กาญจนบุรี - หัวหน้าเขตสลักพระ นำเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าลาดตระเวนทุ่งนามอญ สำรวจผืนป่า ปฏิบัติภารกิจในเรื่องของการจัดการทุ่งหญ้าตามหลักวิชาการ เพื่อให้เกิดหญ้าระบัดเป็นอาหารสำหรับสัตว์ 4 วันเต็ม
วันนี้ (29 ม.ค.) นายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 23-26 ม.ค.ที่ผ่านมา ตนได้นำเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ออกเดินลาดตระเวนป่าทุ่งนามอญ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เพื่อปฏิบัติภารกิจในเรื่องของการจัดการทุ่งหญ้าตามหลักวิชาการ เพื่อให้เกิดหญ้าระบัดเป็นอาหารสำหรับสัตว์ป่าโดยเฉพาะสัตว์กีบกินพืชชนิดต่างๆ รวมทั้งลาดตระเวนทั่วไปเพื่อเก็บข้อมูลและตรวจสอบพื้นที่และเพื่อตรวจสอบสภาพป่าเพื่อวางแผนการจัดการไฟป่า
เนื่องด้วยพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ และป่าไผ่ ซึ่งเชื้อเพลิงต่างๆ จะติดไฟได้ง่าย และหากเราปล่อยเศษใบไม้ใบหญ้ากองเก็บสะสมทิ้งไว้นานหลายปี หากมีการเผาไหม้ขึ้นมาจะเกิดความรุนแรงมากกว่าที่จะมีการจัดการชิงเผา แต่ด้วยสภาพพื้นที่ป่าตอนใน ด้านตอนบนยังมีความชื้นในดินอยู่ เนื่องจากฝนได้ตกลงมาระหว่างวันที่ 24-25 ม.ค.ทำให้การจัดการเรื่องไฟป่าเพื่อชิงเผาไม่สามารถทำได้ตามที่วางแผนไว้
การชิงเผานั้นอาจจะมีผู้ไม่เข้าใจเพราะเกรงว่าจะไปกระทบสัตว์ป่า ซึ่งเขตสลักพระต้องขอทำความเข้าใจในประเด็นนี้ก่อนว่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระนั้นเป็นป่าเมืองร้อน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง โดยการชิงเผามีมาแต่เนิ่นนาน ต้นไม้ใบหญ้าไม่ได้ตายทั้งหมด แต่หากปล่อยให้มีการสะสมเชื้อเพลิงประเภทใบไม้ใบหญ้านานติดต่อกัน 3-5 ปี เรารับประกันได้หรือว่าจะไม่มีการไหม้ขึ้นมาอีก โดยฝีมือของใครก็ตามที่ไม่ประสงค์ดี
หากมีการสะสมหนาแน่นขนาดนั้นการลุกไหม้จะไม่ใช่เป็นเพียงไฟผิวดิน อาจเป็นไฟเรือนยอดและไฟใต้ดินผสมเข้าไปด้วย การเกิดไฟไหม้จะสร้างความสูญเสียขึ้นมามหาศาลกว่าที่มีการชิงเผาก่อนทุกปี การชิงเผาเป็นการเผาเฉพาะใบหญ้าและใบไม้แห้งที่ตกจากต้นลงมากองกระจายอยู่กับพื้นที่ยังไม่หนาแน่น เมื่อชิงจุดไฟจะลามเลียไปตามผิวดินเท่านั้น ซึ่งอาจจะมีความสูญเสียอยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก
ดังนั้น การชิงเผาจึงถือว่าเป็นแนวทางที่สร้างความเสียหายน้อยที่สุด อีกทั้งยังทำให้เกิดหญ้าระบัด เป็นอาหารของสัตว์ผู้บริโภคชั้นต้นของสัตว์กีบต่างๆ เช่น กระทิง วัวแดง เป็นต้น การชิงเผายังสามารถทำให้เมล็ดของไม้เปลือกแข็งที่หล่นลงมาอยู่กับพื้นสามารถงอกได้เร็วขึ้น ส่วนสาเหตุที่เกิดไฟป่าในแต่ละปีมันเกิดจากฝีมือมนุษย์ที่มีจุดประสงค์เพื่อต้องการเก็บหาของป่าและล่าสัตว์ป่าได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะต้องหาทางป้องกันต่อไป
นายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ กล่าวว่า สำหรับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ตอนบนของพื้นที่เป็นป่าดิบแล้ง จุดสูงสุดของพื้นที่คือเขาหัวโล้น ซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,215 เมตร ที่ทอดตัวแนวยาวเหนือใต้แบ่งเขตกันระหว่างอำเภอศรีสวัสดิ์ และบ่อพลอย
ส่วนป่าทุ่งนามอญที่ไปลาดตระเวนเพื่อชิงเผานั้นมีพื้นที่ประมาณ 8,000-10,000 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบตอนกลาง มีสันเขาตอนบนเป็นรูปตับยู แหล่งน้ำสำคัญคือน้ำตกทุ่งนามอญ เป็นต้นน้ำของลำห้วยสะด่องที่ไหลลงสู่แม่น้ำแควใหญ่ตลอดทั้งปี โดยการลาดตระเวนล่าสุดและการเข้าไปติดตั้งกล้องดักถ่ายขององค์กรแพนเทอร่า (PANTHERA) พบว่าเส้นทางนี้เป็นส่วนหนึ่งในเส้นทางการเดินผ่านของเสือโคร่ง ซึ่งเป็นสัตว์ผู้ล่าที่บ่งชี้ถึงระบบนิเวศสำคัญของผืนป่าแห่งนี้