เริ่มแล้ว! ปฏิบัติการกู้เรือหลวงสุโขทัย โดยกองทัพเรือไทย-สหรัฐฯ ร่วมภารกิจกู้เรือวันแรก ด้าน ผบ.ทร. เปิดไทม์ไลน์ภารกิจวันแรก นำป้ายชื่อเรือขึ้นมา หวังสร้างขวัญและกำลังใจให้กำลังพล
วันนี้ (22 ก.พ.) กองทัพเรือไทยร่วมกับกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา เริ่มปฏิบัติภารกิจค้นหา และปลดวัตถุอันตรายบนเรือหลวงสุโขทัย ที่ประสบเหตุอับปางลงในทะเลอ่าวไทยในระดับความลึกประมาณ 50 เมตร และอยู่ห่างจากท่าเรือบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์กว่า 30 กิโลเมตร จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 24 ราย และสูญหายอยู่ระหว่างการค้นหาอีก 5 ราย
สำหรับภารกิจในครั้งนี้ เป็นการกู้เรือแบบไลซ์ซาวเวส มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญอยู่ 4 เรื่อง คือ การค้นหาร่างผู้สูญหายจำนวน 5 ราย การสำรวจหลักฐานใต้น้ำเพื่อนำมาประกอบการสอบสวนข้อเท็จจริงของกองทัพเรือ การทำให้ยุทโธปกรณ์ของสหรัฐฯ ที่มีความร้ายแรงบนเรือบางส่วนหมดความสามารถ หรือหมดประสิทธิภาพ และการนำยุทโธปกรณ์บางอย่างกลับขึ้นมาจากน้ำ และวัตถุพยานจากพื้นที่จริงมาใช้ประกอบการสอบสวนเพื่อสรุปสาเหตุอีกครั้ง โดยภารกิจดังกล่าวจะดำเนินการไปจนถึงวันที่ 14 มี.ค.67
ส่วนการจัดส่งกำลังในภารกิจครั้งนี้ ประกอบด้วย กองทัพเรือไทย ส่งเรือหลวงรัตนโกสินทร์ พร้อมด้วยเรือต่อต้านทุ่นระเบิด 2 ลำ เรือตรวจการณ์ 2 ลำ เรือระบายพลขนาดกลาง 1 ลำ และเจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิดในการปฏิบัติภารกิจ
ขณะที่ กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ส่งเรือ Ocean Valor พร้อมเจ้าหน้าที่จากหน่วยประดาน้ำ และกู้ซ่อมเคลื่อนที่ ซึ่งประจำอยู่ที่ฐานทัพเรือในรัฐฮาวาย เพื่อสนับสนุนภารกิจนี้
ด้าน พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการกองทัพเรือ มาตรวจเยี่ยมภารกิจการกู้เรือหลวงสุโขทัยในวันนี้ว่า วันนี้ชุดปฏิบัติการชุดแรกได้ส่งนักประดาน้ำ 3 คน นำโดยทหารสหรัฐฯ ซึ่งเป็นนักดำน้ำหลัก คนที่สอง คือ ทหารไทย เป็นนักดำน้ำสำรอง และคนที่ 3 ทหารสหรัฐฯ ทำหน้าที่สังเกตการณ์บนผิวน้ำ ซึ่งชุดปฏิบัติการแต่ละชุดจะใช้เวลาทำภารกิจประมาณ 1 ชม. โดยนักประดาน้ำจะเข้าไปอยู่ในกระเช้าแล้วหย่อนลงไปที่พื้นทะเล นับตั้งแต่ลงน้ำไปจนถึงพื้นทะเลใช้เวลา 10 นาที มีเวลาปฏิบัติงาน 45 นาที และใช้เวลากลับขึ้นมาอีก 10 นาที ซึ่งจะทำการสลับชุดปฏิบัติลงไปทำหน้าที่ตลอดทั้งวันจนถึงวันสุดท้าย โดยชุดปฏิบัติการทั้งหมดของกองทัพเรือไทย 35 นาย กองทัพเรือสหรัฐฯ 14 นาย รวมทั้งหมด 49 นาย
พล.ร.อ.อะดุง กล่าวอีกว่า วันนี้ภารกิจหลักคือ การนำป้ายชื่อเรือหลวงสุโขทัยขึ้นมาให้ได้ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ ส่วนภารกิจตลอด 20 วัน ได้แบ่งสัดส่วนหน้าที่ประกอบด้วยในช่วง 1-5 วันแรก จะทำการสำรวจ และถ่ายรูปเรือหลวงสุโขทัยทั้งลำ และหาผู้สูญหาย โดยภาพถ่ายจะนำมาประกอบสำนวนทางคดี เพื่อดูข้อเท็จจริงสาเหตุการอับปางของเรือ
