เพชรบุรี - จังหวัดเพชรบุรี ร่วมปฏิบัติการ แก้ไขปัญหาปลาหมอสีคางดำ หนึ่งในจังหวัดนำร่องปล่อยลูกพันธุ์ปลากะพงขาว กำจัดตัดวงจร พร้อมโชว์ผลงานน้ำหมักจากหัวปลาหมอสีคางดำ ใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ส่วนตัวปรุงรสแปรรูปปลาแห้งแดดเดียว และน้ำปลารสเด็ด
นายณัฏฐชัย นำพูลสุขสันติ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นายอำเภอ ประมงจังหวัดเพชรบุรี หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่และชาวประมง ร่วมโครงการเปิดปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ณ ท่าเทียบเรือประมง (คลองอีแอด) ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี โดยร่วมพิธีผ่านระบบออนไลน์จากจังหวัดสมุทรสาคร โดยมี ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน พร้อมกับจังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพชรบุรี และกรุงเทพมหานคร
นายณัฏฐชัย นำพูลสุขสันติ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่า พื้นที่เพชรบุรีชาวประมง เกษตรกรได้รับผลกระทบจากการระบาดของปลาหมอสีคางดำ ส่วนใหญ่มักเจอในคลอง ส่งผลต่อระบบนิเวศ เพราะปลาหมอสีคางดำเปรียบเหมือนนักล่า กินทุกอย่างที่ขวางหน้า กินลูกกุ้งที่ชาวบ้านเลี้ยงเกลี้ยงบ่อ และโดยธรรมชาติอายุเพียง 3 เดือน สืบพันธุ์ วางไข่ได้แล้ว ตัวผู้อมไข่เลี้ยงลูก ยิ่งตัวเมียออกไปสืบพันธุ์ได้ ทำให้ประชากรปลาหมอสีคางดำเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสถาบันการศึกษาได้ร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาปลาหมอสีคางดำ วิจัยผลผลิตการทำน้ำหมักจากหัวปลาหมอสีคางดำ ไว้ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรโดยนำมาผสมกับสับปะรดเพื่อช่วยการย่อยสลายวัชพืช และนำส่วนลำตัวมาปรุงรสแปรรูปปลาแห้งแดดเดียว และน้ำปลารสเด็ด เพิ่มมูลค่า เช่น ปลาแดดเดียวขายได้ถึงกิโลกรัมละ 120 บาท ทอดกรอบกินได้ทั้งก้างเพิ่มแคลเซียม สร้างรายได้ให้ชาวบ้านและประหยัดรายจ่ายในครัวเรือนได้อีกด้วย
หลังจากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีได้นำผู้เข้าร่วมกิจกรรมปล่อยลูกพันธุ์ปลากะพงขาว จำนวน 20,000 ตัว ในคลองอีแอด ณ ท่าเทียบเรือประมง