เพชรบูรณ์ – การันตี งานนี้ได้เห็นเจดีย์เหลืองทองส่องอร่าม..ศรัทธาวัดดังหล่มสัก ผนึกพลังบ้าน-วัด-โรงเรียนเตรียมจัดงาน “เจดีย์ข้าว บูชาพระแม่โพสพ ปี 66” นำข้าวเปลือกบริจาคไม่ต่ำกว่า 20 ตัน สร้างเจดีย์ระฆังคว่ำ-กำแพงแก้ว โชว์ก่อนขนข้าวเปลือกขายนำปัจจัยสมทบทำบุญต่อ
นายชัชวาล เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ พระครูถาวรพัชรกิจเจ้าอาวาสวัดโฆษา นายวัชระ ธรรมปัญญาสกุล พัฒนาการจังหวัดเพชรบูรณ์ นายอัครดนัย บัวภา กำนัน ต.ห้วยไร่ และคณะกรรมการ ร่วมแถลงข่าวเตรียมจัดงานประเพณีเจดีย์ข้าว บูชาพระแม่โพสพ ปี 2566 ” ณ วัดโฆษา บ้านท่าช้าง หมู่ที่ 2 ต.ห้วยไร่ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์
พระครูถาวรพัชรกิจเจ้าอาวาสวัดโฆษา ระบุว่า งานบุญเจดีย์ข้าว บูชาแม่พระโพสพ เป็นแนวคิดของนายศิวัช ฟูบิน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายอำเภอหล่มสัก ที่นำแนวคิดงานประเพณีบุญคุณลานสู่ขวัญข้าวมาแลกเปลี่ยนกับกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนและชาวตำบลห้วยไร่ รวมทั้งนำคณะผู้นำชุมชนตำบลห้วยไร่ไปศึกษาดูงานปราสาทข้าวที่วัดเศวตวัดวนาราม บ้านต้อน ต.เหนือ อ.เมืองกาฬสินธุ์
กระทั่งนำแนวคิดวิธีการทำปราสาทข้าวมาประยุกต์ สร้างเจดีย์ข้าวเหนียว นำข้าวกำลังเก็บเกี่ยวจำนวน 8 ตัน มามัดรวมกันเป็นช่อ ทำเจดีย์ทรงข้าวระฆังคว่ำฐาน 8 เหลี่ยมและกำแพงแก้วล้อมรอบขึ้นเป็นครั้งแรก ใช้เวลาทั้งสิ้น 17 วัน สร้างเจดีย์ข้าวเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนพฤศจิกายน 2563 ก่อนจัดงานบุญเจดีย์ข้าวสืบสานบุญคุณลานบูชาพระแม่โพสพ เป็นครั้งแรกเมื่อ 10-12 ธันวาคม 2563
พิธีสืบบุญคุณลาน สู่ขวัญข้าว เกิดจากพลังศรัทธาและความสามัคคีของ “บ-ว-ร บ้าน วัด โรงเรียน”ที่ร่วมกันจัดกิจกรรมขึ้น ที่สำคัญคือ การนำวิถีชีวิตชาวนามาร้อยเรียงเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นการสร้างความสามัคคี สร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในชุมชน และต่อยอดด้วยการแปรรูปข้าว
และเมื่อเสร็จสิ้นการจัดแสดงแล้วจะนำข้าวไปแปรรูปเป็นข้าวสารเพื่อนำไปจำหน่ายแล้วนำเงินสมทบทุนจัดสร้างอาคารโรงพยาบาลอำเภอหล่มสัก ถือเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่สำหรับประชาชนผู้มีจิตศรัทธาบริจาคข้าว มาสร้างเจดีย์ข้าวให้มีความสวยงามเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวชมเจดีย์ข้าวที่สวยงามของอำเภอหล่มสัก
สำหรับในปีนี้ได้กำหนดการจัดงานบุญเจดีย์ข้าว ระหว่างวันที่ 19 – 23 ธันวาคม 2566 โดยจะมีพิธีเปิดในวันที่ 19 ธ.ค.2566 ซึ่งจะมีขบวนแห่แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ วัฒนธรรมและการละเล่นในท้องถิ่นจากทุกหมู่บ้าน และนอกจากนั้นจะมีการแสดงและการละเล่นต่าง ๆ ทุกวัน ส่วนเจดีย์ข้าวจะจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้มาสักการะบูชา ร่วมทำบุญ เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในชุมชน และเมื่อสิ้นสุดการจัดการแสดงเจดีย์ข้าวแล้ว คณะกรรมการจัดงานฯ จะนำข้าวเปลือกจากเจดีย์ข้าวไปจำหน่าย แล้วนำเงินไปใช้ตามวัตถุประสงค์ต่อไป