กาญจนบุรี - เจ้าหน้าที่กองการยาง ลุยตรวจยางพาราบริษัทดังชายแดนกาญจน์ ป้องกันนำยางนอกเข้ามา ส่วนตัวแทนผู้ประกอบการเตรียมยื่นหนังสือถึง รมว.เกษตร 29 ต.ค.นี้ ให้มีการดูแลเกษตรกรชาวสวนยางด้วย
วันนี้ (26 ต.ค.) นายเพิก เลิศวังพง คณะทำงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของนายธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการบริหารจัดการยางพารา โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “แนะนำให้สารภาพ หลักฐานครบมาก ทั้งต้นทางปลายทาง หน่วยงานต่างๆ จะเสริมเข้าไป รัฐมนตรีเกษตรให้เกียรติจะลงพื้นที่เองด้วยครับงานนี้”
ซึ่งจากการตรวจสอบที่มาของข้อความในเฟซบุ๊ก พบว่า เมื่อวันที่ 24 ต.ค.66 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กองการยาง จากส่วนกลาง นำโดยนายวีระชัย ชุณหสุวรรณ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการกองการยาง กรมวิชาการการเกษตร พร้อมทีมงานได้ทำการตรวจสอบรถพ่วง 22 ล้อ ยี่ห้อฮีโน่ สีขาว หมายเลขทะเบียนตัวแม่ 71-1289 เพชรบุรี ตัวลูก 71-1288 เพชรบุรี ที่จุดตรวจร่วมสามแยกทองผาภูมิ หมู่ 1 ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ขณะขับมาจากทางด้านอำเภอสังขละบุรี มุ่งหน้าตัวจังหวัดกาญจนบุรี มีนายกมล ผลไพบูลย์พานิชย์ เป็นคนขับ
จากการตรวจสอบพบว่า รถพ่วงคันดังกล่าวบรรทุกยางพารามาเต็มคันรถ น้ำหนักรวม 29 ตัน โดยนายกมล คนขับไม่สามารถนำเอกสารสำคัญประเภทการซื้อขายมาแสดงได้ เจ้าหน้าที่จึงทำการอายัดเอาไว้ตรวจสอบที่มาของยางพาราทั้งหมด เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นยางพาราที่ลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งนายกมล คนขับรถพ่วงให้การต่อเจ้าหน้าที่ว่าเจ้าของบริษัท จำกัด ฐิติพงศ การยาง กาญจนบุรี ซึ่งตั้งอยู่หมู่ 7 ต.หนองลู อ.สังขละบุรี ให้นำยางพาราทั้งหมดไปส่งที่ อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช
ขณะที่วันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมานั้น เจ้าหน้าที่กองการยาง ได้เดินทางไปตรวจสอบยางพาราที่มีอยู่ภายในบริษัท จำกัดฐิติพงศ การยาง กาญจนบุรี เขที่ 259/8 บ้านใหม่พัฒนา หมู่ 7 ต.หนองลู อ.สังขละบุรี โดยมีนายฐิติพงศ์ สุวรรณคุ้ม เจ้าของบริษัทรอต้อนรับและชี้แจง มีนายรพี ชำนาญเรือ ตัวแทนประชาชนผู้ปลูกยาพาราอำเภอสังขละบุรี อยู่ด้วย
นายฐิติพงศ์ สุวรรณคุ้ม เจ้าของบริษัทจำกัด ฐิติพงศ์การยาง ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ได้รับซื้อยางจากเกษตรกรแล้วไม่สามารถนำไปจำหน่ายได้จึงเกิดปัญหาความเดือดร้อนมากเพราะไม่มีทุนหมุนเวียนมากพอ ยางที่ถูกอายัดมีประมาณ 300 ตัน และยังมียางแผ่นอีกจำนวนหนึ่ง มีทั้งยางเก่าที่ตกค้างบางส่วนช่วงนี้จะต้องเร่งระบายสินค้าออกไป เพราะอยู่ในช่วงการผลิต และคิดว่าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้น่าจะเป็นการโดนกลั่นแกล้ง และขอฝากไปถึงรัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ฝากให้ช่วยดูแลเกษตรกรสวนยางพารา และผู้ประกอบการยางพาราชาวอำเภอสังขละบุรีด้วย
ด้านนายรพี ชำนาญเรือ ผู้ประสานงาน และตัวแทนกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา กล่าวว่า วันที่ 24 ต.ค.ตนได้รับการประสานจากกลุ่มผู้ประกอบการรับซื้อยางพาราที่ถูกจับกุมที่ด่านอำเภอทองผาภูมิ เมื่อได้รับการประสานตนจึงมาช่วยเหลือและตรวจสอบว่าการตรวจอายัดยางพาราทั้งหมดว่าเป็นเช่นไร มีความถูกต้องหรือไม่
ระหว่างตรวจสอบได้รับแจ้งจากทางกลุ่มรับซื้อยางอีกว่า เวลานี้ได้มีกลุ่มเจ้าหน้าที่อีกกลุ่มหนึ่งเข้าไปตรวจสอบในโรงงานในอำเภอสังขละบุรี โดยมีการอายัดยางพาราเอาไว้ทั้งหมด โดยเจ้าหน้าที่ชุดตรวจสอบแจ้งกับเจ้าของบริษัทว่า สืบเนื่องจากมีการตรวจยึดรถบรรทุกที่ด่านอำเภอทองผาภูมิ จึงได้มีการมาตรวจสอบที่โรงงานต้นทาง ซึ่งผู้ประกอบการต้องการความชัดเจนว่าการเข้ามาตรวจอายัดนั้นมีอะไรหรือไม่
หลังจากได้รับแจ้งตนจึงประสานไปทางนายอำเภอสังขละบุรี ช่วยส่งเจ้าหน้าที่มาเป็นสักขีพยานในการตรวจสอบด้วย การตรวจสอบครั้งนี้ตนคาดว่าน่าจะเป็นการมาสร้างการรับรู้ขั้นตอนของการรับซื้อหรือขายยางพารา ให้ถูกต้องตามกฎระเบียบของหน่วยงานราชการ
ต้องยอมรับว่าอำเภอสังขละบุรี มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน หน่วยงานราชการจึงต้องออกมาเข้มงวด เพราะเกรงว่าอาจจะมีการลักลอบนำยางพาราจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แล้วมาทำลายราคายางพาราในประเทศได้
ซึ่งการที่เจ้าหน้าที่มาตรวจสอบเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องเอาความจริงมาพูดกันว่าวิถีชาวบ้าน กับกลไกจะต้องปฏิบัติแบบใดให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง แล้วหลังจากนี้ตนจะทำหนังสือทั้งหมดยื่นไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะเดินทางลงมาตรวจเยี่ยมพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ในวันที่ 29 ต.ค.นี้ รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นายอำเภอสังขละบุรี และนายพนม โพธิ์แก้ว ส.ส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย เขต 5 ด้วย