ส่วนวันที่ 6-19 จะเป็นการทำลายอาวุธ วัตถุอันตรายภายในเรือหลวงสุโขทัย และจะนำสิ่งของทุกอย่างที่นำขึ้นมาได้ ทั้งอุปกรณ์ และของที่มีคุณค่าทางจิตใจของกำลังพล โดยจะนำมาทำเป็นอนุสรณ์สถาน ส่วนการค้นหาสาเหตุที่ทำให้เรือจมนั้น ทาง ผบ.ทร.ยืนยันว่า หากได้ข้อมูลครบถ้วนแล้วจะนำมาแถลง เพื่อให้คนไทยได้รับรู้อย่างเข้าใจถึงสาเหตุการอับปางของเรือ หากชุดประดาน้ำพบวัตถุ หรือ ผู้สูญหาย หากนำขึ้นมาได้จะนำขึ้นมาทั้งหมด และถ้าพบผู้สูญหายนำไปตรวจดีเอ็นเอ เพราะมีเก็บตัวอย่างของญาติไว้ทั้งหมดแล้ว และกองทัพเรือจะเป็นเจ้าภาพประกอบพิธีศพให้เหมือนเดิม
ทั้งนี้ กองทัพเรือสหรัฐฯ มีอุปกรณ์ตัดเหล็กใต้น้ำ และมีเครนหลายตัวที่จะยกอุปกรณ์ขึ้นจากน้ำ ส่วนสภาพคลื่นใต้น้ำในวันนี้ น้ำใสจนเห็นตัวเรือชัดเจน และยังไม่มีอุปสรรค ตนเชื่อว่าเป็นผลจากการสักการะบวงสรวงเสด็จเตี่ย (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์) ก่อนเริ่มภารกิจ และตนเองขอภาวนาขอให้คลื่นใต้น้ำคงสภาพแบบนี้ไปจนเสร็จสิ้นภารกิจ โดยสภาพเรือหลวงสุโขทัย ยังตั้งอยู่ที่พื้นทะเลในสภาพเดิม เอียง 7 องศา เพียงแต่กลายเป็นที่อยู่ของปลา และสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ สำหรับน้ำมันที่เหลืออยู่ในเรือนั้นไม่กระทบต่อทะเล เนื่องจากตั้งแต่วันที่เรือออกเดินทางมีน้ำมันอยู่ไม่มาก เพราะได้ปฏิบัติราชการไปบ้างแล้ว
สำหรับงบประมาณที่กองทัพเรือได้ตั้งไว้สำหรับภารกิจกู้เรือหลวงสุโขทัย 200 ล้านบาท แบ่งเป็นงบของกองทัพโดยตรง 110 ล้านบาท งบของรัฐบาล 90 ล้านบาท ทาง พล.ร.อ.อะดุง ยืนยันว่า งบประมาณ 90 ล้านบาท จะคืนให้รัฐบาลแน่นอน เพื่อให้ไปใช้กับประชาชนในด้านอื่น ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่กองทัพเรือไทยจะต้องรับผิดชอบ จะใช้งบประมาณของกองทัพ แต่ค่าใช้จ่ายในภารกิจนี้ยังเทียบไม่ได้กับที่ทางกองทัพเรือสหรัฐฯ ช่วยสนับสนุน ซึ่งในขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปออกมาเป็นตัวเลขได้ โดยทางกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ใช้งบประมาณการฝึกคอบบร้าโกล์ มาทำภารกิจในครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม ผบ.ทร. ได้ขอบคุณกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่สนับสนุนกำลังพลจากเรือ Ocean Valor พร้อมอุปกรณ์ทั้งหมด รวมถึงงบประมาณในการทำภารกิจครั้งนี้ ซึ่งตนมีความเข้าใจอย่างยิ่งว่า สหรัฐฯ ต้องใช้งบจำนวนมาก เนื่อจากเรือดังกล่าวนั้นเป็นเรือเปล่า ทำให้ต้องขนอุปกรณ์จากรัฐฮาวายผ่านทางเฮลิคอปเตอร์ นำมาขนถ่ายลงที่เรือขณะจอดอยู่ที่สิงคโปร์ โดยมีการขนตั้งแต่วันที่ 1-10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
พล.ร.อ.อะดุง ย้ำอีกว่า ทางกองทัพเรือไทยมีความซาบซึ้ง และขอขอบคุณกองทัพสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก เพราะตอนนี้เข้าใจแล้วว่า เอกสารการจัดซื้อจัดจ้าง หรือ TOR ให้บริษัทมาดำเนินการกู้เรือหลวงสุโขทัยนั้นไม่ผ่าน เนื่องจากเอกสารไม่ครบ เพราะต้องใช้อุปกรณ์จำนวนมาก และสหรัฐฯ ได้เสนอตัวในขณะที่กองทัพเรือไทยกำลังต้องการพอดี