xs
xsm
sm
md
lg

เปิดข้อมูลเส้นทางเลือกโครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จ.กาญจนบุรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี - เปิดข้อมูลเส้นทางเลือกโครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จ.กาญจนบุรี พบทางเลือกที่ 1 และ 5 ผ่าต้นน้ำชั้นที่ 1A และพื้นที่อยู่สัตว์ป่าสำคัญโดยตรง

กำลังเป็นที่ถกเถียงกันของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องและมีการแสดงความเห็นกันมากมายในสังคมจังหวัดกาญจนบุรี เกี่ยวกับ การแก้ปัญหาภัยแล้ง ในจ.กาญจนบุรี ด้วยการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำ ผ่านพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ อย่างไร และจะก่อสร้างด้วยวิธีการไหน ที่สำคัญโครงการนี้ จะทำส่งผลกระทบกับพื้นที่ป่าสำคัญ คือต้นน้ำลุ่มน้ำชั้น 1 เอ ทำให้เกิดกระแสการคัดค้านย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์ุพืช ลงนามในคำสั่งกรมอุทยานฯที่
522/2567 ลงวันที่ 6 ก.พ.67 เรื่องให้ข้าราชการไปปฏิบัติราชการ จำนวน 1 ราย โดยบัญชีแนบท้ายคำสั่งคือ ให้ นายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส ส่วนประสานความร่วมมือด้านทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 ให้ไปปฏิบัติราชการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

แม้การมีคำสั่งย้ายหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระในครั้งนี้ จะระบุว่า เป็นผลเนื่องจากปัญหาการเกิดไฟป่าในพื้นที่สลักพระหลายจุด แต่ก็ยังเกิดข้อกังขาว่า ปมการสั่งย้าย ที่สำคัญ น่าจะมาจาก นายไพฑูรย์ ที่มีแนวคิดอนุรักษ์ผืนป่า ที่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดป่าสมบูรณ์ที่กระทบกับระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของสัตว์ป่าที่หายาก เช่น ช้างป่า เสือโคร่ง วัวแดง เป็นต้น

การย้ายในครั้งนี้น่าจะเกี่ยวกับการไม่สนองต่อการให้มีความเห็นพิจารณาเห็นด้วยนโยบายและให้เสนอความเห็นไปในแนวทางการสนับสนุนข้อมูลให้โครงการผันน้ำทางท่อและอุโมงค์ผ่านป่าที่มีการประเมินและเขียนโครงการที่อาจจะต้องใช้งบประมาณถึงกว่า 50,000 ล้านบาท

วันนี้ “ผู้จัดการ ออนไลน์” จะพาไปรู้จักเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระจ.กาญจนบุรี ซึ่งโครงการอุโมงค์ผันน้ำแก้ปัญหาภัยแล้ง มีแนเส้นทางก่อสร้าง ผ่านป่าต้นน้ำลุ่มน้ำชั้น 1 เอ ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เป็นระยะทางยาวกว่า 20.5 กม.

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี ได้รับการประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2508 มีพื้นที่ประมาณ 858.55 ตารางกิโลเมตร หรือ 536,594 ไร่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ มีลักษณะคล้ายรูปลิ่มวางตัวแนวเหนือ-ใต้ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน แต่จะมีพื้นที่ราบกระจายตัวอยู่ตามหุบเขา มีลักษณะเป็นที่ราบสูง ที่ราบเชิงเขา และที่ราบบริเวณลำห้วย ตามลำดับ มีระดับความสูงอยู่ระหว่าง 50-1,178 เมตรจากระดับน้ำทะเล ยอดเขาสูงสุด คือ เขาหัวโล้น มีความสูง 1,178 เมตร จากระดับน้ำทะเล ตอนกลางพื้นที่ค่อนลงมาทางใต้มีพื้นที่ราบที่สำคัญ เรียกว่า ทุ่งสลักพระ มีล้าห้วยสะด่องเป็นลำห้วยสายหลักไหลผ่านในแนวเหนือใต้ ลงสู่แม่น้ำแควใหญ่ หรืออ่างเก็บน้ำเขื่อนท่าทุ่งนา ที่ตำบลช่องสะเดา อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ทางตอนเหนือเป็นอ่าวขนาดใหญ่ของอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ และมีแนวสันเขาเชื่อมต่อเข้าไปในอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์


ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ได้ถูกจัดแบ่งออกเป็น 5 ระดับ คือ พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1A มีพื้นที่มากที่สุดประมาณ 364.29 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 227,686 ไร่ คิดเป็น ร้อยละ 42.44 ของพื้นที่ทั้งหมดพื้นที่ส่วนใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ภูเขาสูงสลับซับซ้อนในแนวเหนือ-ใต้ และบริเวณพื้นที่ตอนกลางของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ

พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 2 มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 162.01 ตารางกิโลเมตร หรือ 101,257 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 18.88 ของพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ พื้นที่ส่วนใหญ่กระจายตัวครอบคลุมพื้นที่ภูเขาโดยรอบบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1A พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 3 มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 140.33 ตารางกิโลเมตร หรือ 87,711 ไร่ คิดเป็นร้อยละ16.34 ของพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ กระจายตัวครอบคลุมพื้นที่ภูเขาต่อเนื่องจากพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 2 โดยรอบ

พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 4 มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 178.95 ตารางกิโลเมตร หรือ 111,849 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 20.84 ของพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ กระจายตัวครอบคลุมพื้นที่บริเวณแนวเขตโดยรอบเป็นส่วนใหญ่ และพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 5 ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 12.94 ตารางกิโลเมตร หรือ 8,091 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 1.50 ของพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จะพบบริเวณที่ราบทางตอนใต้
 
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระเป็นพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าหลากหลายชนิด เช่น ช้างป่า กระทิง วัวแดง เสือโคร่ง เสือดาวหรือเสือดำ หมี กวาง เก้ง หมูป่า หมาป่า ชะมด เสือปลา ลิง เม่น ชะนีมือขาว ค่างแว่นถิ่นเหนือ ลิงลม กระรอก เป็นต้น


ชนิดสัตว์ป่าที่มีความสำคัญตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 สัตว์ป่าสงวน คือ ชนิดสัตว์ป่าที่หายาก หรือใกล้จะสูญพันธุ์หรืออาจจะสูญพันธุ์ไปแล้ว จึงจำเป็นต้องมีบทบัญญัติเข้มงวดกวดขัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายแก่สัตว์ป่าที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือซากสัตว์ป่า ซึ่งอาจจะตกไปอยู่ต่างประเทศด้วยการซื้อขาย ภายในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ พบสัตว์ป่าสงวน จำนวน 4 ชนิด จากทั้งหมด 15 ชนิด ได้แก่ เลียงผา เก้งหม้อ ละองละมั่ง และแมวลายหินอ่อน ซึ่งพบเห็นว่ามีชนิดพันธุ์สัตว์ป่าดังกล่าวจริงจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (camera trap)

สัตว์ป่าคุ้มครอง คือ สัตว์ป่าเพื่อการอนุรักษ์ ตามบัญชีแนบท้ายกฎกระทรวง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ.2546 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ภายในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ พบสัตว์ป่าคุ้มครอง ดังนี้ นก (Bird) จำนวน 192 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (mammal) จำนวน 32 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน (reptile) จำนวน 22 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก (amphibian) จำนวน 3 ชนิด

สถานภาพของทรัพยากรปัจจุบันกับเส้นทางเลือกของโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์เบื้องต้น จากกรอบแนวคิดการพัฒนาโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งของอำเภอบ่อพลอย อำเภอห้วยกระเจา และอำเภอเลาขวัญ โดยพิจารณาแนวทางเลือกการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์มาพื้นที่ที่ประสบภัยปัญหาภัยแล้งด้วยท่อส่งน้ำและหรือคลองส่งน้ำ ได้สรุปแนวทางเลือกการผันน้ำเบื้องต้นไว้ 7 ทางเลือก


เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ได้สรุปข้อมูลสถานภาพของทรัพยากรด้านต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินโครงการ โดยเฉพาะทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 5 ที่มีการตัดผ่านพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระโดยตรง และเป็นพื้นที่สำคัญที่ประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม และมีคุณค่า เช่น น้ำพุร้อน น้ำตก ทรัพยากรพืช และสัตว์ป่า ในประเด็น ดังนี้ 

1.พื้นที่โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1A เส้นทางเลือกที่ 1 และ 5 ทั้ง 2 เส้นทางผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1A มีพื้นที่มากที่สุดประมาณ 364.29 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 227,686 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 42.44 ของพื้นที่เขต ครอบคลุมพื้นที่ภูเขาสูงสลับซับซ้อนในแนวเหนือ-ใต้ และบริเวณพื้นที่ตอนกลางของเขต

