ราชบุรี - ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี นำส่วนราชการล่องเรือไหว้พระ ชมอาทิตย์อัสดง เพื่อพัฒนาและส่งเสริมเส้นทางการท่องเที่ยวทางน้ำของจังหวัดราชบุรี และกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวที่หลากหลายและต่อเนื่อง
นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี นำส่วนราชการ ประชาชน และนักท่องเที่ยวลงเรือล่องแม่น้ำแม่กลองชมความสวยงามของเมืองราชบุรี ในกิจกรรมการท่องเที่ยววิถีธาราล่องเรือไหว้พระ ชมอาทิตย์อัสดง จังหวัดราชบุรี ซึ่งสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดราชบุรีจัดขึ้น เพื่อพัฒนาและส่งเสริมเส้นทางการท่องเที่ยวทางน้ำของจังหวัดราชบุรี และกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวจังหวัดราชบุรีที่หลากหลายและต่อเนื่อง
โดยการจัดกิจกรรมล่องเรือในครั้งนี้ เริ่มต้นที่ท่าเรือเด็กดิน เขื่อนรัฐประชาพัฒนา ตลาดเก่าโคยกี๊ และล่องไปตามแม่น้ำแม่กลองที่ไหลผ่านตัวเมืองราชบุรี ผ่านวัดเก่าแก่นับแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย จำนวน 10 วัด เช่น วัดสัตตนารถปริวัตร วัดเทพอาวาส วัดศาลเจ้า วัดตรีญาติ วัดท้ายเมือง วัดอมรินทราราม เป็นต้น ชมวิถีชีวิตชุมชนที่อยู่ริมน้ำ ศูนย์รวมผลิตภัณฑ์ชุมชนเทศบาลหลักเมือง และจุดเน้นคือชมพระอาทิตย์อัสดงตรงสะพาน 3 ยุค สะพานประวัติศาสตร์ ประกอบด้วย สะพานธนะรัชต์ สะพานจุฬาลงกรณ์ และสะพานขึง รวมระยะทางไปกลับประมาณ 15 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1.30 ชั่วโมง
ระหว่างทางสักการะหลวงพ่อแดง ณ วัดธรรมวิโรจน์ ซึ่งเป็นวัดที่สร้างขึ้น ในปี 2200 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.2209 ในหลวงรัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานกฐินที่วัดแห่งนี้ และพระสังฆราชพระองค์ที่ 15 ได้ประทานชื่อวัดธรรมวิโรจน์ ซึ่งแปลว่า ความเจริญรุ่งเรืองในธรรม สำหรับหลวงพ่อแดง เป็นที่นิยมของผู้สัญจรทางเรือในสมัยก่อน ต้องขอพรวักน้ำพรมหัวเรือให้เดินทางแคล้วคลาดปลอดภัย รวมไปถึงของหายเมื่ออธิษฐานขอพรมักจะประสบความสำเร็จ โดยหลวงพ่อแดง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิเนื้อศิลาแดง สีแดงตามชื่อหลวงพ่อ
ชมผลิตภัณฑ์ชุมชนเทศบาลหลักเมือง อำเภอเมืองราชบุรี ผลิตภัณฑ์งานทำมือทั้งตะกร้าพลาสติก เสื้อผ้า กระเป๋า และผลิตภัณฑ์ดินเผาเถาวัลย์แดง ที่นำวัชพืชที่ไร้ค่ามารังสรรค์เป็นของใช้ ของตกแต่งบ้านเรือน มีการสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศ กลายเป็นสินค้าโอทอปที่มีชื่อเสียง สร้างอาชีพและรายได้สู่ชุมชน โดยดัดเถาวัลย์ให้มีรูปทรงต่างๆ เช่น รูปสัตว์ เก้ง กวาง แกะ สุนัข ปลาดาว