นครสวรรค์ - จับตาจุดเปลี่ยนวงการพระเครื่องไทย หลังสิ้น “หลวงพ่อพัฒน์-เทพเจ้าแห่งปากน้ำโพ” ที่เซียนพระเคยแห่ขอสร้าง-ปลุกเสก เหรียญ/เครื่องราง แทบไม่เว้นวัน รวมไม่ต่ำกว่า 500 รุ่น มูลค่าตลาดรวมนับหมื่นล้าน อาจได้จังหวะปั่นราคาจากหลักร้อยสู่หลักพัน-ปั้นเกจิดังแก่พรรษารูปใหม่แทน
ตั้งแต่ 08.00-21.00 ทุกวัน วัดห้วยด้วน หรือวัดธารทหาร อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ ยังคงเต็มไปด้วยคลื่นศรัทธาสาธุชนที่หลั่งไหลเดินทางไปกราบอาลัย-ร่วมพิธีสวดพระอภิธรรม หลวงพ่อพัฒน์ อดีตเจ้าอาวาสฯ ซึ่งได้ชื่อเป็นพระเกจิดัง-เทพเจ้าแห่งปากน้ำโพ ที่บรรจุอยู่ในโลงแก้วบนศาลา 100 ปี วัดห้วยด้วน โดยยังไม่มีกำหนดวันพระราชทางเพลิงศพ
ทั้งนี้ ตามประวัติพระราชมงคลวัชราจารย์ หรือ หลวงพ่อพัฒน์ เกิดเมื่อศุกร์ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2465 ที่บ้านสระทะเล ต.ย่านมัทรี อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ เป็นบุตรคนที่ 2 จากทั้งหมด 6 คนของบิดาชื่อ พ่อพุฒ โยมมารดาชื่อ แม่แก้ว ก้อนจันเทศ เดิมหลวงพ่อพัฒน์มีชื่อว่า “กุน” วัยเยาว์มักมีอาการป่วย จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “พัฒน์” เพราะเชื่อว่าจะพัดโรค พัดทุกข์ไป
พออายุ 13 ปี เรียนจบ ป.4 ได้เรียนวิชาอาคมหลวงปู่เทศ วัดสระทะเล กระทั่งฝันว่ามีชายคนแก่ใส่ชุดขาวห่มขาวมาบอกว่า..อย่าเพิ่งบวชให้ไปเป็นทหารเสียก่อน..กระทั่งเป็นทหารได้ไปร่วมรบสงครามโลกครั้งที่ 2 จนปลดประจำการ และรับการอุปสมบทเมื่อ พ.ศ. 2489 ณ วัดสระทะเล
หลวงพ่อพัฒน์สืบทอดวิชาจากหลวงปู่เทศ วัดสระทะเล ซึ่งเป็นทวด ผ่านทาง หลวงปู่เดิม วัดหนองโพ ต้นตำรับ "มีดหมอ" ก่อนไปเรียนวิชาทางเมตตามหานิยมกับ หลวงปู่ชุบ วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง จังหวัดอุตรดิตถ์ และเป็นเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง 6 ปี กระทั่งกลับมาจำพรรษาวัดสระทะเล
ต่อมาโยมบิดามารดาของหลวงพ่อพัฒน์ได้ย้ายไปประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่บ้านห้วยด้วน หรือบ้านธารทหาร อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ หลวงพ่อพัฒน์ จึงมาจำพรรษาและพัฒนาวัดห้วยด้วน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 เรื่อยมากระทั่งมรณภาพ 24 พฤศจิกายน 2566 เวลา 01.35 น. ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ สิริอายุได้ 101 ปี
