ลพบุรี - เปิดใจ "ครูอ้อ" พ่อพิมพ์ของชาติ "ความแตกต่างที่ต้องปรับเปลี่ยนในบทบาทเรือจ้าง จากความเชื่อ “เด็กทุกคนพัฒนาได้” ช่วยมุ่งมั่นให้มาเป็นครูสอนเด็กบกพร่อง ให้พวกเขาสามารถมีชีวิตอยู่ร่วมกับคนปกติได้
ครูเปรียบเสมือนเรือจ้าง ซึ่งมีหน้าที่หรือบทบาทสำคัญที่จะส่งลูกศิษย์ให้ถึงฝั่ง ซึ่งถือว่าไม่ง่ายและไม่ยากจนเกินไปสำหรับการส่งลูกศิษย์ปกติ แต่สำหรับเรือจ้างที่จะต้องทำหน้าที่ส่งเด็กพิเศษ ที่มีความบกพร่องด้านต่างๆ ต้องใช้พลังมากเท่าไหร่จึงจะส่งลูกศิษย์ให้ถึงฝั่งได้ คาดว่าต้องใช้ความมุ่งมั่น ตั้งใจเป็นพิเศษ เพื่อพัฒนาแก้ไขปัญหาของเด็กแต่ละรายให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ตามปกติ
ในทุกวันที่ 16 มกราคมของทุกปี ที่ถูกกำหนดให้เป็นวันครู วันนี้ mgr online อยากจะหยิบยกเรื่องราวของเรือจ้างที่ต้องนำพาลูกศิษย์ที่เป็นเด็กพิเศษ มาถ่ายทอดความรู้สึกในแห่งอีกแง่มุมหนึ่งของความเป็นครูผู้ให้ "ครูอ้อ" นายพงษ์ธวัช กลิ่นสุคนธ์ ครูผู้สอนประจำศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 6 จ.ลพบุรี หน่วยบริการชัยบาดาล ที่ยืนหยัดมาตลอดว่า “เด็กทุกคนพัฒนาได้ ” และเป็นแรงขับเคลื่อนให้เดินหน้าในหน้าที่นี้มาอย่างแข็งขัน
จนได้รับรางวัลมากมาย โดยเฉพาะรางวัลทรงคุณค่า สพฐ. (OBEC AWARDS) ระดับชาติ เหรียญเงิน ครูผู้สอนยอดเยี่ยมโรงเรียนการศึกษาพิเศษ (บกพร่องทางการได้ยิน) ด้านบริหารจัดการ จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รับรางวัลเชิดชูเกียรติพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (รางวัลเสมาพิทักษ์) ประจำปี พ.ศ.2566 รับรางวัลระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ประจำปี 2565 ประเภทศูนย์การศึกษาพิเศษ ระดับยอดเยี่ยม จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
"สิ่งที่ยึดถือมาตั้งแต่แรกคือความตั้งใจจะเป็นครูที่ดี จริงๆืแล้วไม่ได้จบจากคณะศึกษาศาสตร์ แต่จบจากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาคอมพิวเตอร์ศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี แรงบันดาลใจเกิดจากที่ได้ไปเป็นครูสอนเด็กปกติ หลังจากจบการศึกษาเมื่อปี 2558 จนกระทั่งได้เริ่มเห็นเด็กพิเศษในโรงเรียนซึ่งมาเรียนรวมกับเด็กปกติ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะถูกแกล้งบ้าง ถูกรังแกบ้าง ทำให้รู้สึกสงสาร เพราะเด็กคนอื่นๆ จะมองเด็กกลุ่มนี้ เหมือนเป็นจุดด้อยของห้อง ประกอบกับเป็นช่วงที่มีการเปิดสอบบรรจุครูเด็กพิเศษ จึงทำให้เกิดความคิดที่อยากจะช่วยเด็กกลุ่มนี้จึงไปสมัครสอบ และได้รับการบรรจุเข้าสอนที่ศูนย์การศึกษาเด็กพิเศษที่ 6 ลพบุรี"
ครูอ้อ เล่าว่า วันแรกที่เข้ามาสอนถึงกับตกใจ คือมันแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากการสอนเด็กปกติ เจอทุกรูปแบบ รวมทั้งตนเองไม่มีพื้นฐานและความรู้เกี่ยวกับการสอนเด็กพิเศษมาก่อน หลังจากนั้นจึงตั้งใจศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาตัวเอง ทั้งเข้าอบรม ทั้งเรียนรู้จากรุ่นพี่ ทำทุกอย่าง ทำให้รู้ว่าการเป็นครูสอนเด็กปกติ สู่ครูสอนเด็กพิเศษนั้นมันมีความยากมาก และสิ่งสำคัญ หรือหัวใจการของการสอนเด็กพิเศษ คือครูต้องเข้าใจเด็ก และครูต้องเข้าถึงผู้ปกครอง และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ครูต้องใจเย็นมากๆ และรักเด็ก
