xs
xsm
sm
md
lg

เปิดปมนักรบแรงงาน-พี่น้องชาติพันธุ์ชาวเชียงราย แห่เสี่ยงทิ้งบ้านขายแรงอิสราเอล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงราย - ยากจน-หนี้-อยากมีบ้านรถ-ปลดระวางที่ดินบนภูเขา..ญาติพี่น้อง/ลูกเมีย-นักรบแรงงาน-พี่น้องชาติพันธุ์ชาวเชียงราย เปิดใจเสี่ยงจากบ้านไปขายแรงอิสราเอลมากอันดับ 2 ของประเทศ



สงครามยิว-ฮามาส ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ 7 ต.ค. 66 เป็นต้นมาส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยในอิสราเอลที่มีมากถึงเกือบ 30,000 ชีวิต ตลอดจนครอบครัว-ญาติพี่น้องที่เฝ้ารออยู่ทางบ้านอย่างเลี่ยงไม่พ้น ซึ่งในจำนวนนี้เป็นแรงงานชาวเชียงรายมากถึง 2,174 คน มากเป็นอันดับสองของประเทศ รองจากอุดรธานี และส่วนใหญ่เป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นเสาหลักของบ้านกันทั้งสิ้น

ล่าสุดหลังเหตุการณ์รุนแรง จนถึงขณะนี้ (29 ต.ค.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้ประกาศเรียกร้องให้แรงงานไทยเดินทางกลับโดยเร็วที่สุดเนื่องจากสถานการณ์สู้รบในอิสราเอลอาจรุนแรงขึ้น พบว่ามีแรงงานชาวเชียงรายทยอยเดินทางกลับบ้านแล้วกว่า 500 คน แต่ก็มีผู้ที่เสียชีวิต รอยืนยันสถานะ บาดเจ็บ

ขณะที่ญาติและแรงงานหลายรายให้เหตุผลถึงการไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลอย่างหลากหลาย แต่ในภาพรวมแล้วคือเพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวเป็นปัจจัยหลัก


น.ส.อรัชพร แซ่จ๊ะ อายุ 34 ปี ภรรยาของนายดัว แซ่ย่าง อายุ 35 ปี หนึ่งในแรงงานชาวหมู่บ้านป่าสักงาม หมู่ 9 ต.ดงมหาวัน อ.เวียงเชียงรุ้ง กล่าวว่า สามีเป็นเสาหลักของครอบครัวที่คอยเลี้ยงดูตนและลูกๆ อีก 3 คน เมื่อเกือบ 3 ปีก่อนจึงตัดสินใจกู้ยืมเงินเพื่อไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลจนสามารถชดใช้หนี้สินได้แล้ว แต่ยังไม่ทันได้กลับบ้านก็เกิดเหตุการณ์รุนแรงเสียก่อนดังกล่าว

น.ส.สุนทรี แซ่ลี อายุ 28 ปี ชาวหมู่บ้านกิ่วกาญจน์ ต.ริมโขง อ.เชียงของ ภรรยานายกง แซ่เล่า อายุ 26 ปี หนึ่งในแรงงานไทยในอิสราเอลซึ่งปรากฏภาพข่าวว่าถูกกลุ่มฮามาสจับไปเป็นตัวประกัน กล่าวว่า เดิมสามีเป็นชาว อ.แม่ฟ้าหลวง มาอยู่กินกับตนได้ประมาณ 10 ปี อยากสร้างบ้านเป็นของตัวเอง และจะสร้างบ้านให้แม่ที่ จ.เชียงใหม่ด้วย ดังนั้นจึงไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลโดยการแนะนำของเพื่อนคนงานและตรวจสอบข้อมูลทางเฟซบุ๊ก

นายจันทร์ดี แซ่ลี อายุ 35 ปี ชาวบ้านห้วยแล้ง หมู่ 2 ต.ท่าข้าม อ.เวียงแก่น ซึ่งเป็น 1 ใน 15 แรงงานที่เดินทางกลับประเทศไทยเป็นกลุ่มแรก กล่าวว่า ตนไปทำงานได้นานประมาณ 2 ปีครึ่งเพราะมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัวที่มีภรรยาและลูกรวม 4 คน ช่วงที่ทำงานลูกสาวคนโตเสียชีวิต แต่ก็ยังมีลูกอีก 3 คนให้ดูแล โดยเป็นชายอายุ 11 ขวบ ลูกสาวอายุ 5 ปงขวบ และลูกชายคนสุดท้องอายุ 2 ขวบ

