xs
xsm
sm
md
lg

ส่อง "อุทยานหลวงราชพฤกษ์" โครงการที่ "ทักษิณ" ผลักดันจัดพืชสวนโลก แต่โดนรัฐประหารก่อนสำเร็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่ - “อุทยานหลวงราชพฤกษ์” จุดแรกที่ “ทักษิณ” มุ่งตรงไปเยือนทันทีที่ได้กลับบ้านเกิดจังหวัดเชียงใหม่ ส่องประวัติความเป็นมาพบจุดเริ่มต้นเป็นโครงการที่ริเริ่มผลักดันสมัยเป็นนายกรัฐมนตรีให้จัดงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ 2549 แต่ไม่ทันได้จบงาน เนื่องจากพิษรัฐประหาร 19 กันยายน 2549


ตามที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีกำหนดจะเดินทางกลับบ้านเกิดที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี เพื่อทำบุญกราบไหว้บรรพบุรุษ ในช่วงวันที่ 14-16 มี.ค. 67 นั้น โดยทันทีที่ถึงจังหวัดเชียงใหม่แล้ว จุดแรกที่นายทักษิณ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมคือ “อุทยานหลวงราชพฤกษ์” ซึ่งเคยเป็นพื้นที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลก เฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ที่เป็นโครงการที่นายทักษิณผลักดันสมัยเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ได้มีโอกาสสานงานต่อจนเสร็จและชื่นชมผลงานอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเกิดเหตุรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เสียก่อน กระทั่งได้กลับมาเยือนในครั้งนี้ ที่สถานที่จัดงานในครั้งนั้นได้รับพระราชทานชื่อว่า “อุทยานหลวงราชพฤกษ์”

ทั้งนี้ ข้อมูลเว็บไซต์ www.royalparkrajapruek.org ระบุ ประวัติความเป็นมาของอุทยานหลวงราชพฤกษ์ว่า เนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ใน พ.ศ. 2549 และทรงเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2546 เห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดงานมหกรรมพืชสวนโลก 2549 ณ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ (พื้นที่ 468 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา) โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2550 รวม 92 วันภายใต้ชื่อ “มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549” ซึ่งเป็นงานที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

จากความสำเร็จของการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ที่ได้รับการตอบรับทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเป็นอย่างดี คณะรัฐมนตรีจึงมีมติ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2551 ให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เข้ามาบริหารจัดการและใช้ประโยชน์พื้นที่สวนเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการและปฏิบัติงานด้านต่างๆ มีภารกิจหลักในการพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้พืชสวนและเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตรและวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่และประเทศไทย โดยได้รับการถ่ายโอนกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ และงบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาเป็นของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2552 และมีการส่งมอบสวนเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ในวันที่ 10 ธันวาคม 2552

สำหรับการตั้งชื่ออุทยานหลวงราชพฤกษ์นั้น หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี องค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ได้มีลายพระหัตถ์ที่ ล. 01/358 ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2552 ขอพระราชทานชื่อสวนซึ่งเป็นสถานที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ณ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ว่า “สวนหลวงราชพฤกษ์” ต่อมาท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ ปฏิบัติราชการแทนราชเลขาธิการ ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสวนดังกล่าวว่า “อุทยานหลวงราชพฤกษ์” ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2553 และได้รับพระราชทานชื่อภาษาอังกฤษว่า “Royal Park Rajapruek” ตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการที่ รล. 003.4/55045 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2553

โดยชื่อ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ หมายถึง สวนของพระมหากษัตริย์ ซึ่งต้นราชพฤกษ์ หรือต้นคูน (ลมแล้ง ภาษาพื้นเมืองภาคเหนือ) นั้น ได้รับการยกให้เป็นดอกไม้ประจำชาติไทย และด้วยชื่ออันเป็นมงคลยิ่ง (ราชพฤกษ์ : ต้นไม้ของพระราชา) ประจวบเหมาะกับงานพืชสวนโลก "เฉลิมพระเกียติ" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้จัดในสถานที่นี้ ชื่อดอกราชพฤกษ์จึงถูกใช้เป็นชื่อของอุทยานหลวงแห่งนี้








กำลังโหลดความคิดเห็น