xs
xsm
sm
md
lg

ทันตแพทย์ มข.โชว์ความสำเร็จ “นวัตกรรมบูรณกระดูก-ข้อต่อขากรรไกร” ครั้งแรกในอีสาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดกิจกรรมแถลงข่าวความสำเร็จ นวัตกรรมบูรณกระดูก-ข้อต่อขากรรไกร
ศูนย์ข่าวขอนแก่น-ทันตแพทย์ มข.ประกาศความสำเร็จ ครั้งแรกในภาคอีสาน รักษาผู้ป่วยด้วยวิธี บูรณะข้อต่อขากรรไกรทั้งสองด้านด้วยข้อต่อขากรรไกรเทียมชนิดผลิตเฉพาะบุคคล และการบูรณะกระดูกขากรรไกร ด้วยกระดูกน่องและต่อเส้นเลือดร่วมกับการใส่ฟันปลอมด้วยรากเทียม


เมื่อเร็วๆนี้ ที่ห้องประชุมสิริคุณากร 3 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดกิจกรรมแถลงข่าวความสำเร็จการรักษาผู้ป่วยด้วยการบูรณะข้อต่อขากรรไกรทั้งสองด้านด้วยข้อต่อขากรรไกรเทียมชนิดผลิตเฉพาะบุคคล (Customized-temporomandibular joint prosthesis for bilateral total TMJs reconstruction) และการบูรณะกระดูกขากรรไกร ด้วยกระดูกน่องและการต่อเส้นเลือดร่วมกับการใส่ฟันปลอมด้วยรากเทียม (Jaw in a day with fibula free flap reconstruction)

มีผศ.ดร.ทพ.อชิรวุธ สุพรรณเภสัช คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วยรศ.ทพญ. เสาวลักษณ์ ลิ้มมณฑล หัวหน้าสาขาวิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล มข., อ.นพ.ทพ.ธีรัตต์ เจิ่งประภากร, อ.นพ.ทพ.นิพนธ์ คล้ายอ่อน และคณะ จากสาขาวิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล ร่วมแถลงข่าว

รศ.ทพญ. เสาวลักษณ์ ลิ้มมณฑล หัวหน้าสาขาวิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล กล่าวว่า สาขาวิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล มีหน้าที่หลักให้บริการวิชาการรวมไปถึงการรักษาทางทันตกรรมเฉพาะทาง การวินิจฉัยเพื่อแก้ไขความผิดปกติในบริเวณช่องปาก ที่ผ่านมาทางสาขาวิชาได้นำเทคโนโลยี 3 มิติมาใช้รักษาผู้ป่วยเพื่อลดระยะเวลาในห้องผ่าตัด จนประสบความสำเร็จเกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วยที่สามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติ

ขณะที่ ผศ.ดร.ทพ.อชิรวุธ สุพรรณเภสัช คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่าวันนี้ยินดีกับก้าวสำคัญของคณะทันตแพทยศาสตร์ ที่ประสบความสำเร็จทั้งการผ่าตัดข้อต่อขากรรไกรเทียมเป็นเคสแรกของประเทศไทย และการผ่าตัด Jaw in a day เคสแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยสองทันตแพทย์และทีมงานจากสาขาวิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล ครั้งนี้เป็นความภาคภูมิใจของคณะกับความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยด้วยนวัตกรรมการบูรณะกระดูกและข้อต่อขากรรไกร สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของคณะทันตแพทยศาสตร์ มข. ที่มีพันธกิจหลักคือการบริการวิชาการเพื่อพัฒนาวิชาชีพนำไปสู่การบริการรักษาทางทันตกรรมขั้นสูงภายใต้มาตรฐานคุณภาพที่ดีที่สุดสู่สังคม