กระต่าย ตะกร้า เก้าอี้ แจกัน โคมไฟ ที่ใส่ขวดไวน์ และอีกมากมาย ทั้งยังนำผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาที่ขึ้นชื่อของเมืองราชบุรีมาประยุกต์เข้าด้วยกันกับเถาวัลย์แดงที่ถูกถักสานเป็นลวดลายต่างๆ กลายเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าโอทอปของชุมชนที่มีมูลค่า สวยงามแปลกตา เป็นสินค้าของที่ระลึกที่นักท่องเที่ยวต่างชื่นชอบเลือกซื้อกลับไปฝากคนที่รู้จักและนำไปใช้ประโยชน์ได้ดี
ไฮไลต์ที่สำคัญคือ สะพาน 3 ยุค คือ สะพานธนะรัชต์ สะพานจุฬาลงกรณ์ และสะพานขึงรถไฟ ซึ่งสะพานจุฬาลงกรณ์ เป็นสะพานรถไฟทอดข้ามลำน้ำแม่กลองที่สร้างขึ้นจากพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคียงคู่กับสะพานธนะรัชต์ เป็นสะพานสำหรับรถยนต์ เชื่อมตัวเมืองราชบุรี ผ่านศาลเจ้าพ่อหลักเมือง และค่ายบูรฉัตร สู่ถนนเพชรเกษมเดินทางจากราชบุรีสู่สู่กรุงเทพฯ
ปัจจุบันในบริเวณเดียวกันยังได้มีการสร้างสะพานขึง เป็นรูปแบบคานขึงรถไฟแห่งแรกในไทย เมื่อ 3 สะพานมารวมอยู่ด้วยกัน เป็นเสมือนแลนมาร์กแห่งใหม่ของเมืองราชบุรี โดยสะพานขึงนี้สร้างขนานไปกับสะพานจุฬาลงกรณ์ บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองมีความยาวกว่า 340 เมตร การก่อสร้างสะพานรถไฟออกแบบด้วยเทคนิคทางวิศวกรรมพิเศษโดยใช้โครงสร้างสะพานรถไฟแบบคานขึง ซึ่งสร้างตอม่ออยู่บน 2 ฝั่งแม่น้ำ แทนรูปแบบเดิมซึ่งวางตอม่อกลางแม่น้ำราชบุรี เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือนระเบิดที่จมอยู่ใต้แม่น้ำแม่กลองเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงจากวัตถุระเบิด เป็นที่มาของการสร้างสะพานรถไฟแบบขึง หรือเรียกสั้นๆ ว่า “สะพานขึง” ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอพระราชทานชื่อสะพาน
เมื่อเรือกลับมาถึงสะพาน 3 ยุค เรือจะลอยลำให้ดื่มด่ำกับพระอาทิตย์อัสดงที่สวยงามท่ามกลางสะพานประวัติศาสตร์ที่หาชมที่ใดไม่ได้ และเมื่อเรือเทียบท่าขึ้นฝั่งสามารถเดินชมตลาดโคยกี๊ ซึ่งเป็นเก่าแก่ที่ชาวราชบุรีได้ฝากท้องไว้กับร้านอาหารอร่อยที่หลากหลาย อาหารคาวหวานมากหมาย และชมบรรยากาศริมน้ำ ถ่ายภาพกับโอ่งและมังกรพ่นน้ำ ริมแม่น้ำแม่กลองใจกลางเมืองราชบุรี ซึ่งเป็นแลนมาร์กของจังหวัดราชบุรี
สำหรับท่านที่สนใจมาล่องเรือสามารถติดต่อได้ที่ท่าเรือวัดพญาไม้ (หลวงพ่อตามใจ) ซึ่งองค์หลวงพ่อตามใจนั้นแสดงถึงความเมตตาที่จะตามใจผู้มากราบไว้สักการบูชา จึงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง และวัดพญาไม้ยังเป็นท่าเรือที่ล่องเรือริมน้ำแม่กลองใจเมืองราชบุรี ไหว้หลวงพ่อตามใจแล้ว สามารถให้อาหารปลาริมท่าน้ำได้ และลงเรือชมบรรยากาศแม่น้ำแม่กลอง เมืองราชาบุรี ตามเส้นทางที่กำหนดไว้