สระบุรี - สหกรณ์โคนมมวกเหล็กโอดได้รับผลกระทบหนัก หลังมิลค์บอร์ดอนุมัติปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมโคเพิ่มอีกกิโลกรัมละ 2.25 บาท แต่รัฐบาลไม่มีการรับราคาผลิตภัณฑ์นมให้สอดคล้องกัน
วันนี้ (19 ม.ค.) จากกรณีที่ทางคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือมิลค์บอร์ด มีการอนุมัติให้ปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมโคหน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม กิโลกรัมละ 2.25 บาท โดยปรับจากเดิมกิโลกรัมละ 20.50 บาท เป็นกิโลกรัมละ 22.75 บาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโคนม
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปศูนย์รับน้ำนมดิบ สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก หมู่ 1 ตำบลหนองย่างเสือ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เป็นช่วงเวลาประมาณ 4.30 น. จะมีรถของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์ในตำบลหนองย่างเสือ ต่างทยอยนำน้ำนมดิบมาส่งที่ศูนย์รับนม เพื่อนำมาตรวจคุณภาพของน้ำนมดิบ และลดอุณหภูมิของน้ำนม
นายอุดม แก้วหน้าแมว อายุ 43 ปี เกษตรกรเลี้ยงโคนม ตำบลหนองย่างเสือ กล่าวว่า ที่รัฐบาลช่วยเหลือในการปรับราคาขึ้นให้เป็น 2.25 บาท อยากจะให้รัฐบาลช่วยปรับขึ้นในเรื่องของต้นทุนอีกสักหน่อย เพราะว่าวัตถุดิบ ที่เป็นอาหารสัตว์มีราคาแพง
นายปภณภพ เฉลิมกลิ่น ผู้จัดการสหกรณ์โคนมมวกเหล็ก กล่าวว่า กระทรวงเกษตรปรับราคาให้เกษตรกร 2.25 บาท จากเดิม 19 บาท เป็น 21.25 บาท ถึงมือตัวเกษตรกร ในส่วนของโรงงานซื้อเพิ่มจากศูนย์โรงนม เพิ่มจาก 2.25 บาท เป็น 22.75 บาท ตอนที่ยังไม่ได้ปรับราคา เกษตรกรได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากเนื่องจากต้นทุนในการเลี้ยงโคนมมันสูง ทำให้บางรายมีการเลิกเลี้ยงโคนม จึงทำให้ปริมาณนมโคในประเทศไทยลดลงเป็นอย่างมาก เกษตรกรเลิกเลี้ยงไปประมาณ 30-40% จากนมประมาณ 100 กว่าตัน เหลือประมาณ 70 ตัน
ในช่วงแรกรัฐบาลยังไม่ปรับราคา สหกรณ์มีการช่วยเหลือเกษตรกรโดยการปรับราคาให้ล่วงหน้าไปแล้ว 2.25 บาท ตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 66 ที่ผ่านมา เราปรับขึ้นให้ล่วงหน้า สหกรณ์ใช้เงินไปประมาณ 15,000,000 ที่ช่วยเหลือเกษตรกร ทำให้ผลประกอบการสหกรณ์เกิดภาวะติดลบเมื่อปรับราคาแล้ว เกษตรกรก็ดีใจว่าได้ราคาเพิ่ม แต่ตัวสหกรณ์ยังทุกข์อยู่ เนื่องจากว่าน้ำนมดิบปรับขึ้น แต่ตัวผลิตภัณฑ์นมยังไม่ได้ปรับราคา ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์นมพาณิชย์ ผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนยังไม่ได้มีการปรับราคา ทำให้สหกรณ์ต้องแบกภาระต้นทุนนมโรงเรียนที่ได้โควตามา หน่วยหนึ่งประมาณ 61 สตางค์
ในกลุ่มผู้ประกอบการนมโรงเรียนมีการรวมตัวกันไปยื่นหนังสือที่กระทรวงเกษตร ขอปรับราคา 61 สตางค์ แยกเป็น 46 สตางค์ เป็นน้ำนมดิบที่เพิ่มขึ้น 2.25 บาท หักสูญเสียในกระบวนการผลิต และอีก 15 สตางค์ เป็นค่าน้ำค่าไฟที่ปรับเพิ่มขึ้น ถามว่าปรับขึ้นประมาณ 60 สตางค์ กระทบผู้บริโภคไหมก็กระทบนิดหน่อย แต่ผู้บริโภคต้องเห็นใจเกษตรกร เพราะว่าสายโซ่ของ 60 สตางค์ ต่อหน่วยมันยาว หนึ่งในภาคของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่จะต้องได้รับเงินเพิ่ม รวมไปถึงผู้ประกอบการที่ปลูกข้าวโพดอาหารเลี้ยงสัตว์ เป็นสายเดียวกันทั้งหมด ถ้ารัฐบาลปรับราคาให้เร็วจะบรรเทาไปได้เยอะ และตอนนี้กระทรวงพาณิชย์สามารถปรับขึ้นได้เลย มีมติของกรมการค้าภายในสามารถปรับขึ้นได้
ส่วนผู้ประกอบการนมโรงเรียนต้องใช้มติ ครม. ในการปรับราคา เป็นงบประมาณกลางของรัฐบาลในการช่วยเหลือให้อาหารกลางวันเด็ก และในตอนนี้ทางสหกรณ์แบกภาระอยู่ การปรับราคาเป็นผลดีกับเกษตรกร แต่ตัวองค์กรที่เป็นศูนย์รับนมเป็นโรงงานที่เข้าร่วมโครงการนมโรงเรียน ยังแบกภาระต้นทุนตัวนมดิบที่เพิ่มขึ้น 2.25 บาท และค่าน้ำค่าไฟที่ปรับราคาขึ้น จริงๆ แล้วกระทรวงเกษตรน่าจะนำเสนอ ครม.ให้มีการปรับราคานมโรงเรียน เพราะต้องใช้มติ ครม.
ในส่วนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมนมรายใหญ่ ต้องนำเสนอต้นทุนไปที่กรมการค้าภายใน และกระทรวงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว และรอทางกระทรวงพาณิชย์ปรับราคา ส่วนทางด้านกระทรวงเกษตร ควรที่จะมีเงินกู้ดอกเบี้ยถูกมาช่วยในภาคอุตสาหกรรมนมในส่วนของโรงงานนมโรงเรียนในช่วงที่ผ่านมาทุกที่แบกรับต้นทุนที่สูงมาก เพราะว่ามีการปรับราคาช่วยเหลือเกษตรกรไปล่วงหน้าก่อนที่รัฐบาลจะมีการปรับ