xs
xsm
sm
md
lg

รับวันแห่งความรัก! ห้วยขาแข้งโชว์ผลงานฟื้นฟูประชากรพญาแร้ง เผยจับคู่ผสมพันธุ์ตั้งแต่ 14 กุมภาฯ 65 จนได้ลูกตัวแรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุทัยธานี - เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งโชว์ผลงานฟื้นฟูประชากรพญาแร้งรับวันแห่งความรัก หลังสูญพันธุ์ไปนานกว่า 32 ปี ก่อนจับคู่ให้ผสมพันธุ์กันตั้งแต่ 14 กุมภาฯ 65 จนได้ลูกพญาแร้งตัวแรกแห่งผืนป่า


เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเตรียมโชว์ผลงานลูกพญาแร้งตัวแรกแห่งผืนป่าห้วยขาแข้ง หลังสูญพันธุ์ไปจากผืนป่าธรรมชาตินานกว่า 32 ปี กระทั่งมีการร่วมมือกันของหลายภาคส่วนในการนำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์พญาแร้ง 1 คู่เข้ามาที่ผืนป่าห้วยขาแข้งเมื่อวันที่ 14 กุมภาฯ 65 จนได้ลูกพญาแร้งตัวแรกแห่งผืนป่าใหญ่ ถือเป็นก้าวแรกของความสำเร็จของการฟื้นฟูพันธุ์พญาแร้งในกลับคืนสู่ผืนป่าธรรมชาติแห่งนี้อีกครั้ง

นายเพิ่มศักดิ์ กนิษฐชาต หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เปิดเผยว่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมีพื้นที่ประมาณ 170,0000 กว่าไร่ มีสัตว์ป่าอยู่เยอะ รวมทั้งยังเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของพญาแร้ง ซึ่งเป็นนกขนาดใหญ่ มีนิสัยกินซากสัตว์เป็นอาหารเปรียบเสมือนเทศบาลประจำป่า

และด้วยป่าห้วยขาแข้งนั้นมีพื้นที่ติดกับป่าอุ้มผาง ซึ่งมักจะมีกลุ่มคนที่แอบลักลอบเข้ามาล่าสัตว์ป่าลงมาถึงลำห้วยขาแข้ง ซึ่งบรรดาพรานป่านั้นตั้งใจที่จะมาล่าเสือโคร่งโดยตรง และโดยปกติของการล่าก็คือการก่อหรือผูกนั่งร้านบนต้นไม้เพื่อซุ่มยิง แต่เวลาที่ยิงแล้วนั้น หนังของเสือโคร่งจะชำรุดและขายไม่ได้ราคา จึงใช้วิธีการใช้ยาเบื่อไปใส่ในซากสัตว์ ซึ่งพญาแร้งหรือนกแร้งมีนิสัยกินซากสัตว์อยู่แล้ว ฝูงพญาแร้งเหล่านี้ก็บินมากินทำให้ล้มตายไปจำนวนมากเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ไม่มีใครพบเห็นพญาแร้งในป่าห้วยขาแข้งอีกเลย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535

จากนั้นมาก็เริ่มมีความพยายามนำพญาแร้งกลับมาสู่ผืนป่าห้วยขาแข้งอีกครั้ง จึงเริ่มทำโครงการการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย เพื่อเป็นต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ธรรมชาติ โดยมีการตั้งคณะทำงานซึ่งทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ร่วมมือกับองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย รวมถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ทำการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งขึ้น ด้วยการนำพญาแร้งที่มีอายุอย่างน้อย 10 ปีมาผสมพันธุ์กัน

หลังจากพญาแร้งทั้งคู่ได้ใช้เวลาดูใจกันมา 1 ปีกว่า ขณะนี้เราก็มีข่าวดีก็คือ พญาแร้งคู่นี้ได้ทำการผสมพันธุ์กันเป็นที่เรียบร้อย และก็ได้ไข่ของพญาแร้งออกมา ซึ่งพญาแร้งนั้นจะออกไข่ปีละประมาณ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ฟอง

นายเพิ่มศักดิ์ยังบอกอีกด้วยว่า ชั่วชีวิตนี้ตนก็เพิ่งเคยเห็นไข่พญาแร้งกับตาเหมือนกัน ซึ่งยอมรับว่าขาดข้อมูลในเรื่องพญาแร้งมานานมาก ในตอนนี้เรามีไข่ของพญาแร้งแล้ว ก็จะเริ่มเป็นตัวอ่อนของพญาแร้ง ก็ถือว่าสำเร็จไปทีละขั้นตอน ส่วนขั้นตอนต่อไปก็คือลูกของพญาแร้งจะเติบโตขึ้น ก่อนที่จะไปถึงขั้นตอนของการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อให้ฝูงพญาแร้งเพิ่มจำนวนมากขึ้น

ด้านนายวชิราดล แผลงปัญญา นักวิชาการสวนสัตว์นครราชสีมา องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ที่เข้ามาทำโครงการร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เปิดเผยว่า หลังจากที่เราได้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์พญาแร้งคู่นี้เข้ามาที่ซับฟ้าผ่า เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งทั้งคู่นั้นก็สามารถอยู่ในพื้นที่ป่าห้วยขาแข้งได้จริงๆ จนในที่สุดเราก็ได้เห็นลูกพญาแร้งตัวแรกลืมตามาดูโลกเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จขั้นแรกของเรา

ต่อจากนี้ทางทีมงานก็จะได้เข้ามาดูแลในอีกหลายเรื่อง เพราะลูกพญาแร้งตัวแรกนั้นอยู่ในขั้นตอนของการอนุบาล ซึ่งจะต้องดูแลตั้งแต่เรื่องอาหาร เรื่องพฤติกรรมการอยู่ในกรงแต่ละวัน รวมถึงในอนาคต หากปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติแล้วจะอยู่ได้หรือไม่ ซึ่งต้องใช้เวลาศึกษาและทำงานกันอย่างจริงจัง

“ความตั้งใจของเรานั้นก็คือ การเพิ่มประชากรฝูงพญาแร้งกลับคืนสู่ผืนป่าห้วยขาแข้งอีกครั้ง และหวังว่าอนาคตข้างหน้าจะมีพญาแร้งทำหน้าที่เป็นสัตว์เทศบาลในผืนป่าอีกครั้ง” นายวชิราดลกล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น