บผลผลิตเกิน 4 เดือน 5. การคัดเลือกวิสาหกิจชุมชน และการส่งมอบปัจจัยการผลิตไม่ตรงตามความต้องการ ไม่มีการตรวจสอบความต้องการของวิสาหกิจชุมชน แต่โครงการฯ ใช้วิธีจัดสรรแบบสุ่ม ทำให้เกิดความเสียหายเกือบทั้งหมด

เช่น วิสาหกิจชุมชนต้องการ เป็ด ไก่ แต่ได้รับจัดสรรเป็นพืชเศรษฐกิจ หรือไม้เศรษฐกิจ และ/หรือ บางวิสาหกิจชุมชนมีพื้นที่ตั้งวิสาหกิจชุมชนที่มีพื้นที่ไม่เหมาะสม อยู่บนเกาะ อยู่ในทะเล อยู่บนภูเขา (ได้รับพืชเศรษฐกิจ ไม้เศรษฐกิจ วิสาหกิจชุมชนที่มีที่ตั้งอยู่ในชุมชน ในเขตเมือง ได้รับปัจจัยการผลิตเป็นกลุ่มปศุสัตว์ 6. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการฯ ร่ำรวยผิดปกติ ในหลายๆ ราย และหลายระดับ มีการปกปิดซ่อนเร้นทรัพย์สิน มีการถ่ายโอนทรัพย์สินในรูปของสิ่งปลูกสร้าง การครอบครองทรัพย์สินประเภทบ้าน ที่ดิน รถยนต์ ตลอดจนถึงการสร้างสาธารณสถานสิ่งปลูกสร้าง และบำรุงพุทธศาสนา หรือศาสนาอื่นๆ


ประธาน 4 ภาค ในฐานะตัวแทนวิสาหกิจชุมชนที่มีผลกระทบจากโครงการฯ จึงขอให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดมหาสารคามได้ตรวจสอบโครงการดังกล่าวอย่างละเอียด และรอบด้าน เพื่อรักษาผลประโยชน์และเงินงบประมาณแผ่นดินให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ เพราะเงิน 600,587,000 บาท เป็นงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของพี่น้องประชาชนทุกคน

ด้าน นางนิตยา นาโล ประธานเครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น ภาคอีสาน เปิดเผยว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ จ.สกลนคร จำนวน 29 กลุ่ม ได้รับผลกระทบจากโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานรากของชุมชน ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยกลุ่มวิสาหกิจ ได้รับก้อนเห็ดเน่าเสียและก้อนเห็ดที่ไม่หยอดเชื้อ ไม่สามารถให้ผลผลิตได้ โดยต้องเหมารถไปซื้อก้อนเห็ด และค่าจ้างในการดูแลก้อนเห็ดและทำโรงเรือนเพาะเห็ด ส่งผลให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้รับความเดือดร้อน


กำลังโหลดความคิดเห็น