มหาสารคาม - ตำรวจมหาสารคามบุกรวบเครือข่ายนายทุนหนี้นอกระบบ 2 อำเภอ ทั้งอำเภอเมือง และกันทรวิชัย พบวงเงินปล่อยกู้กว่า 1.3 ล้าน เผยกลุ่มนักศึกษานำรถจักรยานยนต์ใช้ค้ำประกันมากที่สุด อ้างจ่ายค่าหอ ค่าเทอม และรถเกือบทั้งหมดยังติดไฟแนนซ์และชื่อคนผ่อนชำระเป็นพ่อและแม่ของนักศึกษา
วันนี้ (18 ม.ค.) ที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคาม นายนพสิทธิ์ อุดมสุวรรณกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม พร้อมด้วย พล.ต.ต.พรชัย ชลอเดช ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคาม เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคาม ชุดสืบสวนสภ.เมืองมหาสารคาม ชุดสืบสวน สภ.กันทรวิชัย และเจ้าหน้าที่กองกำกับการสืบสวน 2 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 4 ร่วมกันแถลงข่าวผลการปราบปรามกลุ่มนายทุนหนี้นอกระบบ 2 เครือข่าย มูลหนี้รวมกว่า 1.3 ล้านบาท
พล.ต.ต.พรชัย ชลอเดช ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า รัฐบาลได้เดินหน้าประกาศแก้ไขหนี้นอกระบบ โดยเปิดให้มีการลงทะเบียนลูกหนี้และเจ้าหนี้นอกระบบเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 โดยจังหวัดมหาสารคามมีผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้นกว่า 2,000 คน ยอดหนี้กว่า 180 ล้าน โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้จัดกิจกรรม Kick off ตลาดนัดแก้หนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยกัน เมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา
ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคามได้บูรณาการกับหลายภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มเจ้าหนี้นอกระบบที่เป็นนายทุนเงินกู้ ที่คิดดอกเบี้ยในอัตราเกินกฎหมายกำหนด และต้องมีการนำทรัพย์สินมาค้ำประกัน เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือที่ดิน ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงมาก ทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ทำให้ถูกนายทุนยึดทรัพย์สินไป ภายใต้การบูรณาการทุกภาคส่วน จึงได้ขออนุมัติหมายค้นศาลจังหวัดมหาสารคาม เข้าตรวจค้นยึดรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเอกสารสัญญากู้ยืมเงินเครือข่ายกลุ่มนายทุนหนี้นอกระบบ 2 เครือข่าย ในพื้นที่ สภ.เมืองมหาสารคาม และ สภ.กันทรวิชัย
โดยเครือข่ายในพื้นที่ สภ.เมืองมหาสารคามทำการตรวจค้นบ้านพัก นายคเชนทร์ อายุ 36 ปี นายทุนผู้ให้กู้ยืมเงิน โดยลูกหนี้เงินกู้จะนำรถยนต์เป็นหลักประกันเงินกู้ สามารถทำการตรวจยึดรถยนต์ 20 คัน เอกสารสัญญากู้ยืมเงิน 6 ฉบับ มูลค่าวงเงินตามสัญญากู้ยืม ประมาณ 282,000 บาท
และเครือข่ายในพื้นที่ สภ.กันทรวิชัย ทำการตรวจค้นบ้านพัก นายธนธัช อายุ 23 ปี และ น.ส.จิสติกานต์ อายุ 21 ปี กลุ่มนายทุนผู้ให้กู้ยืมเงินในการทำสัญญากู้ยืมเงิน โดยลูกหนี้เงินกู้ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่นำรถจักรยานยนต์มาเป็นหลักประกันเงินกู้ สามารถทำการตรวจยึดรถจักรยานยนต์ 17 คัน รถยนต์ 2 คัน และเอกสารสัญญากู้ยืมเงิน 56 ฉบับ มูลค่าวงเงินตามสัญญากู้ยืมประมาณ 1,022,000 บาท โดยเจ้าหน้าที่ได้ส่งดำเนินคดีตามกฎหมายและขยายผลถึงผู้เกี่ยวข้อง
พล.ต.ต.พรชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า รถยนต์ รถจักรยานยนต์ที่นำมาค้ำประกันเงินกู้ ส่วนใหญ่จะติดไฟแนนซ์ หรือเป็นชื่อพ่อแม่ที่นักศึกษานำรถมาจำนำ ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่ละคันจะได้เงินประมาณคันละ 5,000-20,000 บาท แล้วแต่สภาพ ส่วนใหญ่ก็มีปัญหาด้านการเงิน หาเงินไปจ่ายค่าเทอม ค่าหอพัก ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งบางรายก็อาจจะใช้เงินเกินตัว ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดไว้เพื่อตรวจสอบที่มาที่ไป และขยายผลไปยังเครือข่ายอื่นๆ พร้อมกันนี้ ยังได้แนะนำกลุ่มนายทุน หากจะปล่อยเงินกู้ก็ให้ดำเนินการให้ถูกต้อง ด้วยการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อฟิโกไฟแนนซ์) โดยสามารถยื่นขอใบอนุญาตสินเชื่อฟิโกไฟแนนซ์ต่อกระทรวงการคลังเพื่อประกอบธุรกิจตามกฎหมายต่อไป