xs
xsm
sm
md
lg

ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ยังไร้ผล “สารตะกั่ว” ยังปนเปื้อนสูง ยาวนานเกือบ 30 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี - เปิดปัญหาการดำเนินงานโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่วพิษ จ.กาญจนบุรี ยังไร้ผล “สารตะกั่ว” ยังปนเปื้อนสูง เป็นปัญหาที่ชาวบ้านต้องทนรับชะตากรรมมาอย่างยาวนานเกือบ 30 ปี
 
ปัญหาเกิดจากโรงแต่งแร่ของบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ต้นลำห้วยคลิตี้ ต้นกำเนิดของสารตะกั่วตัวปัญหาในปัจจุบัน โรงงานแห่งนี้มีไว้เพื่อลอยแร่ตะกั่ว โดยแร่ตะกั่วจะถูกขนส่งทางรถมาจากเหมืองบ่อหินงาม ซึ่งการลอยแร่ต้องใช้น้ำปริมาณมาก ดังนั้น จึงตั้งโรงงานที่แห่งนี้ เพราะอยู่ใกล้ลำห้วย ปัจจุบันปิดโรงงานมาตั้งแต่ พ.ศ.2542 และเหมืองแร่ปิดถาวรใน พ.ศ.2544 หลังจากที่เปิดทำการมาตั้งแต่ พ.ศ.2510


แต่ปัญหาหาการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ถึงแม้ว่าจะผ่านมาเกือบ 30 ปีแล้ว ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยทางศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา ได้มีการจึงร้องเรียนมายังกรมควบคุมมลพิษแต่ปี 2541 เพื่อเร่งจัดการแก้ไข จนถึงขั้นฟ้องร้องกัน

ต่อมา กรมควบคุมมลพิษได้มีการดำเนินงานฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่วจังหวัดกาญจนบุรี ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 ซึ่งได้กำหนดให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการฟื้นฟูสภาพห้วยคลิตี้ โดยมีสาเหตุจากการประกอบกิจการเมืองแร่ของบริษัทตะกั่ว คอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนของสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อม ได้แก่ น้ำ ตะกอนดิน และสัตว์น้ำ จนกระทั่งประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากห้วยคลิตี้ได้

โดยได้เริ่มดำเนินโครงการระยะที่ 1 มาตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2564 และได้มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การก่อสร้างหลุมฝังกลบแบบปลอดภัย การฟื้นฟูพื้นที่โรงแต่งแร่เดิมและพื้นที่ชุมชน การฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการดูดตะกอน การสร้างฝายดักตะกอน และการปิดคลุมหลุมฝังกลบ ระยะที่ 1 และโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่วจังหวัดกาญจนบุรี ระยะที่ 2 มีขอบเขตการดำเนินงานฟื้นฟูรอบโรงแต่งหน้าเดิม และพื้นที่ชุมชน 5 พื้นที่ สิ้นสุดเมื่อปี 2565 แล้วนั้น


ต่อมา ในปี 2566 กรมควบคุมมลพิษได้ว่าจ้างสมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย (สวสท.) ทำการประเมินผลการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่วจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเป็นการทบทวนและประเมินผลกิจกรรมที่ได้ดำเนินการไปในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยการประเมินผลอ้างอิงรูปแบบและแนวทางการประเมินผลจากคู่มือแนวทางการจัดทำรายงานการประเมินผลการฟื้นฟูปนเปื้อนราย 5 ปีฉบับปี 2544 ขององค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S.EPA Comprehensive-Five-YearReview (FYR) Guidance, 2001) เพื่อวิเคราะห์สถานภาพของปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่ว และข้อเสนอแนะสำหรับการจัดการหรือฟื้นฟูที่ในระยะถัดไปนั้น

ผลการประเมินผลการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่วจังหวัดกาญจนบุรีเพื่อเป็นการทบทวนและประเมินผลกิจกรรมที่ได้ดำเนินการไปในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาของสมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ได้มีการตรวจสอบกิจกรรมต่างๆ ในสภาพปัจจุบันตามขอบเขตการดำเนินงานโครงการ ระยะที่ 1 และ 2 รวบรวม ข้อห่วงกังวลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน พร้อมทั้งเสนอแนะการติดตาม ตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมของกรมควบคุมมลพิษให้มีความเหมาะสม เพื่อจะได้ผลติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมและน่าเชื่อมากขึ้น


นอกจากนี้ ยังพบข้อเท็จจริงว่า ยังมีปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วที่หลงเหลืออยู่ในพื้นที่ กาดหางแร่ตะกอนในลำห้วยตะกอนขอบลำห้วย และบนตลิ่งที่มีการปนเปื้อนสารตะกั่วสูงหลงเหลืออยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก และสร้างความวิตกกังวลให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่เป็นอย่างมาก ถือเป็นปัญหาเร่งด่วนและต้องอาศัยความต่อเนื่องในการแก้ปัญหา

ดังนั้น สมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย (สวสท.) จึงได้เสนอแนะให้กรมควบคุมมลพิษ ดำเนินการสำรวจขอบเขตและปริมาณกาดหางแร่ตะกอนในลำห้วย ตะกอนขอบลำห้วยและบนตลิ่งที่มีการปนเปื้อนสารตะกั่วสูง หลงเหลืออยู่ในพื้นที่เพื่อหาแนวทางการดำเนินงานฟื้นฟูที่เหมาะสมต่อไป จากปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วที่หลงเหลือในพื้นที่หลังจากดำเนินงานในระยะที่ 1 และ 2 ภายใต้งบประมาณที่มีอย่างจำกัด ทำให้กิจกรรมการฟื้นฟูที่ผ่านมาในระยะที่ 1 และ 2 ยังไม่ครอบคลุมการแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้

จากข้อมูลรายงานการประเมินผลการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ปนเปื้อนสารตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี และข้อมูลข้อเท็จจริงจากการดำเนินงานโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี ระยะที่ 1 และ 2 ในปี 2560-2565 พบว่ายังมีกองกากหางแร่ที่มีความเข้มข้นของสารตะกั่วสูงมากประมาณ 100,000-200,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เหลือในพื้นที่ชุมชนคลิตี้บนและคลิตี้ล่างเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นกองกกากหางแร่ที่หลงเหลือในระยะที่ 1 และ 2 และที่พบใหม่เพิ่มเติมในช่วงการประเมินผลการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่วจังหวัดกาญจนบุรี ในปี 2566


ปัจจุบันในช่วงฤดูฝนเกิดการชะสารตะกั่วแพร่กระจายลงสู่ลำห้วยคลิตี้ พื้นที่อาศัยและพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของชาวบ้านในพื้นที่ตลอดมา รวมทั้งกองกากหางแร่ที่หลงเหลืออยู่นั้นสร้างความวิตกกังวลให้ชาวบ้านเป็นอย่างมาก ชาวบ้านจึงได้ยื่นหนังสือถึงกรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอให้ช่วยจัดการกองกากหางแร่ ตั้งแต่ช่วงระหว่างการดำเนินงานระยะที่ 2 โดยกรมควบคุมมลพิษได้บรรเทาเบื้องต้นด้วยการปิดคลุมชั่วคราวไว้

จากการสำรวจพื้นที่เบื้องต้นและการให้ข้อมูลของชาวบ้านในพื้นที่พบว่า มีพื้นที่กองกากหางแร่ปิดคลุมชั่วคราว 5 พื้นที่ คาดว่ามีปริมาณกากหางแร่ประมาณ 547,870 ตัน


หากปล่อยทิ้งไว้ในช่วงฤดูฝนจะมีน้ำฝนเข้าขังอยู่เป็นจำนวนมาก จะทำให้เกิดการกัดเซาะสร้างความเสียหาย มีความเสี่ยงในการไหลล้นของน้ำฝนที่ท่วมขังและมีโอกาสปนเปื้อนสารตะกั่วออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกด้วย ทำให้สูญเสียงบประมาณในการดูแลการสูบถ่ายน้ำฝนเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ควรจะเร่งดำเนินการฝังกลบกากหางแร่ ดินปนเปื้อน ตะกอนฝนลำห้วยคลิตี้ และตะกอนขอบลำห้วย และบนตลิ่งที่เหลือจากระยะที่ 1 และ 2 เต็มศักยภาพพื้นที่ความจุ ซึ่งจะช่วยลดการเกิดปัญหาส่วนนี้ไปด้วย

จากความวิตกกังวลของชาวบ้านในพื้นที่ เมื่อวันที่ 15 ม.ค.67 ที่ผ่านมา นายกำธร ศรีสุวรรณมาลา นายสถาพร ทองผาภูมิปฐวี นายนพพร วสุธาผาภูมิ พร้อมชาวบ้านบ้านทุ่งเสือโทน หมู่ 4 ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เข้าพบนายกรกรณ์ อึ๊งภากรณ์ ผอ.กลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อยื่นหนังสือให้ร้อยโททศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เรื่องขอให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการดำเนินงานโครงการพื้นฟูลำห้วยคลิตี้ จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว ของกรมควบคุมมลพิษ


โดยมีนายศิวะกรณ์ วิเชียรเพริศ ผอ.ส่วนสิ่งแวดล้อมสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาญจนบุรี ชี้แจงทำความเข้าใจ โดยนายกรกรณ์ อึ๊งภากรณ์ ได้ลงเลขรับเรื่องที่ 14 ลงวันที่ 15 ม.ค.2567 ส่วนนายศิวะกรณ์ วิเชียรเพริศ แจ้งกับชาวบ้านว่าจะเร่งดำเนินการส่งหนังสือไปสอบถามข้อเท็จจริงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เพื่อนำมาแจ้งให้ชาวบ้านทราบให้เร็วที่สุด และเท่าที่ทราบงบประมาณที่กรมควบคุมมลพิษใช้ในการฟื้นฟูกองกากหางแร่ที่ยังตกค้างอยู่ทั้งในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ประมาณ 700-800 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณจำนวนนี้เป็นเพียงแค่งบโครงการฟื้นฟูเท่านั้นยังไม่นับรวมงบประมาณที่สนับสนุนในด้านอื่นๆ

ล่าสุด นายเชษฐ พวงจิตร ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาญจนบุรี ได้ส่งหนังสือด่วนไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ให้มาร่วมประชุมหารือการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ อีกครั้งหนึ่งที่ห้องประชุมแควน้อยชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี ในวันที่ 26 ม.ค.นี้ โดยการประชุมในวันดังกล่าวนั้น หากหน่วยงานใดไม่สะดวกที่จะเดินทางมาประชุมที่ห้องประชุมได้ จะให้ร่วมประชุมในระบบทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference)
ทั้งนี้ ผลจะออกมาเป็นอย่างไรคงต้องรอดูกันวันที่ 26 ม.ค.นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น