“หลวงพ่อพัฒน์” ผ่านการเรียนคาถาอาคม "หลวงปู่เดิม วัดหนองโพ" และอีกหลายเกจิอาจารย์ กระทั่งได้รับฉายาเป็น “เทพเจ้าแห่งปากน้ำโพ” ประกอบใจดีเปี่ยมเมตตา หากลูกศิษย์หรือใครจะมาสร้างวัตถุมงคลก็ไม่ขัด มิได้เรียกร้องใดๆ เพียงแต่คนที่มาทำพิธีปลุกเสกพุทธาภิเษกเหรียญรุ่นใดๆ ก็ตาม มักระบุว่า..จะนำปัจจัยถวายสร้างถาวรวัตถุต่างๆ เป็นต้น
แม้กระทั่ง “แอ๊ด คาราบาว” ก็ยังมาสร้าง "เหรียญจิ๊กโก๋" ด้วย ส่วนเหรียญหลวงพ่อพัฒน์ รุ่นที่ “ป๋อง สุพรรณ” สร้างช่วงปี 63-66 ก็ฮือฮาไม่น้อย ระบุถวายปัจจัยสร้างโรงพยาบาลหนองบัวและพุทธอุทยานนครสวรรค์ ประทับตราบนโบรชัวร์จำหน่ายเหรียญวัตถุมงคล “ป๋อง สุพรรณ การันตี” ทำให้ผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวบ้าน
เม็ดเงินรายได้จากการปลุกเสกจำหน่ายเหรียญต่างๆ สร้างความเจริญรอบวัดทันตาเห็น บารมีของหลวงพ่อพัฒน์จึงเป็นที่เลื่อมใสของชาวบ้านหนองบัว นครสวรรค์ และคนทั้งประเทศ ศาลา 100 ปีหลวงพ่อพัฒน์ทำด้วยไม้ทั้งหลัง เจดีย์ใหญ่โตอลังการโดดเด่นกว่าที่ว่าการอำเภอหนองบัวด้วยซ้ำ
แหล่งข่าวยืนยันว่า วัดมีพิธีพุทธาพิเศษปลุกเสกวัตถุมงคลเหรียญในวาระต่างๆ โดยหลวงพ่อพัฒน์ทำพิธีปลุกเสกบ่อยครั้งมาก วางคิวไม่เว้นแต่ละวัน บางครั้งก็แทบไม่ต้องขนวัตถุมงคลลงจากรถบรรทุกด้วยซ้ำ เพราะรีบเร่งปลุกเสก เชื่อว่ามีพิธีปลุกเสกไม่ต่ำกว่า 500 ครั้ง (พระเครื่อง 500 รุ่น) แต่คงไม่ถึง 1,000 รุ่นแน่นอน แต่ละรุ่นมีจำนวนหลากชนิดหลายเนื้อ รวมแล้วนับหมื่นองค์ในแต่ละครั้งของการปลุกเสก มูลค่าตลาดรุ่นละไม่ต่ำกว่า 20 ล้าน ก็ตกเป็นหมื่นล้าน
“กรรมการวัด หรือลูกศิษย์คนสนิทของหลวงพ่อพัฒน์คนใด ถ้าจะพาผู้มีบารมีมาขออนุญาตสร้างเหรียญ ต้องติดต่อหลวงพ่อพัฒน์เท่านั้น กรรมการหรือไวยาวัจกร ไม่มีอำนาจใด เป็นเพียงผู้นำพาเท่านั้น ซึ่งหลวงพ่อพัฒน์ก็ไม่ขัดอยู่แล้ว เพียงต้องปันเงินรายได้ไว้สร้างสาธารณประโยชน์บ้าง”
การทำวัตถุมงคลหรือเหรียญต่างๆของหลวงพ่อพัฒน์นั้น ต้องยอมรับว่า ประสบผลสำเร็จ เพราะหลวงพ่อเป็นเกจิที่มีชื่อเสียง บวกกับการทำตลาดของเซียนพระรุ่นใหม่ ที่กำหนดราคาต่ำ เริ่มต้นเพียง 200-300 บาทต่อเหรียญ ตอกโค้ดและซีรีส์นับเบอร์ ตามยุคสมัยนิยม ให้คนวัยหนุ่มสาวหรือคนเพิ่งเข้าวงการพระ มีโอกาสจับต้องหรือมีสิทธิ์ครอบครอง และสามารถเช่าซื้อหาหลวงพ่อพัฒน์ตามสื่อออนไลน์ "ติ๊กต็อก" ได้อีก
