กาญจนบุรี - รังสิมันต์ โรม ประธาน กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ ลงพื้นที่ชายแดนด่านเจดีย์สามองค์ ตรวจสอบปัญหาขนยางพาราข้ามเขตแดนไปประเทศมาเลเซีย ป้องทำผิดกฎหมาย แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป พร้อมเรียกหน่วยงานเข้าหารืออีกครั้งหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างวันที่ 17-18 ธ.ค.66 นายรังสิมันต์ โรม ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ นายปิยะรัฐ จงเทพ นายยูนัยดี วาบา โฆษกคณะกรรมาธิการ นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ น.ส.ชลิตา ด่านสวนใหญ่ นายนฤชิต นันทจันทร์ นายวุฒิชัย สุชีพ นายสุรกิจ ศรีเกษม เลขานุการคณะกรรมาธิการ พร้อมคณะได้เดินทางลงพื้นที่อำเภอสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เพื่อศึกษาดูงานเรื่องปัญหาการลักลอบนำยางพาราเข้ามาในประเทศโดยผิดกฎหมาย
โดยมีนายรณภพ เวียงสิมมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นายปกรณ์ กรรณวัลลี ปลัดจังหวัดกาญจนบุรี นายสุทธิพร ศิวเวทพิกุล นายอำเภอสังขละบุรี พ.อ.สุรเดช เมฆานุวงศ์ รอง ผบ.ฉก.ลาดหญ้า กกล.สุรสีห์ พ.ต.อ ไพฑูรย์ ศรีวิลัย ผกก.สภ.สังขละบุรี นายอิศเรศ รุ่งเรืองชนบท นายด่านศุลกากรสังขละบุรี เจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชสังขละบุรี เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอสังขละบุรี เจ้าหน้าที่การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดกาญจนบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับและร่วมเดินทางไปสำรวจช่องทางธรรมชาติ รวมทั้งตรวจสอบบริเวณขนถ่ายยางพาราข้ามเขตแดนที่ด่านพรมแดนบ้านพระเจดีย์สามองค์ หมู่ 9 ต.หนอลู อ.สังขละบุรี
ต่อมา ช่วงเช้าวันนี้ (18 ธ.ค.) คณะทั้งหมดได้ร่วมประชุมเพื่อรับฟังการบรรยายสรุป รวมทั้งปัญหาและข้อเสนอแนะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อร้องเรียนเกี่ยวการขนถ่ายยางพาราข้ามเขตแดนสร้างกลิ่นเหม็นทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบเกี่ยวกับมลพิษทางกลิ่น รวมทั้งปัญหารถบรรทุกขนยางพาราข้ามเขตแดนเพื่อนำไปส่งที่ประเทศมาเลเซีย เกิดอุบัติเหตุ หรือไม่มีศักยภาพในการขึ้นลงทางลาดชันถนนสาย 323 สังขละบุรี-กาญจนบุรี บริเวณเนินช้างร้อง และเนินยาว รถบรรทุกที่ประสบอุบัติเหตุแต่ละครั้งตัวรถไปขวางช่องทางจราจร ส่งผลกระทบต่อประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางทั้งไปและกลับพื้นที่อำเภอสังขละบุรีนานกว่า 3 ชั่วโมง ซึ่งวันนี้คณะทั้งหมดได้ประชุมร่วมกันที่ห้องประชุมราชสีห์ ที่ว่าการอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
ซึ่งในที่ประชุมได้มีการซักถามข้อมูลถึงขึ้นตอนทางศุลกากรในการนำยางพาราข้ามเขตแดนบริเวณด่านศุลการกรสังขละบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์) โดยนายอิศเรศ รุ่งเรืองชนบท นายด่านศุลกากร ตอบข้อซักถามว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามระเบียบ และกฎหมายศุลกากรอย่าเคร่งครัด โดยในช่วงแรกของการนำยางเข้ามาเป็นยางที่มีกลิ่นเหม็น (ยางเน่า) ส่งผลให้ชาวบ้านพระเจดีย์สามองค์และผู้ประกอบการร้านค้าของที่ระลึกบริเวณชายแดนได้รับความเดือดร้อนในเรื่องกลิ่นเหม็น และปัญหาถนนที่เสียหาย ต่อมาได้มีการเรียกผู้ประกอบการประชุมร่วมกับนายอำเภอสังขละบุรี ทหาร ฝ่ายปกครอง และมีการแจ้งให้ผู้ประกอบการดำเนินการแก้ไขจนปัจจุบันปัญหาดังกล่าวเริ่มดีขึ้น
ส่วนข้อสงสัยสามารถนำยางผ่านแดนเข้ามาในช่องทางด่านเจดีย์สามองค์ ซึ่งเป็นจุดผ่อนปรนชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยวได้หรือไม่นั้น ตนขอยืนยันว่าสมารถทำได้ เนื่องจากไม่มีระเบียบหรือข้อบังคับระบุไว้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรของเพื่อนบ้าน และเพื่อความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศไทยและพม่า ซึ่งเป็นไปตามข้อตงลงของเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area หรือ AFTA)
ระหว่างนั้นมีคณะกรรมาธิการบางรายได้ท้วงติงในข้อกังวลเรื่องยางพาราผ่านเขตแดน (ทรานซิท) อาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้ราคายางในประเทศตกต่ำ เนื่องจากมาเลเซียเป็นตลาดยางพาราที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย การที่ปล่อยให้มีการนำยางพาราจากพม่าผ่านแดนไปที่ประเทศมาเลเซีย จะส่งผลกระต่อส่วนแบ่งการตลาดยางพาราที่ไทยเคยขายให้ประเทศมาเลเซีย เนื่องจากข้อมูลที่ได้รับทราบมาถึงตอนนี้มีการนำยางทรานซิทจากพม่าผ่านไปประเทศมาเลเซียในช่องทางผ่านแดนชั่วคราวบ้านพระเจดีย์สามองค์ไปแล้วกว่า 124,000 ตัน
ทั้งนี้ หลังการประชุม นายรังสิมันต์ โรม ประธานกรรมาธิการเปิดเผยว่า หลังจากลงพื้นที่ได้รับทราบข้อมูลในพื้นที่ทั้งจากประชาชนผู้ร้อง รวมทั้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทางคณะกรรมาธิการจะได้นำข้อมูลที่ได้รับไปหารือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุปของปัญหาอีกครั้ง
เบื้องต้น พบว่ายางที่นำเข้ามาจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.ยางทรานสิทที่มีการนำเข้ามาจากประเทศพม่าเพื่อส่งต่อไปประเทศมาเลเซียที่มีจำนวนการนำเข้าที่มหาศาล และเคยพบปัญหาการมีกลิ่นเหม็น ซึ่งตาม พ.ร.บ.กักกันพืช พ.ศ.2507 จะต้องเป็นยางแผ่นรมควันเท่านั้น ซึ่งยางรมควันจะไม่มีกลิ่นเฉพาะของมัน
จากการรับฟังข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านจึงทำให้เข้าใจได้ว่ายางที่นำเข้าอาจจะไม่ใช่ยางแผ่นรมควัน หลังจากเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ แล้วคณะกรรมาธิการจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือร่วมกันว่าจะแก้ไขปัญหายางที่ลักลอบเข้ามาได้อย่างไรต่อไป