ขณะที่ อ.นพ.ทพ.นิพนธ์ คล้ายอ่อน กล่าวถึงการรักษาผู้ป่วยด้วยการบูรณะข้อต่อขากรรไกรทั้งสองด้านด้วยข้อต่อขากรรไกรเทียมชนิดผลิตเฉพาะบุคคลว่า ผู้ป่วยได้รับการรักษาภายใต้โครงการวิจัยทางคลินิกหลังถูกตรวจพบว่ามีการละลายตัวของข้อต่อขากรรไกรทั้งสองข้างอย่างรุนแรง ซึ่งน่าจะมีความสัมพันธ์กับโรคประจำตัว คือกลุ่มโรคความผิดปกติของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (connective tissue disease) ส่งผลให้ข้อต่อขากรรไกรและเบ้ารับหัวข้อต่อขากรรไกรสลายไป และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งจากปัญหาสบฟันไม่ได้ ฟันหน้ากัดไม่ลง ไม่สามารถเคี้ยวอาหารหรือกัดอาหารโดยฟันหน้าได้ และไม่สามารถปิดปากได้

สำหรับแนวทางรักษาเพื่อการบูรณะด้วยข้อต่อขากรรไกรนั้น มีสองแนวทางหลักคือ การบูรณะด้วยข้อต่อขากรรไกรเทียม (TMJ prosthesis) และการบูรณะด้วยเนื้อเยื่อจากตัวผู้ป่วยเอง (autogenous graft/flap) โดยการรักษาในครั้งนี้ ทีมทันตแพทย์ได้วางแผนการรักษาด้วยการผ่าตัดใส่ข้อต่อขากรรไกรเทียมทั้งชุด ทั้งส่วนข้อต่อขากรรไกรและส่วนเบ้ารับหัวข้อต่อขากรรไกรชนิดที่ผลิตเฉพาะบุคคล โดยเป็นการบูรณะพร้อมกันทั้งสองข้าง ซึ่งการรักษาวิธีนี้มีจุดเด่น คือผ่าตัดน้อยครั้ง ผู้ป่วยไม่ต้องเจ็บหลายที่ และไม่รบกวนเนื้อเยื่ออื่นบนร่างกาย รวมทั้งสามารถเริ่มต้นฝึกบริหารข้อต่อขากรรไกรและเริ่มใช้งานได้เร็ว

ส่วนการบูรณะกระดูกขากรรไกร ด้วยกระดูกน่องและการต่อเส้นเลือดร่วมกับการใส่ฟันปลอมด้วยรากเทียมนั้น นพ.ทพ.ธีรัตต์ เจิ่งประภากร กล่าวว่า ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยเป็นผู้ป่วยที่เป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง (benign tumor) บนกระดูกขากรรไกรล่าง ที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดกระดูกขากรรไกรล่างออกเป็นบริเวณกว้าง และต้องได้รับการบูรณะด้วยกระดูกน่องและการต่อเส้นเลือด


อย่างไรก็ตาม การบูรณะกระดูกขากรรไกรด้วยกระดูกน่องและการต่อเส้นเลือด เป็นวิธีการที่นิยมมากว่า 40 ปีแล้ว โดยกระดูกน่องที่บูรณะแล้วจะช่วยให้ทันตแพทย์สามารถทำฟันปลอมเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเคี้ยวและใช้งานได้เหมือนปกติ แต่อย่างไรก็ดีการบูรณะฟันปลอมโดยอาศัยแรงยึดจากรากเทียมบนกระดูกน่อง จำเป็นต้องใช้เวลาและการผ่าตัดหลายครั้ง ผู้ป่วยจำเป็นต้องรออย่างน้อย 12-18 เดือน ก่อนที่จะสามารถใส่ฟันปลอมได้

ทีมทันตแพทย์จึงตัดสินใจรักษาด้วยการบูรณะกระดูกขากรรไกรด้วยกระดูกน่องและการต่อเส้นเลือดร่วมกับการใส่ฟันปลอมด้วยรากเทียมในการผ่าตัดเพียงครั้งเดียว ซึ่งทำได้โดยการผ่าตัดฝังรากเทียมลงบนกระดูกน่อง ที่นำมาใช้บูรณะในวันผ่าตัด ร่วมกับการวางแผนเพื่อใส่ฟันปลอม ในวันเดียวกัน เมื่อวางแผนผ่าตัดและการใส่ฟันปลอมด้วยรากเทียม ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ได้ทำการผลิตเครื่องมือช่วยในการผ่าตัด และแผ่นเหล็กยึดกระดูกแบบเฉพาะผู้ป่วย (customized reconstruction plate) และทำการผ่าตัดตามที่วางแผนไว้


กำลังโหลดความคิดเห็น