xs
xsm
sm
md
lg

“ศรีสุวรรณ” นำเครือข่ายส.ต่อต้านสภาวะโลกร้อน บุกกระทรวงถามความคืบหน้ารง.ลอบทิ้งกากอุตฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ระยอง - “ศรีสุวรรณ” นำเครือข่ายสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนระยอง บุกกระทรวงอุตสาหกรรม ยื่นหนังสือจี้ถามเจ้ากระทรวง ทวงความคืบการแก้ปัญหาโรงงานเหล็กลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในนิคมหนองละลอก ซ้ำอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ชี้หากยังทำนิ่งถึงขึ้นฟ้องศาลปกครอง

เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (10 พ.ย.) นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้นำชาวระยองซึ่งเป็นเครือข่าย สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เดินทางไปกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อยื่นหนังสือทวงถามต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับข้อเรียกร้องให้มีการจัดการกับโรงงานที่ลักลอบนำกากตะกรันจากกระบวนการผลิตเหล็ก ทิ้งในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหนองละลอก

โดยขอให้มีคำสั่งไปยังปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีกรมโรงงาน และผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรม เพื่อดำเนินการเอาผิดและเพิกถอนใบอนุญาตโรงงาน และใบอนุญาตจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง

หลังสมาคมพบว่า มีโรงงานผลิตเหล็กเส้นรีดร้อนชนิดม้วน ได้ลักลอบนำกากตะกรันจากกระบวนการผลิตเหล็กไปทิ้งสะสมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหนองละลอก ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังของโรงงานเป็นเวลานานหลายสิบปี รวมแล้วกว่า 60,000 ตัน จนสร้างความเสียหายต่อสภาพดินและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวยังอยู่ใกล้แหล่งน้ำที่ชาวบ้านใช้ในการอุปโภคบริโภค

และจากการนำกากอุตสาหกรรมไปตรวจสอบของเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษ พบว่ามีสารตะกั่วปนเปื้อนถึง 16,900 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งตามมาตรฐานแล้วจะต้องไม่เกิน 800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม


โดยผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเครือข่ายต่อต้านสภาวะโลกร้อน จ.ระยอง เคยร้องเรียนไปยังสำนักงานอุตสาหกรรม และการนิคมอุตสาหกรรม จ.ระยอง แล้ว จนนำสู่การออกหนังสือสั่งการจากอุตสาหกรรมจังหวัดให้ผู้ประกอบการขนย้ายกากอุตสาหกรรมทั้งหมดไปกำจัดตามหลักวิชาการ

แต่สุดท้ายกลับพบว่าผู้ประกอบการรายนี้ได้ทำการย้ายพื้นที่ฝังกลบใหม่ไปอยู่ในจุดที่ไม่ไกลจากพื้นที่ฝังกลบเดิม และยังอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมเดียวกัน โดยไม่มีการปูพลาสติก HDPE ตามหลักวิชาการเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของกากของเสียและน้ำซะ (Leachate) ลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะที่อยู่ใกล้ๆ

การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นอันตรายต่อชาวบ้าน และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เป็นอย่างมาก เนื่องจากพื้นที่จุดเกิดเหตุได้มีการประกาศให้เป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมแล้ว


นายศรีสุวรรณ ยังบอกอีกว่า กรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นการท้าทายกฎหมายหลายฉบับ เช่น กฎหมายว่าด้วยโรงงาน 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กฎหมายสิ่งแวดล้อม 2535 กฎหมายการสาธารณสุข 2535 กฎหมายการนิคมอุตสาหกรรม 2522 กฎหมายสุขภาพแห่งชาติ 2550 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

โดยทางสมาคม และเครือข่ายได้พยายามบอกกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีกรมโรงงาน และผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อให้รับทราบและแก้ปัญหาดังกล่าวแต่กลับยังไม่มีการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมแต่อย่างใด

“วันนี้สมาคม และเครือข่ายจึงมายื่นหนังสือทวงถามท่านรัฐมนตรีเป็นครั้งสุดท้าย เพราะหากยังนิ่งเฉยคงต้องใช้มาตรการทางกฎหมาย โดยสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนจะนำความยื่นฟ้องศาลปกครอง เพื่อเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบการและใบอนุญาตจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม และให้มีการฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมให้กลับมาดังเดิมต่อไป รวมทั้งจะต้องนำความไปฟ้องเอาผิดพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมาย ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วย” นายศรีสุวรรณ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น