xs
xsm
sm
md
lg

ภาคธุรกิจเมืองตราดหนุน “เศรษฐา” ดันนโยบายนำพลังงานพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาใช้ให้เกิดประโยชน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตราด - ภาคธุรกิจ จ.ตราด หนุนนโยบาย “เศรษฐา” นำพลังงานจากเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชาด้าน จ.ตราด และเกาะกง มาใช้ให้เกิดประโยชน์เชื่อช่วยลดราคาพลังงานให้ประชาชน ดันภาคการลงทุน-ท่องเที่ยวใน 2 ประเทศเติบโต

จากกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานเปิดงาน “Thailind Energy Exclutive Forum” และปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "จุดเปลี่ยนพลังงานไทยสู่ความยั่งยืน" เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา และตอนหนึ่งได้กล่าวถึงการนำพลังงานจากเขตพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชาด้าน จ.ตราด และ จ.เกาะกง ประเทศกัมพูชาว่าจะทำให้ประเทศไทยได้ใช้พลังงานที่ราคาถูกลงนั้น

วันนี้ (16 ก.พ.) นายธิติเดช ทองภัทร รองประธานนิคมอุตสาหกรรมเกาะกง ประเทศกัมพูชา และผู้บริหารในกลุ่มแอล วาย พี (L.Y.P.Group) เผยว่า ตนมีความมั่นใจว่ารัฐบาลทั้ง 2 ประเทศจะสามารถสรุปข้อตกลงในการทำประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาด้าน จ.ตราด และ จ.เกาะกง ได้เพราะในพื้นที่ดังกล่าวมีน้ำมันและก๊าซมูลค่ามหาศาลที่ยังไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้

“ในหลายรัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศที่ผ่านมาได้มีการหารือในเรื่องนี้มานาน แต่ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองและความสัมพันธ์ของรัฐบาลในหลายยุคหลายสมัยที่ไม่เอื้อต่อการเจรจา จึงทำให้ไม่สามารถหาข้อสรุปในเรื่องนี้ได้ แต่สำหรับรัฐบาลไทยในชุดนี้ที่การรวมตัวกันของหลายพรรคการเมืองเชื่อว่าน่าจะมีโอกาสที่ดีในการสานต่อข้อตกลงต่างๆ ในพื้นที่ทับซ้อน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจโดยเฉพาะด้านพลังงานของทั้ง 2 ประเทศให้มั่นคงยิ่งขึ้น”

เช่นเดียวกับภาคเอกชนในฝั่งกัมพูชา ที่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าวเนื่องจากมองเห็นผลดีในเรื่องราคาพลังงานทั้งน้ำมัน และก๊าซที่จะถูกลงซึ่งส่งผลดีต่อรายได้ของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ และที่ผ่านมาภาคเอกชนในกัมพูชา ได้มองเห็นลู่ทางและมีการเตรียมความพร้อมในการรองรับไว้บ้างแล้วตั้งแต่รัฐบาลของสมเด็จ ฮุนเซน


ด้าน นางวิยะดา ซวง ผู้ประกอบธุรกิจบริเวณแนวชายแดนไทย-กัมพูชาด้าน จ.ตราด ในฐานะรองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดบอกว่าืสิ่งที่จะเกิดจากการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนด้วยการนำพลังงานในทะเลมาใช้ใน 2 ประเทศย่อมทำให้เกิดการพัฒนาธุรกิจใน จ.ตราด มากขึ้น เช่นเดียวกับเรื่องการท่องเที่ยวของทั้ง 2 ประเทศที่จะคึกคักตามไปด้วยเช่นกัน

อีกทั้ง อ.คลองใหญ่ ซึ่งจะเป็นประตูสู่การค้าระหว่างประเทศจะมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับการเดินทางไปมาระหว่างกันทั้งทางบกและทางทะเล ซึ่งจะทำให้สะพานท่าเรือคลองใหญ่ที่จะสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่

“หากมองด้านการท่องเที่ยวแล้วเชื่อว่าน่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าทุกด้าน เนื่องจากที่ผ่านมา อ.คลองใหญ่ เป็นประตูสู่ประเทศกัมพูชาและเวียดนามตอนใต้ และยังเป็นประตูที่นักท่องเที่ยวต่างชาติรวมทั้งชาวกัมพูชาเดินทางในพื้นที่เพื่อท่องเที่ยวในภาคตะวันออกและจังหวัดอื่นๆ จะคึกคักตามไปด้วย” รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตราด กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น