ว่ากันว่า คนที่ทำพระ ซึ่งเป็นคนนอกพื้นที่นั้น..รวยทุกคน
ยกตัวอย่าง เหรียญหลวงพ่อพัฒน์ รุ่น นักษัตร ปีจอ จำนวน 799 ชุด ใน 1 ชุดนั้นมีจำนวน 39 องค์ (แยกเนื้อและสีของพระ) จำหน่ายยกชุดราคา 29,999 บาท (เฉลี่ยต่อองค์ 769 บาท) รวมมูลค่า 23,969,201 บาท ถ้าหากจำหน่ายพระในรุ่นนักษัตรหมดจะมีเงิน 24 ล้านบาท แบ่งออกไปเป็นต้นทุนพระ, ค่ากล่อง, ค่าเจ้าพิธีปลุกเสก, จัดดำเนินการเพื่อสาธารณะ ฯลฯ โดยต้องมียุทธวิธีผ่านช่องเครือข่ายทางจำหน่ายหรือ "ทีมงานสะพานบุญ" อันแข็งแกร่ง อาจใช้โปรโมชัน เหรียญพระเครื่องรุ่นพิเศษเป็นรายการแถม ลักษณะพิมพ์ลุ้นพิเศษ (สุ่ม) สำหรับ ทีมงานขายที่ซื้อยกลัง (100 กล่องพระ)
และล่าสุด..เพียงไม่กี่วันหลังสิ้นหลวงพ่อ ราคา “เหรียญหลวงพ่อพัฒน์” ที่ออกจากวัดหลักร้อยต้นๆ ขยับขึ้นไปอย่างต่ำ 800-1,000 บาท สำหรับเนื้อเงิน เนื้อนวะ หรือวาระพิเศษ เลขสวย ราคาพุ่งเท่าตัวทุกเหรียญ ประมาณหลักพัน-หลักหมื่น
ด้วยเพราะดูเหมือนหมดสมัยแล้ว ที่คนนิยมพระเครื่องจะเสี่ยงไปเช่าพระราคาแพงๆ เป็นล้าน อย่างพระสมเด็จ, นางพญา, หลวงพ่อเงิน (รุ่นพิมพ์นิยม) ฯลฯ หวั่นต่อการถูกหลอก ตีเก๊ ถ้าเป็นพระปลอมก็หมดอนาคต เข้าตำราว่า ซื้อพระปลอมราคา 1 บาทก็ถือว่า "แพง" แล้ว
ยุคนี้..ยิ่งซื้อง่ายขายคล่อง ส่งตรงถึงบ้าน เพียงออกแบบพระลงยาสีสัน-ลวดลาย ตรงใจนักเลงพระรุ่นใหม่ และหลากชนิดเนื้อพระ หลายวาระจนครบชุด ชุดละ 3 หมื่น (โดยประมาณ) กระจายพระลักษณะยกลัง (100 กล่อง) ไปตามช่องทางเครือข่ายแผงพระตามเว็บไซต์ ซึ่งจะมีเซียนพระหน้าใหม่นำเหรียญต่างๆ ทยอยออกประมูลและไลฟ์สด ปล่อยเช่าบูชาตามเฟซบุ๊ก ติ๊กต็อก ด้วยกลเม็ดวิธีการขายสารพัด เช่น เหรียญกรรมการ เหรียญนำฤกษ์ ลุ้นเลขสวย เป็นต้น
และนี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนวงการพระเครื่องไทย จากอดีตที่เจ้าอาวาสต้องหาเงินไปลงทุนสร้างพระ ทำพิธีปลุกเสกเอง จ่ายค่ากล่องบรรจุพระเอง เสี่ยงต่อเงินจม อีกทั้งต้องรอญาติโยมเดินทางเข้าวัด นานๆ ครั้งจึงจะปล่อยบูชาเครื่องเพียงหลักร้อยหลักพันเท่านั้น
แต่แน่นอนว่า หลังสิ้น “หลวงพ่อพัฒน์” คนสร้างพระเครื่องย่อมเบนเข็มเปลี่ยนทิศ หาพระเกจิดังๆ อายุพรรษามากๆ มาเป็นจุดขายต่อไป