นายสุรินทร์ ไทยใหญ่ ชาวบ้านป่าไผ่ หมู่ 4 ต.เมืองพาน อ.พาน แรงงานอีกคนที่กลับประเทศไทยแล้ว กล่าวว่า เพิ่งเดินทางไปทำงานที่อิสราเอลได้เพียง 4 เดือน เพราะต้องเลี้ยงดูครอบครัว ขณะที่นายจ้างอิสราเอลให้ค่าจ้างเดือนละ 5,000-6,000 เชเกล หรือประมาณ 40,000-50,000 บาทตามสกุลเงินไทย รวมทั้งคิดว่าจุดที่ทำงานห่างจากฉนวนกาซา 35 กิโลเมตรจึงน่าจะปลอดภัย แต่เหตุการณ์วันที่ 7 ต.ค.ได้พบเห็นการยิงต่อสู้กันจึงขอเดินทางกลับประเทศ แม้นายจ้างจะเสนอเพิ่มค่าจ้างเป็นร่วม 100,000 บาทก็ตาม

นายเอกชัย บุญสาม อายุ 38 ปี ชาว ต.รอบเวียง อ.เมืองเชียงราย แรงงานที่ยังไม่ยอมเดินทางกลับประเทศไทย กล่าวผ่านวิดีโอคอลจากประเทศอิสราเอลว่าเพิ่งมาทำงานในอิสราเอลได้ประมาณ 7 เดือน สาเหตุเพราะยังมีหนี้สินให้ต้องชดใช้และมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัวที่มีภรรยาและลูก 2 คน โดยทำงานในฟาร์มไก่ไข่ได้รับค่าจ้างเดือนละ 50,000 บาท ก็เพียงพอที่จะส่งกลับมาใช้หนี้และเลี้ยงดูครอบครัว หากกลับบ้านก็คงไม่มีรายได้แบบนี้ หรือหากจะย้อนกลับไปทำงานอีกก็ต้องมีค่าใช้จ่ายมาก


ด้านอาจารย์สืบสกุล กิจนุกร นักวิชาการและผู้ประสานงานศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ จ.เชียงราย ได้สรุปถึงเหตุผลที่แรงงานชาวเชียงรายไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลว่า ในอดีตแรงงานชาว จ.เชียงรายไปทำงานในต่างประเทศเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ทั้งซาอุดีอาระเบีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ฯลฯ และเมื่อไม่กี่ปีก่อนคือประเทศเกาหลีใต้และอิสราเอล แต่เดิมมีเพียงคนไทยพื้นราบเท่านั้น ต่อมาได้มีพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงก็พากันไปทำงานเพิ่มเติมมากขึ้นตามมา

ภาพรวมคาดว่าการที่แรงงานไปทำงานกันมากเพราะไม่มีงานในท้องถิ่นรองรับหรือมีแต่ก็ไม่คุ้มค่าเหนื่อย ประกอบกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากอาศัยอยู่ในพื้นที่สูง ซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิหรือมีอยู่น้อยทำให้ไม่สามารถสร้างอรรถประโยชน์จากที่ดินได้มากนัก จึงพยายามออกไปหางานทำในต่างประเทศที่ได้ผลคุ้มค่ากว่า

นอกจากนี้ ในอดีตการจะไปทำงานที่ต่างประเทศอาจต้องใช้หลักทรัพย์ เช่น โฉนดที่ดิน ฯลฯ ไปค้ำประกันซึ่งทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ไม่มีโอกาสมากนัก แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาภาครัฐและเอกชนมีการส่งเสริมการไปทำงานต่างประเทศ รวมทั้งมีทางเลือกอื่นๆ ที่ทำให้แรงงานไม่ต้องใช้โฉนดที่ดินไปค้ำประกันเสมอไป จึงทำให้มีทั้งคนไทยพื้นราบและพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์พากันไปทำงานในต่างประเทศโดยเฉพาะอิสราเอลเป็นจำนวนมากดังกล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น