2.ลักษณะภูมิประเทศ บริเวณด้านบนของพื้นที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อนแต่จะมีพื้นที่ราบกระจายตัวอยู่ตามหุบเขา มีลักษณะเป็นที่ราบสูง ที่ราบเชิงเขา และที่ราบบริเวณลำห้วย บริเวณเส้นทางเลือกที่ 5 การดำเนินการจะผ่านลักษณะภูมิประเทศที่เป็นภูเขา มีระดับความสูงตั้งแต่ 500-1,215 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของพื้นที่เขต พื้นที่ชายหุบเขาลงมาด้านล่างเป็นพื้นที่ราบสูงกว้างใหญ่มีเนื้อที่ ประมาณ 10,000 ไร่ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 700 เมตร มีชื่อเรียกว่า “ทุ่งนามอญ” เป็นพื้นที่อาศัยสำคัญของสัตว์ป่าบริเวณนี้


ลักษณะสังคมพืชเป็นป่าดิบแล้งที่มีความอุดมสมบูรณ์และไม่มีการถูกรบกวน เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้ถูกจัดเป็นเขตหวงห้าม (Strict Nature Reserve Zone) เป็นบริเวณที่มีสังคมพืชและป่าไม้สมบูรณ์ควรค่าแก่การรักษาไว้ เพื่อเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่าและแหล่งต้นน้ำลำธาร ซึ่งพื้นที่เขตนี้ไม่ยอมให้มีการใช้ประโยชน์ใดๆ นอกจากจะปล่อยไว้ให้เป็นสภาพธรรมชาติแบบดั้งเดิม เพื่อมิให้เกิดการรบกวนการเป็นอยู่ของสัตว์ป่า และสภาพธรรมชาติโดยรอบ

บริเวณเส้นทางเลือกที่ 1 การดำเนินการจะผ่านสันเขาและแนวภูเขาสลับซับซ้อนบางจุด มีระดับความสูง ตั้งแต่ 400-600 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง พื้นที่ราบด้านในตอนกลางของเขตประมาณ 20,000 ไร่ เป็นที่ราบลุ่มล้อมรอบด้วยภูเขา เรียกว่า “ทุ่งสลักพระ” พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยลักษณะของป่าเบญจพรรณผสมไผ่ สภาพป่ามีความโปร่ง มีแหล่งน้ำ และโป่งธรรมชาติกว่า 100 โป่ง เป็นพื้นที่อาศัยที่สำคัญที่สุดของสัตว์ป่าในบริเวณนี้ พื้นที่ดำเนินโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์เบื้องต้นตัดผ่านพื้นที่สำคัญของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระที่มีความบอบบางต่อระบบนิเวศเป็นอย่างสูง


ปัจจุบัน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระใช้ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol System) ในการป้องปรามการกระท้าผิดในพื้นที่เขต และการเก็บรวบรวมข้อมูลด้านระบบนิเวศที่สำคัญทั้งพืชและสัตว์ป่า มีการบันทึกข้อมูลการกระจายของสัตว์ป่าที่เป็นดัชนีชี้คุณภาพของระบบนิเวศ คือ โครงสร้างของสัตว์ผู้ล่าที่สำคัญ คือ เสือโคร่ง สัตว์กินพืช คือ ช้าง และสัตว์กีบที่สำคัญอื่นๆ ในพื้นที่และประมวลผลข้อมูลเชิงพื้นที่ แสดงผลการกระจาย และการเปลี่ยนแปลงถิ่นอาศัย

ชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่สำคัญในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระที่มีการเก็บข้อมูล โดยเฉพาะการปรากฏของเสือโคร่งที่ยืนยันข้อมูลแล้วว่าเกิดจากการขยายถิ่นอาศัยของประชากรเสือโครงจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมายังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตก จากที่ประชากรเสือโคร่งได้หายไปจากพื้นที่ธรรมชาติเมื่อกว่า 10 ปีก่อน การพบเสือโคร่งและเหยื่อที่มีความสัมพันธ์กันอย่างยิ่งในระบบนิเวศเพราะเป็นตัวชี้วัดถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพการดูแลรักษาพื้นที่และการฟื้นฟูตัวเองของพื้นที่ตามระบบนิเวศ โดยมีข้อมูลด้านสัตว์ป่าที่สำคัญ ได้แก่ เสือโคร่ง ช้างป่า กระทิง กวางป่า เก้ง หมูป่า นกแก๊ก และนกเงือก
กำลังโหลดความคิดเห็น