ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ใส่เฝือก 2 ขาหลัง “น้องเดือน” ลูกช้างป่าทับลานหลงโขลงสำเร็จด้วยดี สัตวแพทย์ยังต้องเฝ้าดูอาการใกล้ชิด เผยลูกช้างมีอาการดีขึ้น ดื่มนมปกติ กระตือรือร้นสนใจสิ่งแวดล้อมดี หากลูกช้างแข็งแรงสมบูรณ์และมีความพร้อมเตรียมหา “แม่รับ” หรือหาแม่ช้างบุญธรรมมาดูแล
วันนี้ (19 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าอาการของลูกช้างป่าเพศผู้ เพิ่งคลอดซึ่งทางทีมสัตวแพทย์ได้ตั้งชื่อว่า “น้องเดือน” ที่พลัดหลงออกจากโขลงหลังออกจากป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน เข้าไปหากินภายในพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านตลิ่งชัน ต.จระเข้หิน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งตอนนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการเคลื่อนย้ายลูกช้างมาทำการรักษาที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลาน ที่ ทล.08 (ตลิ่งชัน) และตรวจสอบพบว่าลูกช้างมีอาการหัวกระดูกต้นขาส่วนปลายหักผิดรูป ที่บริเวณขาหลังด้านขวานั้น
ล่าสุดตอนนี้ทางสัตวแพทย์ได้ทำการใส่เฝือกที่ขาหลังของลูกช้างแทนวิธีการผ่าตัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากได้พิจารณาแล้วว่าการใส่อุปกรณ์ยึดตรึงกระดูกภายนอก (ilizarov) ต้องรอสั่งทำอุปกรณ์พิเศษ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีขนาดที่เหมาะสมกับลูกช้าง ซึ่งน่าจะกินเวลา 5-7 วัน และอาจช้าไปสำหรับช้างตัวนี้ ประกอบกับสภาพตัวลูกช้างป่าค่อนข้างไม่พร้อมต่อการเคลื่อนย้ายรวมถึงไม่พร้อมต่อการผ่าตัดใหญ่ ถึงแม้ว่าการใส่เฝือกจะไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสมที่สุดแต่วิธีนี้ใช้เวลาในการเตรียมการระยะสั้น สามารถปฏิบัติการได้ ณ จุดเลี้ยงและดูแลลูกช้างป่า โดยไม่ต้องขนย้ายตัวลูกช้าง ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อตัวลูกช้างป่าในปัจจุบันมากที่สุด
นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน เปิดเผย ล่าสุดตอนนี้ทางทีมสัตวแพทย์โดยความร่วมมือกันระหว่างหลายหน่วยงานจากทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นการรวมตัวกันครั้งประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งของไทย เข่น ทีมสัตวแพทย์จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา), โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน, สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ จังหวัดลำปาง และองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย เป็นต้น ได้ทำการใส่เผือกที่บริเวณขาหลังของลูกช้างทั้งสองข้างเป็นที่เรียบร้อยเป็นไปด้วยดี
ถือว่าเป็นการผ่านพ้นช่วงสำคัญของการรักษาไปได้แล้ว ท่ามกลางข้อจำกัดต่างๆ ที่ทำให้ทางคณะแพทย์ต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด โดยเดิมทีแล้วทางคณะแพทย์จะใส่เฝือกที่ขาหลังด้านขวาที่ตรวจสอบพบว่าหักก่อนหน้านี้เท่านั้น แต่มาตรวจพบว่าขาหลังซ้ายก็มีปัญหาจึงตัดสินใจใส่เผือกไปพร้อมกันเพื่อลดอาการบวมและอักเสบ เพราะพิจารณาแล้วว่าหากปล่อยไว้จะต้องทำการใส่เฝือกในที่สุดเช่นกัน ซึ่งหลังจากนี้อีกประมาณ 2 อาทิตย์ทางทีมสัตวแพทย์ก็จะต้องใส่เฝือกครั้งที่สองและรอดูอาการของลูกช้างต่อไป คาดว่าน่าจะเป็นไปด้วยดีเพราะตอนนี้ลูกช้างมีอาการดีขึ้นไม่มีสัญญาณว่าจะเกิดปัญหาใดๆ การดื่มนมยังเป็นปกติ มีความกระตือรือร้นสนใจสิ่งแวดล้อมดี
ส่วนแนวทางการรักษาในขั้นตอนต่อไปนั้น ทางทีมสัตวแพทย์จะทำการรักษาในขั้นตอนนี้ให้ดีและให้ลูกช้างฟื้นตัวโดยเร็วที่สุด จากนั้นจะต้องพิจารณาร่วมกันว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร เพื่อหาแนวทางที่ดีที่สุด ซึ่งหากเป็นไปได้อยากที่จะให้ลูกช้างตัวนี้กลับเข้าสู่ป่าโดยเร็วที่สุด เบื้องต้นในระหว่างการดูแลให้ลูกช้างแข็งแรงสมบูรณ์และมีความพร้อม อาจจะต้องมีการโครงการ “แม่รับ” หรือหาแม่ช้างบุญธรรม มาดูแลสอนสัญชาติญาณและให้นมตามธรรมชาติ เพราะจะทำให้ลูกช้างได้รับสารอาหารและภูมิคุ้มกันที่ดีกว่านมผงที่ให้ในตอนนี้ ซึ่งหากแข็งแรงดีแล้วทางกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชจะได้พิจารณาในขั้นตอนต่อไป