xs
xsm
sm
md
lg

“ลูกเป็ดผจญภัย” ละครเวทีเพื่อการศึกษาเด็กพิการทางการเห็น @ โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคใต้ สุราษฎร์ธานี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภูมิภาค - กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้สนับสนุน “การผลิตสื่อสร้างสรรค์ที่เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม เป็นสื่อที่สามารถพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ของเด็กพิการทางการมองเห็นและสามารถต่อยอดเป็นสื่อการเรียนการสอนเพื่อสร้างการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน”


วันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน 2566 ที่หอประชุม โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี น.ส.ชลลดา ชนะศรีรัตนกุล พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานพิธีเปิด “ละครเวทีเพื่อการศึกษาสำหรับเด็กพิการทางการเห็น” ภายใต้โครงการจินตนาการเสรี สื่อละครสร้างสรรค์เพื่อเด็กพิการทางการเห็น โดยมี นางมาลิณี วรปรีชาชนม์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนตาบอดภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี น.ส.เพชรรัตน์ มณีนุษย์ หัวหน้าโครงการกล่าวต้อนรับ และรายงานวัตถุประสงค์ของการดำเนินโครงการ น.ส.มนิดา ลิ่มนิจสรกุล คณะทำงานติดตามและประเมินผลโครงการหรือกิจกรรมตามสัญญา ให้ทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์ประจำปี 2566 นางสุนิตา คงวิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี เจ้าหน้าที่และนักเรียนโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมกิจกรรม

การดำเนินโครงการในครั้งนี้ น.ส.เพชรรัตน์ มณีนุษย์ ศิษย์เก่าคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาการละคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้รับทุนและหัวหน้าโครงการ มีจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ “การผลิตสื่อสร้างสรรค์ที่เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม เป็นสื่อที่สามารถพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ของเด็กพิการทางการมองเห็น และสามารถต่อยอดเป็นสื่อการเรียนการสอนเพื่อสร้างการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน” โดยผู้จัดทำโครงการได้ออกแบบสื่อสร้างสรรค์แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ (1) สื่อการแสดงสดในรูปแบบละครเวทีที่เน้นการมีประสบการณ์ร่วม (Immersive Theatre) และ (2) สื่อละครเสียงและวิดีโอการเรียนการสอนเพื่อเป็นเครื่องมือให้ครูและผู้ปกครองสามารถนำไปพัฒนาเด็กพิการทางการเห็นได้ด้วยเองที่บ้านและที่โรงเรียน




การออกแบบการแสดงละครสำหรับเด็กพิการทางการเห็น มีที่มาจากเด็กพิการทางการเห็น จำเป็นที่จะต้องมีการเรียนรู้แบบมีประสบการณ์ร่วม เพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจและการตีความสภาพแวดล้อมต่างๆ รอบตัวได้ง่ายขึ้น ผู้กำกับละครเรื่องนี้จึงออกแบบให้เด็กพิการทางการเห็นมีส่วนร่วมในการแสดง สามารถจินตนาการไปกับการสมมติบทบาทเป็นตัวละครต่างๆ เพื่อพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวและการเรียนรู้ทักษะชีวิต ส่งเสริมให้เกิดความมั่นใจในการใช้ชีวิตในสังคมเพิ่มมากขึ้น และหลังจากนั้นจึงได้สรุปองค์ความรู้เป็นคลิปสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบวิดีโอเพื่อใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ครู ผู้ดูแล และผู้ปกครองสามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นกิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการและทักษะการเคลื่อนไหวของเด็กพิการทางการเห็นที่บ้านหรือที่โรงเรียนได้เอง โดยใช้สื่อละครสร้างสรรค์ พัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวของเด็กให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น




นอกจากจุดมุ่งหมายสำคัญของโครงการนี้จะสร้างสื่อที่มีคุณภาพเพื่อเด็กพิการทางการเห็นแล้ว การออกแบบสื่อวิดีโอคู่มือเป็นสิ่งที่ได้คำนึงให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม สามารถเป็นสื่อการเรียนการสอนที่ครู ผู้ดูแล และผู้ปกครองสามารถใช้สื่อนี้เพื่อพัฒนาเด็กได้ทุกคน สามารถขยายเป็นสื่อการเรียนรู้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ส่งต่อความรู้ได้ไม่จำกัด อีกทั้งเพื่อใช้เป็นต้นแบบ (Guideline) ในด้านการพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวของเด็กได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ ในด้านผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์เชิงชุมชนและสังคมนั้น จะทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตผ่านการเสริมสร้างทักษะของเด็กพิการทางการเห็นได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้เกิดการสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม ในด้านนโยบาย ข้อมูลและแนวทางที่ได้จากโครงการนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำมาใช้กำหนดเป็นนโยบายในการพัฒนากิจกรรมเพื่อเด็กพิการทางการเห็นและเด็กผู้มีความต้องการพิเศษกลุ่มอื่นๆ อีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น