หัวใจของการเป็นครูการศึกษาพิเศษ คือ เด็กพิเศษต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง คือทั้งโรงเรียน "เด็ก" สำคัญที่สุด ส่วนครูมีหน้าที่ดูแล ให้ความช่วยเหลือ แก้ปัญหาให้เด็ก ฝึกและพัฒนาให้เด็กสามารถมีชีวิตอยู่ร่วมกับคนปกติได้ และที่สำคัญเลยคือต้องรู้จักตัวเด็ก หมายถึงรู้จักปัญหาของเด็ก เพื่อที่เราจะได้ช่วยแก้ไขในจุดที่เขาบกพร่อง หรือมีปัญหานั้นๆ เพื่อให้เขาอยู่ร่วมกับสังคมปกติได้ อาจจะอยู่ไม่ได้เทียบเท่ากับเด็กปกติ แต่อย่างน้อยๆ ให้เขาอยู่ร่วมกับสังคมหรือคนปกติได้ ดูแลตัวเองได้ก็พอแล้ว และสิ่งที่ทำให้เราภูมิใจ คือการได้เห็นเด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในระดับที่สามารถเรียนต่อได้ ทั้งโรงเรียนปกติ หรือบางคนไปเรียนต่อในโรงเรียนเฉพาะทาง อย่างเช่นโรงเรียนสำหรับคนบกพร่องทางการได้ยิน หรือบกพร่องทางสติปัญญา
คำบอกเล่าจากเพื่อนร่วมงาน การันตรีคำว่า "ครูอ้อ คือครูผู้ให้"
ครูศิระประภา รอดบาง ครูผู้สอนประจำศูนย์การศึกษาพิเศษเขตการศึกษา 6 จ.ลพบุรี หน่วยบริการชัยบาดาล พูดถึงครูอ้อว่า มุมมองของเพื่อนร่วมงานกับครูอ้อ เป็นคนที่จริงจังกับการทำงาน ก่อนที่จะได้รับมอบหมายงานใดๆ ครูอ้อ จะมีการวางแผนว่างานนั้นอาจต้องออกมาเป็นอย่างไร เช่น การสอน ครูอ้อจะมีการวางแผนในการจัดการเรียนการสอนแต่ละครั้ง เตรียมการสอน เตรียมอุปกรณ์การสอน และวางแผนในการดำเนินงานเป็นอย่างดี แต่ถ้าหากงานนั้นออกมาดีพอ หรือโดนติติง ครูอ้อจะพัฒนาตนเองในงานครั้งต่อไปให้ดีขึ้นกว่าเดิม
รวมถึงการดูแลเด็ก ครูอ้อ มีการพัฒนาตนเอง ทางด้านการศึกษาพิเศษ เข้ารับการอบรมต่างๆ เพื่อที่จะนำความรู้มาดูแลเด็กพิเศษมาพัฒนาเด็กพิเศษของเราให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคมอย่างมีความสุข ส่วนในฐานะเพื่อนร่วมงาน ครูอ้อ เป็นคนมีน้ำใจ ไม่ว่าเพื่อนคนไหนในกลุ่มเดือดร้อนครูอ้อจะเข้ามามาช่วยมาแก้ปัญหาเสมอ
ครูณัฐิยา พูลทอง ครูชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการสอน เล่าว่า ครูอ้อ เป็นครูที่มีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งด้านการสอน การผลิตสื่อ การปรับพฤติกรรม รวมถึงการรู้จักนักเรียนแต่ละคน ว่าควรสอนอย่างไร ทำอย่างไร ให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ และสามารถปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน เนื่องจากนักเรียนเป็นนักเรียนที่มีความพิการ จึงต้องใช้ความรู้ ควบคู่กับความเข้าใจ ซึ่งครูอ้อ มีครบทั้ง 2 สิ่ง ทำให้นักเรียนได้รับการพัฒนาได้อย่างเหมาะสม และตามศักยภาพของนักเรียน
การดูแลเด็กๆ ครูอ้อ ใช้ “ความรัก” เป็นสิ่งนำทางในการดูแลนักเรียน จะดูแลนักเรียนทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่แบ่งแยก แบ่งประเภท ทำให้เด็กๆ รักครูอ้อมาก รวมไปถึงผู้ปกครองให้ความเชื่อใจ ไว้ใจในตัวครูอ้อ
ด้านของการเป็นเพื่อนร่วมงาน ครูอ้อ เป็นเพื่อนร่วมงานที่ดี คอยช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ เสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาในการทำงานต่างๆ เสมอ รวมไปถึงการให้คำแนะนำในการจัดการเรียนการสอน
ขณะที่ครูธีรภัทร เลียงวัฒนชัย เล่าว่า ในเรื่องของการจัดการเรียนการสอน ครูอ้อ มีการสอนในรูปแบบที่หลากหลายทั้งวิชาการ และทักษะที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ในด้านวิชาการมีการนำสื่อที่หลากหลายทั้งที่เป็นสื่อผลิตมือ หรือสื่อมัลติมีเดีย ที่ครูอ้อจัดทำให้ตรงกับพัฒนาการของนักเรียน ตรงกับความสนใจ ตื่นเต้น ทำให้นักเรียนไม่เบื่อในระหว่างการเรียนรู้
ในด้านการสอนทักษะที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เป็นการสอนที่ให้นักเรียนสามารถช่วยเหลือตนเองให้ได้มากที่สุดเท่าที่คนคนนั้นจะสามารถทำได้ ครูอ้อมักจะชอบสอนนักเรียนทำอาหารง่ายๆ การทำงานบ้านง่ายๆ เพื่อให้เด็กเกิดทักษะการเรียนรู้ ในการเป็นครูเด็กพิเศษ เราต้องติดตามดูพัฒนาการในขณะอยู่ที่บ้านด้วย คอยโทร.ถามหรือซักถามผู้ปกครองในเวลาที่มาส่งเด็กมาเรียน และในบางครอบครัวมีฐานะที่ยากจนและอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลจากตัวอำเภอต้องหาทุน หาถุงยังชีพจากผู้ใหญ่ใจดีไปให้เด็กๆ และผู้ปกครองจึงรักครูอ้อ